ความเป็นไปได้และทางรอดค้าปลีกไทย ปี 2566

ความเป็นไปได้และทางรอดค้าปลีกไทย ปี 2566

ธุรกิจค้าปลีกไทยผ่านมรสุมใหญ่ การระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ การเดินทางท่องเที่ยวหยุดชะงัก เศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัวหนัก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างแสนสาหัส

หากเปรียบธุรกิจค้าปลีกไทยเป็นดั่งเรือสำเภาที่นำสินค้าและบริการสู่มือผู้บริโภค ปีที่ผ่านมาได้ผ่านมรสุมใหญ่ คือ การระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ งดการท่องเที่ยว มาด้วยความอึด! อย่างยากเย็นแสนสาหัส มากน้อย ตามขนาดของเรือสำเภาที่ขนสินค้ามากน้อยแต่ละลำ ล่มบ้างแล่นบ้างตามสภาพ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 เรือสำเภาทั้งน้อย-ใหญ่ เหล่านี้ ต้องเคลื่อนตัวต่อไป และยังต้องเผชิญทั้งแรงลมต้าน (ความท้าทาย) จำนวนมาก และ แรงลมหนุน (ปัจจัยสนับสนุน) ที่ดูเหมือนจะมีไม่มากนัก 

เรือสำเภาค้าปลีกค้าส่งน้อย-ใหญ่ จะแล่นผ่านไปได้อย่างรอดปลอดภัย คงต้องอยู่ที่ไต้ก๋งเรือหรือผู้บังคับบัญชาเรือมีวิสัยทัศน์ และใช้ความรู้ประสบการณ์ผ่านแรงลมต้าน รู้จักใช้ประโยชน์จากแรงลมหนุน นำพานาวาแล่นผ่านปี 2566 ได้อย่างปลอดภัย มั่นคงและยั่งยืน

ภาพค้าปลีกและบริการโดยรวมปี 2565

ภาพค้าปลีกและบริการโดยรวมปี 2565 เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และอานิสงส์จากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ นักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มกลับมา รวมถึงนักท่องเที่ยวคนไทยที่อัดอั้นจากโควิดมา 2 ปี ก็เริ่มเดินทางท่องเที่ยวกันก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น 

แต่การฟื้นตัวของภาคค้าปลีกและบริการ พบว่า เป็นการฟื้นตัวแบบกราฟรูปตัว K หรือที่เรียกว่า “K-Shaped” ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวที่ขาดสมดุล กล่าวสรุปโดยรวม ปีที่ผ่านมาส่งสัญญาณบวก แต่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยงอยู่เป็นระยะ

ค้าปลีกไทยภายใต้กระแสลมปี 2566

จากผลการสำรวจดัชนี RSI ภาคธุรกิจค้าปลีกและบริการเดือน ธ.ค.2565 พบว่า ปี 2566 สดใสขึ้นเล็กน้อยแต่ก็มีความไม่แน่นอนสูง ภาคการค้าปลีกค้าส่งไทยจะเติบโตในแบบไม่เสมดุลและไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากยังต้องเผชิญกับ “แรงลมต้าน” อย่างน้อย 5 ลูก กระแสลมต้านทั้ง 5 ลูกนี้ คาดว่าจะมาเยือนไทยเร็วกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งประกอบด้วย

1. เงินเฟ้อไม่ลด ดอกเบี้ยก็จะยังเพิ่มสูง ซึ่งมีแนวโน้มจะยังคงสูงต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ปัญหาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาจจะมีการปรับราคาสูงขึ้นอีก นอกเหนือจากสินค้าราคาแพง สินค้าบางชนิดก็อาจจะขาดแคลนอีกด้วย

2. ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง-ตัวฉุดการบริโภค ปัจจุบัน ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 89.3% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ระดับ 79.8% นอกจากนี้ ยังพบว่าครัวเรือนไทยออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นาน

3. ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงต่อไป ส่งผลให้ต้องขึ้นค่า Ft ทำให้ค่าไฟพุ่งเป็น 5.69 บาท/หน่วย กระทบหนักต่อ ต้นทุนราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และการขนส่ง คาดการณ์ว่าอาจต้องมีปรับราคาสินค้าขึ้น 9-12% เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ก็ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรงที่กำลังจะฟื้นตัวอ่อนแอลงไปอีก

4. ผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 อาจมีแนวโน้มจะกลับมาแพร่ระบาดหนักอีกรอบ จากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ล่าสุดทางการจีนประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การเดินทางเข้า-ออก ประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด

5. ค่าแรงแพง-แรงงานขาด  คำมั่นสัญญาจากพรรคการเมืองต่างๆ เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนทำงานและเงินเดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรีที่มีการนำเสนอให้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด อาจจะนำไปสู่ “ความคาดหวัง” ที่เกินเลยความเป็นจริง ในขณะที่แรงงานขาดหายไปจากระบบการจ้างงานเดิมกว่า 30% ก็ยังไม่ได้รับเยียวยาแก้ไข

ส่วน “แรงลมหนุน” ที่ประจักษ์ชัดและพอคาดการณ์ได้ก็มีราว 3-4 ลูก ประกอบด้วย

การจับจ่าย-ท่องเที่ยวภายใน จาก “มาตรการช้อปดีมีคืน” ที่มากระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ที่มีอยู่ราว 8-10 ล้านคน

การเลือกตั้งทั่วไป ที่คาดว่าน่าจะมีขึ้นในไตรมาส 2 ของปี 2566 กิจกรรมการใช้จ่ายที่มากระตุ้นในช่วงของการหาเสียง คาดว่าน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนหลายแสนล้านบาท ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกของปีได้

การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากที่จีนประกาศผ่อนคลายมาตรการ COVID ZERO คาดการณ์ว่าน่าจะมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจีนจะทยอยเข้ามาไทย เริ่มต้นชัดเจนในเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. เมื่อรัฐบาลจีนอนุญาตให้ชาวจีนออกเที่ยวนอกประเทศได้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนประเทศไทยถึง 30 ล้านคน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ถึงเดือนคาดการณ์เพียง 18-22 ล้านคน

ทิศทางรัฐบาลใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง คงต้องมาลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการมากน้อยต่อไป สารพัดมาตรการของรัฐบาลปัจจุบันที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิดระบาดจะยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ หรือ มีมาครการใหม่ๆ เกิดขึ้นแทน

ค้าปลีกไทย...ความเป็นไปได้ปี 2566

ปี 2566 นี้ เป็นปีที่ผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ รวมถึงเหล่าพ่อค้าคนทำงานทุกคนมองและวิเคราะห์ตรงกันว่า จะเป็นปีที่การเติบโตภาคค้าปลีกและบริการจะเป็นแบบกราฟรูปตัว K หรือที่เรียกว่า “K-Shaped” ชัดเจนมากขึ้น คือเป็นรูปแบบการฟื้นตัวที่ขาดสมดุล ทั้งในมิติประเภทร้านค้าปลีกและบริการ และในมิติด้านภูมิศาสตร์ภูมิประเทศ

ประเภทของร้านค้าที่ฟื้นตัวชัดเจนโดดเด่น (K ขาขึ้น) ก็มี ห้างสรรพสินค้า-แฟชั่นความงาม-ไลฟ์สไตล์ สุขภาพและความงาม ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อในจังหวัดท่องเที่ยว รวมถึงภาคบริการอย่าง ภัตตาคาร ร้านอาหารซึ่งจะโตตามกระแสการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวและ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค 

ส่วนประเภทร้านค้าที่ไม่ฟื้นตัวหรือทรงตัว (K ขาลง) อย่างไฮเปอร์มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยว ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคเป็นกลุ่มฐานกลางลงล่าง กำลังซื้อยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง และยังคงต้องพึ่งมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก

ในมิติด้านภูมิศาสตร์ภูมิประเทศ ส่วนที่ฟื้นตัวได้ชัดเจน (K ขาขึ้น) ก็จะอยู่ในจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวสูง อาทิ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภูเก็ต เชียงใหม่ เขตเศรษฐกิจ EEC ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นต้น 

ส่วนที่ไม่ฟื้นตัวหรือทรงตัว (K ขาลง) ส่วนใหญ่ก็เป็นจังหวัดที่รายได้จากภาคเกษตรกรรมค่อนข้างสูง มีรายได้ไม่แน่นอน อาทิ จังหวัดในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คาดว่า ยอดขายค้าปลีกค้าส่งและบริการปี 2566 จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังอยู่บนความท้าทายรอบด้าน สอดคล้องไปกับทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ในปี 2566 คาดว่า ตลาดค้าปลีกค้าส่งและบริการอาจขยายตัวราว 2.8-6.6% (YoY) ตามรูปทรงของ K shape ที่ขยายตัวแบบไม่สมดุล ส่วนที่อยู่บนทิศทาง K ขาขึ้นอาจจะขยายตัวได้ถึง 6.6 % ในขณะที่อยู่บน K ขาลงอาจจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.8%

ทิศทางและแนวโน้มค้าปลีกไทย 2566 ข้างต้น เป็นโจทย์สำคัญสำหรับไต้กงเรือหรือผู้บังคับบัญชาเรือที่ต้องวางแผนเพื่อนำเรือผ่านแรงลมต้านที่เป็นความท้าทาย และรู้จักใช้ประโยชน์จากแรงลมหนุนส่งให้เรือสำเภาลำน้อย-ใหญ่ เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

เทคโนโลยีและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ทางรอดค้าปลีกไทยในอนาคต

ผู้บริหารค้าปลีกต้องถอดรหัสการทำธุรกิจให้เร็วขึ้น วางวิชั่นแล้วต้องลงมือปฏิบัติเลย และต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะอนาคต 3 ปีข้างหน้า เราอาจมองไม่เห็นภาพเดิมอีกแล้ว เรื่องของเทคโนโลยีและความยั่งยืน จะกลายมาเป็นวิสัยทัศน์สำคัญของภาคค้าปลีกค้าส่งและบริการ ในการสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ

Digitalization ทุกธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันกับการค้าในรูปแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เนื่องจากตลาดค้าปลีกค้าส่งและบริการในปัจจุบันและต่อๆไป จะเป็นตลาดของผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สินค้าและบริการมีการหมุนเวียนเร็วขึ้น SPEED จึงเป็นคำตอบการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ดีมานด์ความรวดเร็ว

Collaboration Business Model การหาพันธมิตรร่วมมือกันทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจที่นับวันจะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม การร่วมมือช่วยเหลือและพึ่งพากันเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงและผลกำไรของธุรกิจระหว่างกันซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจโดยรวม

BCG Economy เทรนด์ของธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักรับรู้และปฏิบัติรวมถึงวางเป้าหมายในการทำธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาโลกร้อน ซึ่งจะส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

ทิศทาง Retail Technology

“Smart & Automation” อัตโนมัติและอัจฉริยะมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ ตู้ขายของอัตโนมัติ เช่น เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้ซื้ออาหาร ตู้ขายอาหารสัตว์ สารพัดตู้อัตโนมัติ เป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ดีมาก ขายของได้ 24 ชั่วโมง Smart Shopping Cart รถเข็นสินค้าอัจฉริยะ ประกอบด้วยเครื่องมือในการสแกนบาร์โค้ด หรือ คิวอาร์โค้ด ที่แคชเชียร์ใช้กัน ตรวจสอบราคา สแกนดูข้อมูลสินค้าจนถึง Face gesture recognition การรับรู้ตัวตนผ่านการสแกนใบหน้า Real-Time customer tracking and analytics ระบบติดตามการเคลื่อนไหวลูกค้าเพื่อจะได้รู้ว่าทำเลในร้านค้าตรงไหนฮอตฮิตตรงไหนผีหลอกล้อง

“Mobile engagement” เชื่อมต่อทุกสิ่งบนมือถือ หาข้อมูล จนถึง ชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตหรือกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิก E-Wallet Automation Beacon checkout การชำระค่าสินค้าอัตโนมัติโดยไม่ต้องผ่านเคาน์เตอร์แคชเชียร์

“Technology Metaverse” เมื่อลูกค้าไม่มาหน้าร้าน ก็ไปหาลูกค้าที่บ้าน เทคโนโลยี Virtual Makeup เริ่มมีให้เห็นกันอย่างแพร่หลายในร้านแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำ, Smart mirror กระจกอัจฉริยะให้ภาพการลองเสื้อผ้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายเสมือนจริงราวกับได้ลองเอง รองเท้า ที่ลูกค้าสามารถทดลองแบบเสมือนจริงผ่านแอป AI จากที่บ้าน เพิ่มโอกาสตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

“Technology AI” จะช่วยค้าปลีกประเมินความต้องการของตลาด ยอดขาย  ให้ “แม่นยำ” ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การหาสินค้า ประเภท หมวดหมู่มาเติมในร้าน เป็นอีกหัวใจสำคัญค้าขาย หากใช้เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ ประมวลผล จะทำให้รู้ว่าสินค้าไหนจะขายดี หรือขายราคาเท่าไหร่ ช่วยบริหารสต๊อก โดยเฉพาะสินค้าสด เพื่อป้องกันการสูญเสีย หรือไม่เพียงพอต่อการขาย สิ่งเหล่านี้ เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ป้ายราคา ESL เป็นการเปลี่ยนจากป้ายกระดาษสู่ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Shelf Label) หลากหลายขนาด รวมกว่า 8,000 ชิ้น ซึ่งควบคุมการสั่งงานผ่านส่วนกลาง เชื่อมโยงข้อมูลกับสินค้า รายละเอียด โปรโมชั่น ตำแหน่งจัดวาง ช่วยลดปัญหาราคาไม่ตรงป้ายและลดขยะจากป้ายกระดาษ ทั้งยังสามารถเปลี่ยนราคาสินค้าได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 40 วินาที

“Technology Cloud” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจกลุ่มค้าปลีก ลดค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานไอที กระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ให้ประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีที่สุดกับลูกค้าผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถเสนอสินค้า และบริการผ่านออนไลน์ได้อย่างน่าเชื่อถือและไม่ขาดตอน