ตรวจหาเชื้อให้ทั่วถึงกลายมาเป็น “วาระแห่งชาติ”?

ตรวจหาเชื้อให้ทั่วถึงกลายมาเป็น “วาระแห่งชาติ”?

ต้นเดือนที่แล้วการฉีดวัคซีนถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ปรากฏว่ามีวัคซีนมาให้ฉีดไม่เพียงพอ และสายพันธุ์เดลต้าก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

แต่ประเทศไทยตรวจหาเชื้อไม่เพียงพอเพราะให้ใช้เฉพาะ PCR Test จากสถิติพบว่าประเทศไทยตรวจสอบหาเชื้อได้วันละประมาณ 80,000 ราย ในขณะที่ประเทศอังกฤษตรวจสอบหาเชื้อวันละ 1 ล้านราย กล่าวคือสถิติรวมยอดการตรวจสอบหาเชื้อทั้งหมดของไทยเท่ากับ 120,000 ครั้งต่อประชาชน 1 ล้านคน แต่ที่อังกฤษนั้นตรวจสอบหาเชื้อไปแล้ว 3.26 ล้านครั้งต่อประชากร 1 ล้านคน แปลว่าคนไทยประมาณ 12 คนจาก 100 คน ได้ตรวจสอบหาเชื้อ แต่คนอังกฤษเฉลี่ยตรวจสอบหาเชื้อไปแล้วคนละ 3.26 ครั้ง

ในที่สุดประเทศไทยยอมให้ใช้ Rapid Antigen Test ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายที่ประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรปรวมทั้งที่ประเทศสิงคโปร์ แต่เมื่อเริ่มทำการตรวจสอบหาเชื้อเพิ่มมากขึ้นก็พบข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่าจากการทำการตรวจสอบ 100 คนพบคนติดเชื้อประมาณ 10 คนหรือมากกว่า เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยทำการตรวจสอบไม่เพียงพอ เพราะหากตรวจสอบหาเชื้อได้อย่างทั่วถึงควรจะพบเชื้อเพียง 1-2 คนจากการตรวจสอบหาเชื้อ 100 คน ทั้งนี้การตรวจแบบ Rapid Antigen Test นั้นไม่แม่นยำเท่ากับการตรวจแบบ PCR เพราะแบบหลังที่ต้องใช้เวลานานกว่าและมีต้นทุนสูงกว่าก็เพราะมีกระบวนการเพิ่มปริมาณรหัสพันธุกรรมของไวรัสให้เครื่องอ่านและยืนยันการติดเชื้อ ดังนั้น Rapid Antigen Test จึงมีความแม่นยำเพียง 60-80% ในการตรวจพบการติดเชื้อของผู้ที่มีเชื้อไวรัสอยู่ในระบบทางเดินหายใจ

ดังนั้นการระบาดรอบนี้จึงน่าจะรุนแรงมากกว่าตัวเลขที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือที่ประกาศว่ามีผู้ติดเชื้อวันละ 8,000-9,000 คนนั้น น่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าจำนวนดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งการใช้ Rapid Antigen Test อย่างแพร่หลายมากขึ้นนั้นน่าจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นได้มากใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่เราจะสามารถรับรู้ความจริงและขนาดของปัญหาได้อย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น ทั้งนี้จึงได้มีการปลดล็อกเดิมคือไม่บังคับให้ผู้ที่ตรวจสอบเชื้อแล้วพบเชื้อต้องรับผิดชอบหาเตียงและโรงพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อ ดังนั้นกระบวนการ home isolation และ community isolation ที่มีประสิทธิผลจึงน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมากใน 2-3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนต่างๆ เช่นการจัดให้มีการส่งอาหารและของใช้ให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ที่ถูกกักตัว พร้อมกับมาตรการดูแลด้านการแพทย์แบบ Tele medicine

            ผมได้เคยกล่าวย้ำมานานหลายเดือนแล้วว่าการตรวจสอบหาเชื้อมีความจำเป็นอย่างมากควบคู่ไปกับการเร่งหาวัคซีนมาฉีดอย่างเพียงพอ ที่น่าเป็นห่วงคือการเปิดเผยข้อมูลมาในที่สุดว่าวัคซีนหลักของประเทศไทยคือ AstraZeneca นั้นจะส่งมอบได้ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์เอาไว้เดิมคือแทนที่จะได้รับมอบ 61 ล้านโดสภายในปลายปีนี้ ก็จะได้รับมอบประมาณ 5 ล้านโดสต่อเดือน จึงต้องรอถึงเดือยพฤษภาคมของปีหน้าจึงจะครบ 61 ล้านโดส (ข้อมูลจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2021)

 

ที่ผมเป็นห่วงเพราะเห็นข้อมูลของประเทศอังกฤษตั้งแต่ต้นปีนี้พบว่า

  1. อังกฤษเร่งฉีดวัคซีน AstraZeneca และ Pfizer ให้กับประชาชนตั้งแต่ปลายปีที่แล้วพบว่าช่วยลดการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่าได้จากการติดเชื้อรายใหม่วันละ 60,000 คนในเดือนมกราคม 2021 มาเหลือเพียง 2,000 คนต่อวัน ในเดือนพฤษภาคม 2021 เมื่อฉีดวัคซีนให้ประชาชนประมาณ 38% ของประชากร (ปัจจุบันของไทยฉีดไปได้ประมาณ 12% ของประชากร)
  2. แต่เมื่อสายพันธุ์เดลต้าเริ่มเข้ามาระบาดในปลายเดือนเมษายน 2021 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 30,000 คน แม้ว่าอังกฤษจะฉีดวัคซีนไปให้กับประชาชนแล้วมากกว่า 60% ของประชากรทั้งหมด (80% ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 1 โดส)
  3. อังกฤษแนะนำให้คนอายุน้อย ( 50 หรือต่ำกว่า) ฉีดวัคซีนไขว้ (Astra ตามด้วย Pfizer) และยังจะเดินหน้าคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมเป็นต้นไปเพราะมั่นใจว่าแม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จะมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตน้อยมาก ซึ่งตัวเลขปัจจุบันเป็นเช่นนั้นคือเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2021 อังกฤษมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องดูแล (active cases) 663,510 คน (ส่วนใหญ่น่าจะรักษาตัวอยู่ที่บ้านที่อยู่อาศัย) ในขณะที่ประเทศไทยมี active cases เท่ากับ 90,578 คนในวันเดียวกัน แต่ประเทศอังกฤษมีผู้เสียชีวิตวันละเพียง 27 คน โดยเฉลี่ยในช่วง 7 วันที่ผ่านมาต่ำกว่าประเทศไทยที่มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 74 คน (นับจากวันที่ 12 กรกฎาคม 2021)

แปลว่ารัฐบาลไทยน่าจะต้องประกาศล็อกดาวน์ยาวนานกว่า 14 วันอย่างแน่นอนและอาจยืดเยื้อต่อไปอีกเป็น 2-3 เดือนจนกว่าจะมีการฉีดวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงไป แต่จากประสบการณ์ของประเทศอังกฤษนั้นจะเห็นได้ว่าการลดจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้านั้นไม่สามารถทำได้โดยง่าย ดังนั้นรัฐบาลคงจะต้องเตรียมใช้เงินอีกมากในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

แต่ที่สำคัญสำหรับผมคือการล็อกดาวน์ในอนาคตที่อาจเข้มงวดขึ้นนั้นอาแจจะไม่ได้มาจากคำสั่งของรัฐบาลก็ได้ แต่จะมาจากการการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ขยายไปที่ตลาดสดต่างๆและในโรงงานขนาดใหญ่ที่จะต้องหยุดการทำงานและปิดตัวลงชั่วคราว ซึ่งจะกระทบกับการผลิตและจีดีพีในภาพใหญ่รวมถึงภาคการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรของเศรษฐกิจตัวสุดท้ายที่กำลังขับเคลื่อนจีดีพีอยู่ในขณะนี้ ส่วน Phuket Sand Box นั้นคงจะต้องพับเก็บเอาไว้ก่อนโดยปริยายเพราะคงจะมีนักท่องเที่ยวน้อยคนที่ต้องการมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยในสภาวะที่ระบบสาธารณสุขไม่สามารถดูแลความปลอดภัยทางสาธารณสุขของเขาได้ เพราะฝ่ายสาธารณสุขของไทยเองก็ออกมายอมรับว่าปัจจุบันรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่วันละ 8,000-9,000 คนไม่ไหว ต้องกดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงไปให้เหลือ 1,000 คนต่อวันจึงจะสามารถรับมือได้ครับ.