กระบวนการนวัตกรรมในองค์กรธุรกิจและเอสเอ็มอี

กระบวนการนวัตกรรมในองค์กรธุรกิจและเอสเอ็มอี

เมื่อเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

ด้วยการใช้นวัตกรรมได้อย่างเป็นกิจลักษณะแล้ว กระบวนการต่อเนื่องที่จะนำให้ธุรกิจก้าวเดินไปสู่ทิศทางของการเป็นองค์กรนวัตกรรม ที่จะต้องดำเนินควบคู่กันไปในทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับกลยุทธ์ ระดับปฏิบัติการ และระดับการสนับสนุนด้านทรัพยากร

ในระดับกลยุทธ์ เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารระดับสูงจะต้องเน้นไปที่การกำหนดวิสัยทัศน์นวัตกรรมให้กับธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความชัดเจนในการสื่อสารไปยังบุคลากรทุกระดับชั้น และการปลูกฝังค่านิยมของนวัตกรรมให้เกิดขึ้น จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร

ในระดับการสนับสนุน ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องให้ความสำคัญในการระบุทรัพยากรที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ฯลฯ ที่จำเป็นต้องใช้ในการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กรธุรกิจ ให้สามารถเกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของตลาดและสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจได้ตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของธุรกิจ

ส่วนใน ระดับปฏิบัติการ จะเป็นหน้าที่ของบุคลากรภายในของธุรกิจที่จะต้อง “ลงมือทำ” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นไปตามทิศทางเชิงกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมขององค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่องมือสำคัญที่จำเป็นในกระบวนการปฏิบัติการด้านนวัตกรรมของธุรกิจ ได้แก่ “กระบวนการนวัตกรรม” ที่เลือกนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกลยุทธ์ธุรกิจและกลยุทธ์การตลาด

กระบวนการนวัตกรรม หมายถึง วิธีการที่ธุรกิจนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงความรู้ความชำนาญภายในของธุรกิจ เช่น ความสามารถในการทำวิจัยพัฒนา ความสามารถในการสรรสร้างความคิดใหม่ๆ ของ บุคลากร พนักงาน และหัวหน้างาน ความสามารถในการผลิตและการให้บริการ ฯลฯ ให้เข้ากันหรือสอดคล้องกับ ความต้องการของตลาดหรือลูกค้า ที่ต้องการได้สินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ทันสมัย และยังหาซื้อไม่ได้ในตลาดปัจจุบัน

และคำว่า “กระบวนการ” ยังสื่อถึงความเป็นวิธีการที่มีขั้นตอนชัดเจน มีความเป็นระบบ ที่สามารถติดตามควบคุมและปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

กระบวนการนวัตกรรมของธุรกิจ นอกจากจะมีองค์ประกอบที่เกิดจากวิธีการทำงานของบุคลากรหรือหน่วยงานภายในของธุรกิจแล้ว ยังต้องเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจอีกด้วย

เช่น ต้องมีการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และเป้าประสงค์ด้านนวัตกรรมของธุรกิจ ไปยังธุรกิจหรือหน่วยงานอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทุกภาคส่วน เพื่อให้ร่วมพัฒนาปรับปรุงจนเกิดการบรรลุวัตถุประสงค์ของการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นในด้าน การเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร การปรับเปลี่ยนวิธีหรือขั้นตอนการทำธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน ฯลฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ กระบวนการนวัตกรรมของธุรกิจ ยังจะต้องมีขอบข่ายที่เชื่อมโยงไปยังองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในรูปแบบของ เครือข่ายพันธมิตรนวัตกรรม” เช่น การร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานส่งเสริมด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ หน่วยงานส่งเสริมด้านนวัตกรรม ทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชนในระดับธุรกิจและระดับอุตสาหกรรม

เพื่อใช้ประโยชน์จากการร่วมมือดังกล่าว ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมร่วมกัน

แนวทางในการบริหารจัดการ เครือข่ายพันธมิตรด้านนวัตกรรม ที่จะประสบความสำเร็จ ธุรกิจจะต้องมีแนวทาง กำหนดตัวพันธมิตร วัตถุประสงค์ และรูปแบบของความร่วมมือ ไว้อย่างชัดเจนและเป็นกิจจะลักษณะ รวมถึงการประเมินความเป็นไปได้ของความร่วมมือและผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน

จะเห็นได้ว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงธุรกิจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ จะมีปัจจัยองค์ประกอบอื่นๆ มากมาย รวมถึงขั้นตอนและแลยุทธวิธีการดำเนินการที่ละเอียดอ่อน เพื่อสร้างความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างลงตัว

ผลลัพธ์และความสำเร็จของการสร้างนวัตกรรมในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำโฆษณาเพื่อหวังผลทางการตลาดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น !!??!!!