8 ความเสี่ยง VUCA ในโลกหลัง COVID-19 (ตอนที่ 2)

8 ความเสี่ยง VUCA ในโลกหลัง COVID-19 (ตอนที่ 2)

บทความที่แล้วได้เขียนถึง 4 ความเสี่ยง VUCA ในโลกหลัง COVID-19 ในบทความนี้จะเขียนถึงอีก 4 ความเสี่ยงที่เหลือ เพื่อให้ทุกท่านเตรียมตัวรับมือ

บทความที่แล้วได้เขียนถึง 4 ความเสี่ยง VUCA ในโลกหลัง COVID-19 อันได้แก่ การระบาดของ COVID สายพันธุ์ใหม่ การตึงตัวทางการเงินการคลังโลก ภาวะฟองสบู่และกฎระเบียบที่จะตึงตัวขึ้นของจีน และ สงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจโลก  ในบทความนี้ จะขออนุญาตเขียนถึงอีก 4 ความเสี่ยงที่เหลือ ดังนี้

 

ความเสี่ยงที่ 5 เศรษฐกิจไทยระยะสั้นหดตัวแรงจากการระบาดรอบใหม่ โดยปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 1-2 ปีนี้มี 3 ปัจจัย ได้แก่ การกลายพันธุ์ของไวรัส การฉีดวัคซีน และการ Lockdown เป็นหลัก

 

ในประเด็นของไวรัส การระบาดของเชื้อสายพันธุ์ Delta สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมากและแข็งแกร่ง ดื้อต่อวัคซีนสูง โดยสามารถเพิ่มสัดส่วนต่อการระบาดทั้งหมดได้ 2 เท่า ทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ นอกจากนั้น การได้รับวัคซีนที่ต่ำกว่าประมาณการเดิม ทำให้ ณ สิ้นปี จำนวนผู้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม จะอยู่ที่ 55-65 ล้านโดส ต่ำกว่าจำนวนประชากรไทยที่ประมาณ 70 ล้านคน

 

ภาพดังกล่าว ทำให้การระบาดของไทยไปใกล้โมเดลของอินเดีย (ที่วัดจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อล้านคน) โดยหากเป็นเช่นนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันอาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2 หมื่นคนภายในต้นเดือน ส.ค. ก่อนลดระดับลงเหลือ 3-4 พันคนในกลางเดือน ก.ย. ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ โอกาสที่จะ Lockdown ในระดับรุนแรงและยืดเยื้อจนถึงกลางเดือน ส.ค. ก็เป็นไปได้สูง

ภาพดังกล่าวจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.-ส.ค. ลดลงมาก และอาจทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วแทบไม่โตเลย และดึงการขยายตัวไตรมาสที่ 4 ลดลง ทำให้ทั้งปีอาจขยายตัวเหลือประมาณ 1% จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 2% ได้ แม้การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นจากทิศทางเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจแล้วก็ตาม

 

นอกจากนั้น หากไทยไม่สามารถคุมการระบาดได้ จนเข้าไปใกล้โมเดลการระบาดของสหรัฐช่วงเดือน พ.ย. 2020 ที่จะทำให้การระบาดลากยาวไปถึงเดือน พ.ย. และทำให้เศรษฐกิจทั้งปีหดตัวได้

 

ความเสี่ยงที่ 6 เศรษฐกิจไทยระยะยาวตกอยู่ในหล่มกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap: MIT) โดยในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยก็ตกอยู่ภายใต้ MIT (วัดจากรายได้ต่อหัวที่อยู่ในระดับ 6,000 - 12,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี) อยู่แล้ว โดยรายได้ต่อหัวของไทยในปี 2020 อยู่ที่ 7,190 ดอลลาร์ต่อปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประมาณ 6 พันดอลลาร์ใน 8 ปี ก่อน ซึ่งต่างจากจีนที่ขึ้นมาอยู่ที่ 10,500 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน จากระดับเดียวกับไทยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

 

ในระยะต่อไป การเติบโตของรายได้ต่อหัวของไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนประชากรที่เริ่มลดลง ขณะที่รายได้ที่เกิดขึ้นจากผลตอบแทนของสินทรัพย์ทุนก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยไม่สามารถได้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้มากนัก (เห็นได้จากอัตรา 5G Participation rate ยังอยู่ในระดับต่ำมาก) ทำให้เป็นไปได้ที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลงจากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 3.3% เหลือ 2.7% ใน 5 ปีข้างหน้าและ 1.7% ใน 15 ปีข้างหน้า

 

ความเสี่ยงที่ 7 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (IR4) และเทคโนโลยี 5G นำมาสู่ความเสี่ยงด้านความมั่นคงไซเบอร์และกฎระเบียบภาครัฐที่รุนแรงขึ้น

 

ในปี 2020 จำนวนผู้เข้าถึงอินเตอร์เนทและเทคโนโลยีได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจน้อมรับเทคโนโลยีต่าง ๆ เร็วขึ้นจาก 5 ปี เหลือประมาณ 8 สัปดาห์ โดยเฉพาะการค้าออนไลน์ (e-commerce) ธุรกรรมแบบไม่ใช้เงินสด (Cashless transaction) การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ (Telemedicine)

 

แต่ IR4 ไม่ได้มีเพียงแค่ระบบ Social Network และ Mobile Platform ที่เป็นระบบนิเวศหลักของ e-commerce และ Fintech ต่าง ๆ เท่านั้น ยังประกอบด้วยเทคโนโลยีอื่น ๆ อีก เช่น AI, Cloud Computing, 3D Printing, Internet of Things และ Virtual Reality ด้วย ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีต่าง ๆ เปรียบเหมือนดาบสองคม เพราะนอกจากมีประโยชน์และ ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ ประเด็นความปลอดภัยด้านข้อมูล รวมถึงการหลอกลวงต่าง ๆ โดยอาชญกรรมต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้นเมื่อธุรกรรมและฐานข้อมูลต่าง ๆ ถูกนำขึ้นมาอยู่ในระบบไซเบอร์ เช่น การเข้าโจมตีไซเบอร์และเรียกค่าไถ่ท่อส่งน้ำมัน Colonial pipeline ในสหรัฐในหลายเดือนก่อน หรือแม้กระทั่งการปิดตัวลงอย่างกะทันหันของตลาดแลกเปลี่ยน Cryptocurrency สำคัญ ๆ หลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา

 

ภาพต่าง ๆ ทำให้ทางการมีแนวโน้มที่จะคุมเข้มในเรื่องกฎระเบียบด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ Fintech เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตัลในหลายประเทศทั่วโลก และการที่ทางการจีนยกระดับการคุมเข้มในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น Ant financial, Meituan และ Didi เป็นต้น

 

ความเสี่ยงที่ 8 ความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง

 

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและคาดไม่ถึงอย่างใหญ่หลวง ทั้งการเสื่อมถอยของระบบโลกาภิวัฒน์ การกลับมาของสงครามเย็น การระบาดของโรคร้ายแรงสายพันธุ์ใหม่ วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 100 ปี เป็นต้น

 

ด้วยภาพเหล่านี้ทำให้เราควรเตรียมพร้อมรับมือต่อวิกฤตอื่น ๆ ที่อาจเข้ามาภายใน 5 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่แปรปรวนสุดขั้วอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน อุบัติเหตุการกระทบกระทั่งกันของมหาอำนาจอันอาจนำไปสู่สงครามครั้งใหม่ การระบาดของโรคใหม่ รวมถึงความเสี่ยงจากอวกาศนอกโลก เป็นต้น

 

COVID ยกใหม่ การเงินตึงตัว ฟองสบู่จีนแตก สงครามเย็น เศรษฐกิจไทยระยะสั้นหดตัวแรง ระยะยาวตกกับดัก การโจมตีทางไซเบอร์ กฎระเบียบด้านเทคฯ ที่เข้มงวดขึ้น และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่คาดเดาไม่ได้ เหล่านี้คือ 8 ความเสี่ยงใหม่ของโลก VUCA

 

ผู้บริหาร นักธุรกิจ นักลงทุน และทุกท่าน โปรดเตรียมตัวรับมือ.