เมื่อวัคซีนพลาดเป้ารัฐต้องเร่งกระตุ้นศก.ให้เร็วและมากกว่านี้

เมื่อวัคซีนพลาดเป้ารัฐต้องเร่งกระตุ้นศก.ให้เร็วและมากกว่านี้

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ประเทศไทยคงไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในปีนี้เหมือนที่เคยคาดหวังกัน

 แปลว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ยังมีอยู่ จนกว่าเราจะฉีดวัคซีนได้มากพอ มาตรการล็อกดาวน์รอบนี้จึงอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และการเปิดประเทศในเดือนตุลาคมตามแผนเดิม ไม่น่ามีความเป็นไปได้

ถ้าการจัดการกับการระบาดระลอกนี้ใช้เวลาเกินหนึ่งเดือนนับจากนี้ และมาตรการล็อกดาวน์จำเป็นต้องลากยาวไปตลอดเดือนสิงหาคม เศรษฐกิจไทยมีโอกาสสูงที่จะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งหมายความว่าไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่เศรษฐกิจจะถดถอยในปีนี้ และจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เศรษฐกิจไทยถดถอยติดต่อกันสองปีซ้อน

อย่างที่ทราบกันดี การจัดหาวัคซีนที่ค่อนข้างล่าช้า บวกกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดที่ขาดประสิทธิภาพ คือต้นเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า แต่อีกสาเหตุสำคัญ คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ที่ยังทำน้อยเกินไป ช้าเกินไป และเน้นมาตรการเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ความพยายามรักษาวินัยการคลังไม่ให้หนี้สาธารณะเกินเพดานที่ 60% ต่อ GDP นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ในยามวิกฤตที่กำลังซื้อหดหาย ประชาชนขาดรายได้ และธุรกิจ SME ทยอยล้มละลาย การผ่อนวินัยการคลังเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วที่สุด ควรเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

ความล่าช้าในการใช้เงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คืออีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ได้รับแรงสนับสนุนอย่างทันท่วงที พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการอนุมัติแบบเร่งด่วนจากรัฐสภาไปกว่าหนึ่งปีแล้ว ยังเบิกจ่ายไปเพียง 80% (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม) ส่วน พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ก็แทบยังไม่ได้มีการนำไปใช้

ล่าสุด มาตรการเยียวยา 42,000 ล้านบาท สำหรับการล็อกดาวน์รอบก่อนหน้านี้ เพิ่งได้รับการเห็นชอบ “ในหลักการ” จากคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และคงใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าที่เงินทั้งก้อนนี้จะถูกนำไปใช้  

              ความรอบคอบในการใช้จ่ายของภาครัฐถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในภาวะปัจจุบันที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจได้ดับลงเกือบทั้งหมด การเร่งรัดขั้นตอนการอนุมัติและเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่ยังคงความถูกต้องและความโปร่งใส น่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด

หัวใจสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือมาตรการต้องตรงจุด งบประมาณต้องมากพอ และต้องทำด้วยความรวดเร็ว ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เช่น สหรัฐฯ และ อีกหลายประเทศ ล้วนใช้แนวทางนี้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

ประเทศไทยโชคดีที่มีผู้ประกอบการส่งออกที่เข้มแข็ง จึงช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวมากเกินไป แต่การขยายตัวของการส่งออกเริ่มมีความเสี่ยงที่อาจชะลอตัวลง เนื่องจากแรงงานในภาคการผลิตติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขาดตัวช่วยสำคัญในห้วงเวลาที่จำเป็นที่สุด  

ในช่วงที่เหลือของปี รัฐบาลควรเร่งใช้เงินที่เหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ให้เร็วที่สุด และเร่งอัดฉีดเงินจาก พ.ร.บ. เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน โดยเน้นไปที่มาตรการช่วยเหลือธุรกิจจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง และมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้บริโภค

มองไปข้างหน้า การกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง แม้เราจะฉีดวัคซีนได้ครบ 70% ของประชากรแล้วก็ตาม เพราะภาคการท่องเที่ยวและบริการ น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงจะกลับสู่ภาวะปกติ

รัฐบาลควรดำเนินนโยบายเชิงรุก ด้วยการรีบขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้สูงขึ้น “ชั่วคราว” เป็น 70-75% เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการคลัง และควรวางแผนกู้เงินเพิ่มเติมอีก 800,000 1,000,000 ล้านบาท เพื่อไว้รองรับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ และสำหรับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ถ้าจำเป็น

แน่นอน การเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้เพียงพอคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่การใช้นโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด