ดอกเบี้ยลิ่ว เงินเฟ้อลง เศรษฐกิจร่วง?

ดอกเบี้ยลิ่ว เงินเฟ้อลง เศรษฐกิจร่วง?

นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐรวมถึงตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว (10 ปี) ของสหรัฐ สอดคล้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงไปมาก

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มเห็นการย่อตัวลงของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นในสหรัฐแล้ัว จากความกังวลรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC minute) เดือน ก.ค. ที่ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทำให้ดัชนีตลาดหลักเริ่มปรับตัวลดลง แต่ตลาดเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และไทย ยังขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี สหรัฐ เริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์หนักและเบาลดลงมากขึ้นจากความกังวลเศรษฐกิจ

 ภาพทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า แม้เงินเฟ้อจะเข้าสู่จุดสูงสุดและกำลังลดลง (โดยเฉพาะในสหรัฐ) แต่ยังเป็นความเสี่ยงสูงในหลายประเทศ ดังนั้น เพื่อจะได้เห็นภาพว่าเงินเฟ้อทั่วโลกลดลงหรือไม่ เราจึงได้ทำการศึกษาผ่าน Global Inflation Heat map Analysis โดยติดตามเงินเฟ้อใน 43 ประเทศ ว่ามีทิศทางเช่นไร พบว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. เริ่มลดลง

โดยค่าเฉลี่ยอย่างง่ายพบว่าลดลงจาก 15.2% ในเดือน มิ.ย. สู่ 11.5% ในเดือน ก.ค. และหากพิจารณาในรายประเทศ พบว่า 12 ใน 43 ประเทศเริ่มเห็นเงินเฟ้อเดือนล่าสุด (ก.ค. หรือล่าสุดในแต่ละประเทศ) ลดลง เช่นกัน บ่งชี้ถึงสภาวะเงินเฟ้อ Peak แล้วในระดับหนึ่ง

 เมื่อเงินเฟ้อเริ่มลดลงแล้ว คำถามต่อมา คือสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเป็นเช่นไร จากการศึกษา Global PMI (Purchasing Manager Index) Analysis บ่งชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกล่าสุดส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนขึ้นในภาพใหญ่ โดยในฝั่งภาคการผลิต PMI ของประเทศในกลุ่มยุโรปหดตัวชัดเจน (ต่ำกว่า 50 จุด)

 

ยกเว้นรัสเซีย ขณะที่ PMI สหรัฐและเอเชียเหนือชะลอตัว แต่ส่วนใหญ่ยังเหนือ 50 จุด ส่วนในฝั่งภาคบริการ PMI ส่วนใหญ่เริ่มชะลอตัวลง โดยในยุโรปหดตัว สหรัฐยังขยายตัวได้ ขณะที่ภาคบริการจีนฟื้นตัวขึ้นจากการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุดชะลอตัวลงมาก และเมื่อพิจารณาทั้งโลกผ่าน Global PMI Heatmap พบว่าชะลอลงต่อเนื่องทั้งการผลิตและบริการ ทำให้ตัวเลขรวม (Composite) ชะลอลงและเข้าใกล้สถานการณ์หดตัวมากขึ้น

 ภาพของ PMI ส่งสัญญาณเช่นเดียวกับดัชนีเศรษฐกิจจริงที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอชัดเจนขึ้นเช่นกัน โดยในจีนตัวเลขล่าสุด เช่น ยอดค้าปลีก และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ชะลอตัวมากจนทางการต้องลดดอกเบี้ย ในยุโรปเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัวในหลายประเทศขณะที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นต่อเนื่้อง ในฝั่งสหรัฐ ยอดค้าปลีกเริ่มส่งสัญญาณไม่ขยายตัว

 ส่วนตัวเลขที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ตัวเลขการนำเข้าของจีนหดตัวในตลาดหลัก (เช่น ยุโรปและสหรัฐ) ทำให้เศรษฐกิจในประเทศหลักจะชะลอตัวมากขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่ธนาคารกลางบางแห่งเริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว นี่ยังไม่รวมความเสี่ยงล่าสุดที่จะกระทบเศรษฐกิจโลก อันได้แก่ภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงกระทบต่อการขนส่งทั่วโลก

ภาวะดังกล่าวเกิดจากสภาวะโลกที่ร้อนขึ้นมาก โดยใน 6 เดือนแรกของปีนี้ โลกร้อนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตามสถิติขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (US National Oceanic and Atmospheric Administration) ด้วยภาวะดังกล่าวทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำขนาดใหญ่ในจีน เช่น แยงซี สหรัฐ เช่น ซาคราเมนโต โคโลราโด และมิสซูรี่่ และยุโรป เช่น ไรน์ โพ และดานูป อยู่ในระดับต่ำถึงกว่า 90% จากระดับปกติ

สภาพเช่นนี้ทำให้การผลิตไฟฟ้าในจีนขาดแคลน เนื่องจากมีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสำหรับเครื่องปรับอากาศ ขณะที่ปริมาณน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้าขาดแคลน ทำให้การผลิตในโรงงานหลักแถบเมืองเสฉวน เช่น โตโยต้า CATL และ Amperex รวมถึงโรงงานผลิตเซลแสงอาทิตย์ต่าง ๆ ต้องยุติการผลิตชั่วคราว ขณะที่บ้านเรือนที่พักอาศัยและสถานประกอบการต่างๆ ต้องลดการใช้เครื่องปรับอากาศลง

 ขณะที่ในสหรัฐ ทำให้รัฐบาลในมลรัฐตอนกลางของประเทศ เช่น อริโซน่าและเนวาดาต้องลดการจัดสรรปันส่วนน้ำลงกว่า 21% ขณะที่ในการขนส่งสินค้าทางเรือในยุโรป เช่น เยอรมนี ที่พึ่งพาการขนส่งจากแม่น้ำไรน์เป็นหลักนั้น ต้องลดปริมาณการส่งลง ทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้นและล่าช้า ขณะที่ในทวีปอื่นๆ ทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิตาลี และแอฟริกาใต้ พบกับวิกฤตภัยแล้งและไฟป่า และโดยภาพรวมแล้ว บริษัทประกัน Swiss Re ระบุว่าความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศกระทบต่อบริษัทแล้วกว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 22% จากค่าเฉลี่ย 10 ปี

 แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ในฝั่งของตลาดการเงินความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยยังคงเป็นประเด็นหลัก อันเป็นผลจาก Fed Minute ที่ยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ประธานธนาคารกลางสาขาต่าง ๆ ยังคงส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ย 0. 75% ทำให้ความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในการประชุมเดือน พ.ย. ที่อาจขึ้นต่อที่ 0.50% อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าด้วยภาพเศรษฐกิจที่จะชะลอต่อเนื่อง ทำให้ Fed ไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงได้อีกมากนัก

 ย้อนกลับมายังประเทศไทย ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปีนี้ ชะลอตัวกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้มาก ขณะที่ตัวเลขที่น่าสนใจอีกประเด็นได้แก่สถานะของธนาคารพาณิชย์ไทยที่รับทราบได้จากผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2565 ที่แม้ยังแข็งแกร่งแต่เริ่มสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจ

 โดยเรามองว่า แม้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว (จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น) แต่หากพิจารณาแล้วจะเป็น K-shaped recovery หรือการฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียม เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากยังมีปัญหา (เห็นจากสินเชื่อที่ต้องเริ่มระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือ Special Mention Loan ของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น) ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น บ่งชี้ความต้องการสภาพคล่องของบุคคลเริ่มเพิ่มขึ้น (ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการปรับโครงสร้างการเงินรายบุคคล)

ดังนั้น เราจึงยังคงมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่น่าจะรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมปลายเดือน ก.ย. เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากปรับตัวได้อย่างต่อเนื่องและไม่เป็นการกดดันสภาพคล่องในระบบจนเกินไป

ภาพทั้งหมด บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจกำลังเริ่มชะลอตัว ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มลดลง แต่ดอกเบี้ยจะยังคงขึ้นอยู่ เพื่อกดดันเงินเฟ้อต่อไป ซึ่งสภาวะเช่นนี้ อาจทำให้การลงทุนในระยะต่อไปไม่สดใสนัก

แม้เงินเฟ้ออาจเริ่มลดลง แต่ดอกเบี้ยจะยังขึ้นอยู่ พร้อม ๆ กับเศรษฐกิจที่จะยิ่งชะลอลง นักธุรกิจและนักลงทุน โปรดระมัดระวัง