เศรษฐกิจชนกำแพงการเมือง ขับเคลื่อนด้วยเสียงประชาชนทางดิจิทัล

เศรษฐกิจชนกำแพงการเมือง ขับเคลื่อนด้วยเสียงประชาชนทางดิจิทัล

ช่วงที่ผ่านมา ผมเห็นคนรอบตัวทั้งคนทำงาน ทั้งคนค้าขายจำนวนมาก ที่ทุ่มเททำงานสุดชีวิต แต่สุดท้ายติดกำแพงปัญหาเศรษฐกิจ

 ที่เสริมด้วยกำแพงปัญหาการเมืองอีกชั้น จนหลายคนไปต่อไม่ได้ ความพยายามตลอดเวลาหลายปีสูญเปล่า

วันนี้คนไทยทุกคนจึงต้องร่วมใจทำลายกำแพงปัญหาการเมืองให้ได้

จะด้วยเหตุปัจจัยใดก็แล้วแต่ วันนี้คนรอบตัวผมส่วนใหญ่ รู้สึกว่านักการเมืองและทีมผู้บริหารประเทศ ที่เป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูออกจากกำแพงนี้ ไม่ฟังเสียงประชาชนในการหาโซลูชั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้เราได้อย่างตรงจุด เช่น การเลือกซื้อวัคซีนของรัฐบาลในการระบาดระลอกล่าสุด การตรวจโควิดเชิงรุกที่ทำได้ไม่ยากเพื่อคัดแยกปัญหาไม่ให้ลุกลามและประชาชนไม่ต้องเดือดร้อนรับบัตรคิวตั้งแต่เช้ามืดเพื่อได้ตรวจตอนบ่าย การออกนโยบายเปิด-ปิดร้านค้า การเดินทาง และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ได้ดูผลกระทบให้ดีพอจนต้องกลับลำแบบไม่ทันข้ามวัน แต่ผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวกได้เกิดขึ้นไปเรียบร้อย ฯลฯ จนปัญหาใหญ่ล้อมมาประชิดใกล้ตัวพวกเราทุกคนอย่างที่แทบจะหาทางออกไม่ได้แล้ว อยากฝากท่านผู้อ่านลองถามคนรอบตัวสัก 10 คน แล้วเขียนถึงผมสักนิด ว่ามีกี่คนที่รู้สึกเช่นเดียวกันนี้ เพื่อให้ผมได้นำไปประกอบการหาโซลูชั่นต่อนะครับ

จากเหตุปัจจัยดังกล่าว เมื่อประชากรไทยที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีมากถึง  49 ล้านคน (70% ของประชากรไทย) และใช้งานเฉลี่ยถึง 8.4 ชั่วโมงต่อวัน จึงส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหนักขึ้น ๆ ปรากฏว่า ได้ผลครับ! บ่อยครั้งที่รัฐบาลประกาศตอนเช้าพอถูกตะโกนหนักเข้าก็กลับลำตอนเย็น เศรษฐกิจและการเมืองไทยวันนี้จึงมีแนวโน้มขับเคลื่อนด้วยเสียงของประชาชนผ่านช่องทางดิจิทัล!

ในโลกยุคนี้ ถ้ารัฐบาลใดรู้จักตั้งใจฟังประชาชนแบบมี “Empathy คงไม่บริหารงานจนพัง จนขัดใจคนได้มากขนาดนี้

เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดช่องทางการสื่อสารที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย เป็น Real-time และ 2-way มากขึ้น โดยเฉพาะการแสดงความเห็นจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเราทุกคน และยังทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางตรง และสร้างความร่วมมือระหว่างกันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการระดมความคิด (Brainstorm) การคำนวณผลกระทบบวก-ลบเพื่อวางนโยบาย วัดผลของการทำตามนโยบายที่ไปถึงปลายทางคือประชาชน กำหนดทิศทางการตัดสินใจของภาครัฐทั้งเชิงบริหารและนิติบัญญัติในด้านต่าง ๆ จนถึงขั้นเป็นการพาเสียงประชาชนเข้าสภาฯ ที่สามารถทำได้ผ่านการฟังเสียงประชาชนและนำไปทำให้เกิดขึ้นจริง ด้วย Constructive Voice (เสียงที่นำไปสู่การสร้าง) จากประชาชนหลักหมื่นจนถึงหลักล้านตามแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชาชนบนประเด็นนั้น ๆ

การรวบรวมและปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์จาก Constructive Voice ของประชาชน จึงเป็น Principal ที่สำคัญของทุกฝ่ายในวันนี้

ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลผนวกกับการมีฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารที่พร้อมปฏิบัติตามเป้าหมายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง กรณีที่ประชาชนจะเกิดความเดือดร้อนถึงขั้นต้องตระโกนส่งเสียง ถึงขั้นต้องกระตุ้นให้ผู้มีชื่อเสียงออกมา Call Out-Shout Out หรือถึงขั้นต้องลงถนนออกมาเรียกร้องกันอาจไม่เกิดขึ้นเลย ตั้งแต่ประเด็นปัญหาการเมืองไปจนถึงปัญหาใกล้ตัว อย่างเราอยากฉีดวัคซีนตัวไหนเมื่อไรที่ไหน เป็นต้น หากเสียงของประชาชนทุกคนได้รับการให้คุณค่าและได้รับการปฏิบัติต่ออย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งตรงตามหลักการของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ประเทศเอสโตเนียในยุโรปผลักดัน e-governance อย่างจริงจัง นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทางออนไลน์มากกว่า 16 ปีแล้ว ผ่านระบบ i-Voting (ย่อจาก Internet Voting) โดยข้อดีของระบบนี้คือผู้ใช้สามารถลงคะแนนเสียงได้ทุกที่ทุกเวลา และต่อไปจะมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการนำส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง โดยตรวจความถูกต้อง-ประทับเวลา-จัดเก็บบนระบบ Blockchain โดยระบบนี้สามารถพิสูจน์การมีอยู่จริงของตัวตนประชาชนและบัตรลงคะแนนแต่ละใบและรักษา Privacy ของผู้ลงคะแนน ได้ดีกว่าการใช้บัตรพลาสติก หีบบัตรเลือกตั้ง และกระดาษลงคะแนน นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถตรวจสอบการส่งผลโหวตของตนได้โดยตรงผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าคะแนนเสียงของทุกคนจะถูกรวมเข้าระบบอย่างแม่นยำ โปร่งใส พร้อมประหยัดเวลาและงบประมาณในการสรุปผลคะแนนเสียงอีกด้วย

โดยระบบ i-Voting ได้รับการพิสูจน์จากผู้สังเกตการณ์กว่า 40 ประเทศ ที่เข้ามาตรวจสอบการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจากการเก็บข้อมูลทางสถิติพบว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้ใช้สิทธิ์ผ่านระบบ i-Voting มากถึง 43% จากผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งแบบออนไลน์ได้รับการยอมรับที่ดีจากประชาชนและจากนานาชาติ หลังการเลือกตั้งด้วยระบบออนไลน์เป็นครั้งที่ 10 รัฐบาลเอสโตเนียก็ได้ออกมาประกาศด้วยความภูมิใจว่า การใช้ i-Voting ของพวกเขา สามารถลดเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ไปได้มากถึง 11,000 วัน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งไปได้กว่าครึ่งอีกด้วย

ในฐานะคนทำงานด้านดิจิทัล ผมอยากชวนทุกคนทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่อยากส่งเสียงและทั้งคนทำงานด้านดิจิทัลที่อยากร่วมพัฒนาสร้างสิ่งดี ๆ เหล่านี้ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงอายุของเราด้วยกัน แล้วพบกันภายในไตรมาศ 3 ปี 2564 นี้ ที่ RebuildThailand.com เพื่อรวมพลังมาสร้างไทยนะครับ