อเมริกาแพ้สงครามอัฟกานิสถาน

อเมริกาแพ้สงครามอัฟกานิสถาน

ชัยชนะของตาลีบัน จะขยายขอบเขตความน่ากลัวไปถึงไหนยังตอบไม่ได้ แต่บ้านเราก็คงต้องเตรียมการฟื้นคืนชีพของบรรดานักก่อการร้ายคลั่งลัทธิเอาไว้บ้าง

เกือบกึ่งศตวรรษที่กองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเวลานี้ ตะลุยไปหกทวีปเจ็ดคาบสมุทรทำศึกไม่เคยแพ้ แต่ในเวลานี้ต้องทำใจแล้วว่าพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นทางการให้แก่ศัตรูเก่าที่รบกันมานาน 20 ปี กลางสมรภูมิปราบเซียนอย่างอัฟกานิสถาน แม้ว่าจะร่นถอยทีละสเต็ปเพื่อไม่ให้เสียเชิง แต่ชื่อของกองทัพอเมริกาก็ต้องไปต่อหลังชื่อของโซเวียตและอังกฤษที่ในที่สุดก็ต้องถอยทัพจากดินแดนต้องสาปแห่งนี้ เหลือไว้แต่อาวุธและกำลังใจให้กองกำลังทหารอัฟกันใต้อาณัติเอาไว้ก่อกรกับตาลีบันผู้แข็งแกร่งเอาเอง 

น่าจะเป็นโศกนาฏกรรมที่น่ากลัวของชนชั้นนำและข้าราชการอัฟกานิสถานต่อไป ชัยชนะของตาลีบันจะขยายขอบเขตความน่ากลัวไปถึงไหนยังตอบไม่ได้ แต่บ้านเราก็คงต้องเตรียมการฟื้นคืนชีพของบรรดานักก่อการร้ายคลั่งลัทธิเอาไว้บ้าง

               อเมริกาพ่ายแพ้สงครามครั้งสุดท้ายก็เมื่อปี 1975 ที่ต้องถอนตัวออกจากเวียดนามใต้อย่างหมดรูป  ปล่อยให้รัฐบาลไซ่ง่อนที่ตนอุ้มชูดูแลล่มสลาย ตกเป็นของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ ประชาชนบ้านแตกสาแหรกขาดที่โชคดีหน่อยก็ลี้ภัยไปอยู่ชาติตะวันตกได้  ที่โชคร้ายก็ลอยลำกลางทะเลเป็น Boat People ตายดาบหน้า ที่ตายดาบนี้เวลาที่เวียดกงเข้ายึดก็เยอะ  

ฝ่ายอเมริกาเลียแผลเวียดนามได้ไม่นาน 45 ปีต่อมาก็รบไปเรื่อย ชนะทุกที่ตั้งแต่ปานามา ยูโกสลาเวียกลายรอบ อิรักสองรอบ แม้แต่อัฟกานิสถานนี่ก็ใช้เวลาแค่เดือนเดียวหลังโดนถล่ม 9/11 ขับไล่รัฐบาลตาลีบันที่ครองอัฟกานิสถานอยู่ช่วงนั้นให้ไปอยู่หลบตามถ้ำ ตามพื้นที่ทุรกันดารรกร้างได้นานร่วม 20 ปี

               แต่นับตั้งแต่อเมริกาทุ่มเททหารเข้าไปรบในอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2001  มีมิตรประเทศเข้าร่วมรบอีกหลายชาติ ที่ไปช่วยรักษาสันติภาพในนามนาโต้ก็มีนับหมื่นนาย  รัฐบาลวอชิงตันกอบกู้อัฟกานิสถานจากชาติที่แตกแยกเพราะสงครามกลางเมืองให้ขึ้นมาดีกว่าเดิมหน่อย 

สร้างกองทัพอัฟกันใหม่ขึ้นมารบกับผู้ก่อการร้าย โดยตนก็รบร่วมด้วยการทั้งลงไปกรำศึกในสนามเองและโจมตีทางอากาศจากปากีสถาน  ช่วงพีคสุด ๆ คือยุคประธานาธิบดี Barack Obama มีทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานกว่า 100,000 นาย และในปี 2011 ก็สังหาร Osama bin Laden ตัวเงื่อนไขที่อเมริกาอ้างเพื่อบุกดินแดนต้องสาปแห่งนี้ลงได้

แต่โอบามาเองนั่นแหล่ะที่เริ่มประกาศแผนถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานโดยอ้างว่าปฏิบัติการสำเร็จแล้ว ทั้งที่ไม่ได้มีความสำเร็จมากมายอะไร เพราะเสถียรภาพในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไม่มีจริง กลุ่มก้อนที่เป็นปรปักษ์กันตั้งแต่สมัยก่อนอเมริกันจะเข้ามาเสียอีกก็สู้รบกัน  ตาลีบันซึ่งก็ไม่รู้กินยาอะไรอะไรถึงแข็งแรงขนาดนี้ก็เอาชนะทหารอัฟกันได้เนือง ๆ แต่ละปีมีทหารรัฐบาลตายถึงปีละเป็นหมื่นนาย การก่อเหตุฆ่าตัวตายหรือถล่มฐานที่มั่นมีบ่อยครั้ง 

เหตุการณ์เหล่านี้เองที่ทำให้เกิดกระแสคนอเมริกันแนวหลังเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกันนำญาติพี่น้องพวกเขากลับบ้านเสียที จะติดหล่มในสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้นไปถึงไหน  กระแสนี้เมื่อปี 2514 ก็เหมือนกับกระแสต่อต้านสงครามเวียดนามเมื่อปี 1974 นั่นแหล่ะ

               รัฐบาลวอชิงตันจึงปฏิบัติตามมติมหาชน ค่อย ๆ ร่นถอย ถอนกำลังแบบซื้อเวลา แต่กองทัพอัฟกันก็เอาดีไม่ได้เสียที  สวนทางกับตาลีบันที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมเสียอีก ตีโต้คืนแล้วยึดได้กว่าครึ่งประเทศแล้ว ในที่สุดอเมริกาต้องยอมเจรจากับตาลีบันเมื่อปี 2018 บรรลุข้อตกลงในอีกสองปีต่อมาว่าจะถอนทหารให้หมดใน 11 ก.ย.2021 ครบรอบ 20 ปี 9/11 แต่ต่อมาคงมีคนทักว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าเฉลิมฉลองอะไร ตอกย้ำความละอายด้วยซ้ำ จึงร่นเวลามาเป็นสิ้นเดือน ส.ค. แต่ในทางปฏิบัติ ทหารอเมริกันเปิดก้นหนีกลับก่อนโดยไม่แจ้งล่วงหน้าหลายฐานทัพเลย รวมทั้งฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ที่สุดที่ Bagram ห่างจากกรุงคาบูลแค่ 25 กม. เมื่อต้นเดือนนี้เอง

               เมื่อปราศจากการสนับสนุนด้านการรบที่เพียงพอของชาติตะวันตก  ทหารอัฟกันก็ยิ่งลำบาก เสียขวัญ รบแตกพ่ายหนีตายไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างทาจิกสถานบ้าง  ยอมจำนนบ้าง ที่โดนยิงตายกลางตลาดแบบโหดร้ายไม่สนกฎการปะทะ (Rule of engagement) สากลก็มี  ทหารตาลีบันก็ได้อาวุธดีๆ เพิ่มขึ้น แล้วจะเชื่อได้ขนาดไหนว่าวันหนึ่งพวกเขาจะไม่บุกยึดกรุงคาบูล จัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้ง บังคับใช้กฎหมายเคร่งจารีตตามใจพวกเขา 

ลักษณะแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อกว่า 20 ปีก่อน   หนังเขย่าขวัญม้วนเดิมกำลังจะย้อนกลับมาอีก โดยอเมริกาจะปกป้องรัฐบาลอัฟกานิสถานปัจจุบันของนาย Ashraf Ghani ด้วยการถือแค่คำสัญญาเท่านั้นที่เคยตกลงกันไว้กับตาลีบันเท่านั้นเหรอ

               ชัยชนะของตาลีบันจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลกว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ นั้นมีทางที่จะสำเร็จ  ไม่ใช่รอวันแพ้ เดิมทีกลุ่ม Al-Qaeda และกลุ่มท้องถิ่นทั่วโลกที่สาบานว่าจะจงรักภักดีต่ออัลกออิดะห์ ก็ยังไม่สูญสลายไป (แม้ว่าช่วงหนึ่งจะเคยถูกขโมยซีนโดยกลุ่ม IS ) มางานนี้คงฮึกเหิมอีก  ที่คงวุ่นก่อนใครคือภายในอัฟกานิสถานเอง รัฐบาลนายอัชราฟกานีจะอยู่ได้กี่เดือนยังเป็นคำถาม  ต่อมาก็น่าจะเกิดความวุ่นวายในปากีสถานที่มีกลุ่มคนเชื้อสายปาทานที่เห็นใจตาลีบานอยู่เยอะ 

การสู้รบมาทางนี้แน่ และคงกระจายไปทั่วเอเชียกลาง เพราะนักรบอัฟกันที่หนีไปตั้งหลักในประเทศเพื่อนบ้านก็น่าจะสู้รบเอาคืนตาลีบัน  อินเดียก็คงต้องรับมือหนักกับพวกหัวรุนแรงต่างศาสนาที่ฮึกเหิมขึ้น  จากนั้นก็เป็นเอเชียอาคเนย์  จากมาเลเซียจรดมินดาเนา  แล้วประเทศไทยอย่างเราจะไม่ได้รับผลกระทบบ้างเชียวหรือ .