Sustainable Tech นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

Sustainable Tech นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

ความไม่ปกติของสถานการณ์โลกที่ประดังเข้ามาไม่หยุด เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ทำให้ความตื่นตัวเรื่อง Impact Investment เพิ่มสูงในปีที่ผ่านมา

             ข้อมูลจาก Global Impact Investing Network (GIIN) ระบุว่าเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ในปี 2563 เติบโตขึ้นจากห้าแสนล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปแตะเจ็ดแสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขการเติบโตที่เกินความคาดหมายภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤต Covid-19  ล่าสุดมีอย่างน้อยสามกองทุนใหญ่ระดับ 300-500 ล้านเหรียญสหรัฐฯเช่น G2 Venture Partners, BMW iVentures, และ Footprint Coalition ที่ประกาศจะนำเงินลงทุนไปลงในธุรกิจเทคโนโลยีที่พัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

           ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการลงทุนขององค์กรขนาดใหญ่ภายใต้ ESG Fund นั่นคือการลงทุนในบริษัทที่เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกนัยหนึ่งก็คือบริษัทที่มีกิจกรรมหรือกระบวนการบริหารจัดการที่ลดผลลบต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือสังคม ความแตกต่างระหว่าง ESG Investment กับ Impact Investing ก็คือการลงทุนที่เป็น Impact Investment จะเป็นการลงทุนในบริษัทที่ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท คือการทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวกทางด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม  ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงในธุรกิจหรือเทคโนโลยี เพื่อความยั่งยืนของโลกและความเท่าเทียมทางสังคม

ขอบเขตของการลงทุนในธุรกิจที่เป็น Sustainable Tech หรือ Impact Companies ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เกิดความยั่งยืนในด้านอื่นๆด้วย เช่น 1) ด้านการเกษตรและอาหาร 2) พลังงานและการขนส่ง 3) การศึกษาและมีเดีย 4) การแพทย์และการดูแลสุขภาพ 5) เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง 6) การบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

             ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการลงทุนในธุรกิจที่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทางสังคม (Social Impact) เติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 39% โดยกลุ่มใหญ่ที่มีเม็ดเงินลงทุนมากที่สุดเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนทางด้านการศึกษาและสุขภาพ

           สามบริษัทที่น่าสนใจคือ Yuanfudao บริษัทที่ให้บริการการศึกษาทางไกลจากประเทศจีนที่ได้รับการลงทุนระดับ Series G มีมูลค่าบริษัทเลยหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ  Amwell บริษัทที่ทำให้คนเข้าถึงบริการการแพทย์แบบทางไกล (Telehealth) ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยการเข้า IPO ปีที่แล้วและมีมูลค่าหุ้นเติบโตสูงขึ้นถึง 42% ทำให้มูลค่าบริษัทแตะ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ Everywell สตาร์ทอัพที่ให้บริการชุดตรวจสุขภาพแบบ Home Test ที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคได้ที่บ้านด้วยราคาที่เข้าถึงได้ ล่าสุดมีมูลค่าบริษัทเติบโตถึงกว่า  2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

               เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกำลังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการบริการที่จำเป็นทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ หรือกระทั่งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน  ความเร่งด่วนของภาครัฐและภาคเอกชนในวันนี้ก็คือ การเร่งรัดผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะส่งเสริมสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน Sustainable Tech ทำให้คนกลุ่มนี้มีแรงจูงใจมากพอในการขับเคลื่อนธุรกิจที่จะนำไปสู่การแก้ Pain Points ระดับประเทศได้.