เอสเอ็มอีภาคเศรษฐกิจชีวภาพ

เอสเอ็มอีภาคเศรษฐกิจชีวภาพ

ส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจชีวภาพได้แก่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรหรือการแปรรูปผลิตผลจากการเกษตรเพื่อให้สามารถนำไปสู่ผู้บริโภคได้ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้

โดยที่การเกษตร ถือได้ว่าเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการเกษตรจากทำเลที่ตั้งของประเทศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชแทบทุกชนิด และการที่ไม่ค่อยเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติที่รุนแรงจนทำให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรบ่อยครั้งนัก

ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ จริงค่อนข้างเหมาะสำหรับการนำมาพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการมุ่งสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวที่เน้นการรักษาผลผลิตทางธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตผลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง

ธุรกิจการเกษตรและธุรกิจต่อเนื่อง จึงถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่ไปได้ด้วยดีกับแนวโน้มของการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบัน และยังเป็นธุรกิจที่มีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนี้

การพัฒนาจากธุรกิจที่มีแนวคิดแบบดั้งเดิม มาเป็นธุรกิจที่เข้ากับแนวโน้มสมัยใหม่อาจทำได้ไม่ยาก หากเจ้าของหรือผู้บริหารของภาคธุรกิจการเกษตรหรือธุรกิจชีวภาพ จะให้ความสนใจในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

แนวคิดแรก ให้พยายามก้าวเข้าสู่การเป็น “กรีน เอสเอ็มอี” โดยมองหาแนวคิดใหม่ในการปรับธุรกิจเดิมโดยนำประเด็นสำคัญสำหรับการทำธุรกิจที่แสดงการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงที่มีแหล่งกำเนิดมาจากน้ำมันดิบ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดใช้น้ำ ลดการผลิตของเสีย ไม่ทิ้งของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

แนวทางเหล่านี้ อาจทำได้ในทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ โดยเปลี่ยนจากวัตถุดิบที่ไม่เป็นมิตรกับทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วจะหมดไปจากโลก การขนส่งสินค้าและวัตถุดิบด้วยวิธีประหยัดเชื้อเพลิงและพลังงานให้มากที่สุด เช่น จัดเส้นทางที่สั้นที่สุดหรือใช้เวลาในการเดินทางน้อยที่สุด การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดผลิตภาพสูงสุด การขายและการตลาดที่ให้ข้อมูลและความรู้เรื่องรักษ์โลกไปในตัว และการคำนึงถือวิธีการกำจัดผลิตภัณฑ์เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วได้อย่างปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม ฯลฯ เป็นต้น

แนวคิดต่อมา ได้แก่ การมองหาโอกาสในการสร้าง “นวัตกรรมสีเขียว” ให้แก่กรรมวิธีการผลิต หรือประโยชน์ใช้สอยใหม่ๆ ให้แก่ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมการผลิต นวัตกรรมการบริการ นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ นวัตกรรมการตลาด ตลอดจนถึงการสร้างนวัตกรรมในการทำงานภายในของบริษัท

ทั้งนี้ โดยต้องมีเป้าหมายเรื่องของการลดผลกระทบเชิงลบที่จะมีต่อธรรมชาติและมนุษย์โดยรวมเป็นหลัก

แนวคิดสุดท้าย ก็คือการเข้าถึงความเป็นเศรษฐกิจชีวภาพในเชิงลึก ด้วยการให้ความสำคัญกับการรักษา “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และนำมาผนวกเข้ากับกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของธุรกิจ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีนี้ คือ เรื่องของปลาหมอคางดำ ที่สร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำในประเทศไทยในระดับรุนแรง ภายใต้กิจกรรมทางธุรกิจของตนเอง

การคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ จะมีประเด็นสำคัญที่ธุรกิจต้องให้ความสนใจ คือ เรื่องการอนุรักษ์ให้คงอยู่ และเรื่องของการฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมที่สมบูรณ์

แม้ว่า คำว่า “เศรษฐกิจชีวภาพ” จะดูเป็นคำหรูและอยู่ห่างไกลจากธุรกิจเอสเอ็มอี แต่โดยความจริงแล้ว เอสเอ็มอีที่อยู่ภาคเกษตร รวมถึงธุรกิจที่ต่อเนื่องจากการทำเกษตรกรรม ล้วนแต่จะสามารถนำ แนวคิดใหม่ๆ มาพัฒนาให้ธุรกิจภาคการเกษตรดั้งเดิม

ให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา “เศรษฐกิจชีวภาพ” ของประเทศไทย ก็เป็นได้!!??!!