การลงทุนสีเขียว ESGคือค่านิยมของคนรุ่นใหม่

การลงทุนสีเขียว ESGคือค่านิยมของคนรุ่นใหม่

ขณะที่ทั่วโลกกำลังอดทนอดกลั้น ช่วยกันประคับประคอง เอาตัวรอด มนุษย์กำลังถูกเตือนให้เห็นคิดลึกคิดไกล โรคระบาดครั้งนี้

ย้ำให้เรารู้ว่าต้องมีความสามัคคี ใช้เวลาช่วงที่โลกหยุดชะงัก ตั้งสติลงทุนระยะยาว ดูตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ ใช้กำลังซื้อ ผลักดันนโยบายของผู้นำโลกครับ 

สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงบ้านเมืองเป็นการใหญ่ ด้วยนโยบายงบประมาณสีเขียว ซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค ให้เงินกู้เพื่อกระตุ้นโครงการสีเขียว และ net zero (เติมคาร์บอนเท่าไหร่ ต้องเอาออกเท่านั้น)  

งบประมาณ 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ ที่กำลังจะดันให้ผ่านรัฐสภานั้น ดูเหมือนเป็นจำนวนมาก แต่ที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะจะมีออกมาอีกหลายรอบ (การประเมินของผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม The American Society of Civil Engineers คือ 6 ล้านล้านดอลลาร์) เพื่อซ่อมแซมและพัฒนา ถนน สะพาน ท่าเรือ การคมนาคมสาธารณะ สนามบิน ระบบการขนส่งทางน้ำ การส่งกระแสไฟฟ้า โรงเรียน การกำจัดขยะต่างๆ เป็นต้น เงินดอลลาร์สหรัฐจะสะพัด ผลประโยชน์จะกระทบเป็นลูกโซ่ทั่วโลกมาจนถึงไทย 

บทบาทของภาครัฐเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะบริษัทเอกชนที่มีความตั้งใจจริงเรื่องการทำธุรกิจพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม จะทำสำเร็จไม่ได้หากไม่มีนโยบายชัดเจนและความสนับสนุนโดยเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ความตั้งใจแน่วแน่และการประกาศจุดยืนชัดเจนของผู้นำอเมริกา ทำให้เมืองและรัฐต่างๆ รวมทั้งบริษัทเอกชนซึ่งมีอิทธิพลมากในระบบเศรษฐกิจอเมริกา ตื่นตัว ถือโอกาสปรับแนวทางให้สอดคล้อง เพื่อจะได้ประโยชน์ในการเข้าถึงเงินจำนวนมากเหล่านี้ 

ในปีที่แล้วเทศบาลและบริษัทเอกชนหลายแห่งในอเมริกา ขายพันธบัตรเพื่อโครงการเขียวกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ปีนี้ถึงเดือนเมษายน ขายพันธบัตรเขียวไปแล้วกว่า 3,500ล้านดอลลาร์คาดว่าถึงสิ้นปีจะขายเกินกว่า 35,000ล้านดอลลาร์ และตัวเลขจากภาคเอกชนน่าจะสูงไม่แพ้กัน 

นโยบายพลังงานของปธน. ไบเดน ตั้งเป้าในการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานสะอาดและไม่มีคาร์บอน 100% ภายในปี ค.ศ. 2035 (ปัจจุบันหากนับนิวเคลียร์ด้วย อเมริกาใช้พลังงานสะอาด 40% อยู่แล้ว)  

พลังงานไฟฟ้าในอเมริกาผลิตโดยภาคเอกชนกว่า 70% Southern Company ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเจ้าของโรงงานไฟฟ้าในรัฐจอร์เจีย ที่ผมอาศัยอยู่ ได้รับทั้งแรงเชียร์และแรงกดดันจากผู้บริโภค ให้หันมาในทิศทางพลังงานสะอาด จึงตอบสนองโดยการขายพันธบัตรเขียวเป็นจำนวน 3,900 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำโรงไฟฟ้ากังหันลม 5 แห่ง และแสงอาทิตย์ 5 แห่ง 

โครงการใหญ่ที่กำลังจะคึกคักมากคือ การเปลี่ยนค่านิยมจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนโดยพลังงานไฟฟ้า (EV) งบประมาณรัฐทุ่มสุดตัวที่ 174,000ล้านดอลลาร์ จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และราคารถยนต์ถูกลง (เตรียมออกกฏหมาย ให้รัฐออกเงินช่วย 7,500 ดอลลาร์ ต่อคัน) และเริ่มติดตั้งจุดพักชาร์จไฟ 500,000 แห่งภายในปี ค.ศ. 2030 

บริษัทใหญ่ เริ่มเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้าเพื่อเสริมนโยบาย ลดต้นทุน และปรับตัวให้สอดคล้องกับค่านิยมใหม่ของผู้บริโภค ความหวังที่จะสร้างสังคมให้ดีขึ้น ทำให้ผู้นำบริษัทหลายกลุ่มเริ่มแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการพิจารณาขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จากเดิม 21% เป็น 28% แม้ว่าขณะนี้สมาชิกส่วนใหญ่ในหอการค้าอเมริกันจะไม่เห็นด้วย แต่แนวโน้มอาจเปลี่ยนได้ เพราะค่านิยมที่กำลังมาแรงมากคือ ESG : Environmental, Social and Corporate Governance การรักษาสิ่งแวดล้อม ความยุติธรรมในสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี  บริษัทใดที่ไม่ปรับตัวมาทางนี้ ก็จะถูกผู้บริโภคตีตัวออกห่าง 

ระยะนี้เราจะเห็นผู้นำทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ออกมาประกาศจุดยืนชัดเจน เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนเพื่ออนาคต ความยั่งยืนของเศรษฐกิจและทรัพยากร โดยเฉพาะการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่พลาดไม่ได้ หากใครหวังที่จะนำองค์กรของตนให้เป็นที่ยอมรับ และพัฒนาก้าวไกล ต้องเข้าใจเรื่อง ESG

ไม่นานมานี้ Bitcoin ถูกตำหนิเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้าสิ้นเปลือง และใช้ไฟฟ้าจากแหล่งที่สกปรก เช่น ถ่านหิน จึงต้องชะงักปรับนโยบายกันยกใหญ่ ราคาร่วง ถูกลงโทษจากผู้บริโภค ซึ่งเริ่มเตือนสติซึ่งกันและกัน และในกรณีของจีน ภาครัฐออกมาประกาศจุดยืนชัดเจน เพื่อควบคุมบริษัทเหล่านี้ ทำให้บริษัทcryptocurrency หลายแห่ง ต้องอพยพข้ามแดนหาบ้านใหม่ และดิ้นรนหาแหล่งพลังงานสะอาด มาทดแทนพลังงานสกปรก (จีนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อยู่ในระดับผู้นำโลก โดยมีปริมาณผลิต ในปีค.ศ. 2019 เท่ากับ 790GW และตั้งเป้าหมายจะเป็นพลังงานสะอาด 100% ภายในปีค.ศ. 2060)  

สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน ฝรั่งเศส และสเปน นับว่าเป็นห้าประเทศยักษ์ใหญ่ที่ทำเรื่องพลังงานไฟฟ้าสะอาดเป็นตัวอย่างของโลก 

Carbon credit กำลังเป็นที่ยอมรับและความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อไปจะเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งต้องมีการซื้อขาย เมื่ออุตสาหกรรมใดปล่อยคาร์บอน ก็ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาทดแทน ทั้งความสมัครใจเพื่อรักษาความศรัทธาของผู้บริโภค และจะมีภาคบังคับซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ โรงงานอุตสาหกรรมหรือสายการบินกำลังจะเตรียมตัวซื้อคาร์บอนเครดิต 

คาดว่าภายในปีค.ศ. 2050 จะมีเงินหมุนเวียนในเรื่องคาร์บอนเครดิตนี้ไม่ต่ำกว่า 100,000ล้านดอลลาร์ ความตื่นตัวในภาคปฏิบัติเรื่องนี้ เริ่มเห็นมากแล้วในบริษัททางยุโรปตะวันตก ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต 20-85 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งมีการประเมินว่าอาจจะขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อตัน ในอีกไม่นาน 

ตัวอย่างใกล้ตัวคือการฟื้นดินโทรมให้เป็นป่า เช่นเจ้าของที่ดินในไทย ทำไร่มันสำปะหลังหรือสับปะรด ซึ่งขาดทุนบ่อยครั้ง หากเปลี่ยนมาเป็นการปลูกป่า ก็จะได้ผลตอบแทนทั้งเศรษฐกิจของป่า เช่นไม้ยืนต้นหรือพืชผักโตเร็วชั่วคราวในระบบสวนผสม บวกกับรายได้ของการขายคาร์บอนเครดิต  

คาร์บอนเครดิตในการปลูกป่า เท่ากับ 2.6 ตันต่อหนึ่งเอเคอร์ x 50 ดอลลาร์ต่อตัน หรือประมาณ 130 ดอลลาร์ต่อเอเคอร์ต่อปี (2.53 ไร่ = 1 เอเคอร์) หมายถึงว่าเราสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 1,540 บาทต่อไร่ต่อปีเป็นต้น ที่ดินเกษตรกรรม 112 ล้านไร่ หากเปลี่ยน 10% เป็นการปลูกป่า จะมีรายได้เข้าประเทศถึงเกือบ 18,000 ล้านบาทต่อปี เรื่องนี้บ้านเราจะเปลี่ยนจากทฤษฎีเป็นภาคปฏิบัติอีกไม่นานครับ 

กระแส ESG มาแรงมาก เป็นค่านิยมที่น่าภูมิใจ คนรุ่นใหม่ตื่นตัวมาก เรามาช่วยกันใช้ความคิดในทางบวกสร้างวิถีชีวิตอิงธรรมชาติมากขึ้น มนุษย์เงินเดือนหรือนักลงทุน อยู่ในเมืองใหญ่พื้นที่จำกัด ลองเปลี่ยนบรรยากาศ พิจารณากระจายความเสี่ยง ผันแปรทรัพยากรที่มีอยู่ในเมืองมาทำเรื่องการปลูกป่า สร้างงานในชนบท สูดอากาศบริสุทธิ์ work from home WFH จากพื้นที่สีเขียวครับ