วิถีแก้วิกฤติ

วิถีแก้วิกฤติ

ช่วงล็อกดาวน์อาจเป็นเวลาที่ได้พัฒนาตัวเองอีกครั้งด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

มาตรการคุมเข้มของรัฐบาลในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุดคงสร้างความสับสนกังวลใจให้ผู้อ่านหลายๆ ท่าน เพราะนับตั้งแต่เกิดการระบาดเมื่อปลายปี 2019 จนถึงปัจจุบันผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินกว่าที่หลายคนจะรับไหว

ยิ่งเกิดการกลายพันธุ์ก็ยิ่งทำให้อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง การรับข่าวสารที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจึงมักทำให้เราหวาดวิตก จนหลายคนเกิดอาการซึมเศร้าจนขาดเรี่ยวแรงจะใช้ชีวิตตามปกติ

การใช้ชีวิตอยู่ในภาวะเช่นนี้ จำเป็นที่เราจะต้องใช้สติและวิจารณญาณมากกว่าปกติ ดังนั้นประการแรกที่เราต้องทำคือการเรียนรู้ความเป็นไปที่เกิดขึ้นอย่างสงบ ไม่ตื่นตระหนก ไม่หวาดวิตกไปกับข่าวเชิงลบ จนทำให้เราเสียความเป็นตัวของตัวเอง

การใช้ความคิดและสติทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทีละน้อยๆ จะทำให้เราเกิดปัญญาที่จะแยกแยะความเป็นจริงและข่าวลือที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในชีวิต เพราะเมื่อเราขาดสมาธิเรามักจะใช้เวลาไปกับการเสพข่าวเชิงลบมากจนอาจถึง 40% ของเวลาในแต่ละวัน

ผลที่เกิดขึ้นก็คือความกระวนกระวาย สับสน และไม่พอใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนเราไม่มีสติสัมปชัญญะที่ดีพอจะใช้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากเราใส่ใจกับงานและมีสมาธิอยู่เสมอเราก็จะตระหนักได้ว่าอะไรสำคัญและจำเป็น รวมถึงเรียงลำดับก่อนหลังได้อย่างเหมาะสม

เมื่อเรายอมรับความเป็นไปที่เกิดขึ้น และตระหนักในความรุนแรงของสถานการณ์จึงระมัดระวังและป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ติดโรค และทำอย่างเดียวกันกับสมาชิกทุกคนในบ้าน เราก็จะค่อยๆ ผ่อนคลาย และหาทางใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ช่วงล็อกดาวน์จึงอาจเป็นเวลาที่เราได้พัฒนาตัวเองอีกครั้งด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใหม่หรืองานอดิเรกใหม่ๆ เป็นการผ่อนคลายและสร้างสมาธิให้กับตัวเองแทนที่จะเปิดรับแต่ข่าวเชิงลบตลอดเวลาซึ่งไม่ทำให้อะไรดีขึ้น

ประการที่สองคือต้องรู้จักพึงพอใจกับตัวเอง อย่ามองแต่ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงานหรือชีวิตส่วนตัว เพราะในภาวะเช่นนี้เราไม่มีทางเลือกมากนัก การประคับประคองสถานการณ์ให้ดีที่สุดแล้วสร้างความรู้สึกภูมิใจกับตัวเองจึงอาจเป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดในเวลานี้

แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้ทำให้ตัวเองหรือทำให้ผู้อื่นก็เป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักว่าเราทำได้ดีที่สุดแล้วในภาวะยากลำบากเช่นนี้ เพียงแค่นี้ก็อาจทำให้เรานอนหลับ และมีกำลังใจมากพอที่จะใช้ชีวิตในวันพรุ่งนี้ให้ดีขึ้นได้อีก

ประการที่สาม เชื่อใน “พลังของการให้” เพราะในยามนี้การสร้างความสุขที่ดีที่สุดคือการทำให้คนอื่นมีความสุขเช่นเดียวกับเรา หากเรายังมีกำลังมากพอจะช่วยเหลือผู้อื่น เวลานี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะได้ส่งต่อความสุขนี้ให้กับผู้อื่นด้วยการให้

เพราะแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน บางคนที่โชคร้ายอาจต้องพ่ายแพ้แก่โควิดจนต้องสูญเสียชีวิตของตัวเองลง บางคนสูญเสียงาน เสียทรัพย์สินเงินทองที่สะสมมา ดังนั้นหากใครที่ยังมีชีวิต ยังมีงาน มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลครอบครัว “การให้” จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นอย่างที่เรานึกไม่ถึง

ไม่ว่าจะเป็นคนยากลำบาก ผู้ป่วย ไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังทุ่มเทกายใจในการทำหน้าที่เพื่อรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์อยู่ในเวลานี้ ล้วนต้องการขวัญ กำลังใจ และทรัพยากรอีกมากเพื่อทำให้เขาดำรงชีวิตต่อไปได้

การให้ จึงเป็นความสุขที่เราสร้างได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยเฉพาะในสถานการณ์เช่นนี้ที่สังคมกำลังสับสนวุ่นวายอยู่ในขณะนี้