จินตนาการและความไม่รู้ กรณี “ผึ้งแตกรัง”

จินตนาการและความไม่รู้ กรณี “ผึ้งแตกรัง”

แม้คนส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าไปในแคมป์คนงาน แต่ก็คงจินตนาการต่อได้ไม่ยากว่าในสถานที่แห่งนั้นคงเต็มไปด้วยคนงานก่อสร้างที่พักอาศัยอยู่กันแออัด

บทความโดย...

ตะวัน วรรณรัตน์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

        พลันที่มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยมาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยหนึ่งในมาตรการนั้นคือ “การปิดแคมป์คนงาน” เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการระบาดใน “คลัสเตอร์แรงงานก่อสร้าง”

ความห่วงกังวลเรื่อง“ผึ้งแตกรัง” ก็แพร่สะพัดตามมาทันทีตามหน้าเฟซบุ๊คของหลายๆคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน้าเว็บเพจของไอดอลในโลกโซเชียลซึ่งเป็นตัวเร่งที่สำคัญในการช่วยกระพือข่าว   ปรากฏการณ์นี้บอกอะไรกับเราได้บ้าง

        “แคมป์คนงาน” และ “แรงงานก่อสร้าง” เหมือนจะเป็นคำที่คุ้นหูคนไทยมาอย่างยาวนาน ใครๆ ก็จินตนาการได้ไม่ยากว่าแคมป์คนงานก่อสร้างก็คือสถานที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงานก่อสร้าง ซึ่งมักจะอยู่ในบริเวณเดียวกับหรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับไซต์งานก่อสร้างนั้นๆ เพื่อความสะดวกในการมาทำงานของคนงานและความประหยัดของผู้เป็นนายจ้าง 

ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เคยเข้าไปในแคมป์คนงาน แต่ก็คงจินตนาการต่อได้ไม่ยากว่าในสถานที่แห่งนั้นคงเต็มไปด้วยคนงานก่อสร้างที่พักอาศัยอยู่กันอย่างแออัดและไม่ถูกสุขลักษณะมากนัก ในขณะที่เมื่อนึกถึงคนงานก่อสร้างก็จะมีภาพของคนที่มีการศึกษาน้อย มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ที่เข้ามาแสวงหางานทำในกรุงเทพฯ

        เมื่อมีจินตภาพเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจำนวนมากต่างพากันหวาดกลัวสถานการณ์ “ผึ้งแตกรัง” อันหมายถึงการที่คนงานก่อสร้างจะแยกย้ายกันกลับบ้านที่ต่างจังหวัดตามภูมิลำเนาของตนเอ งซึ่งอาจกระจายอยู่ทั่วประเทศก่อนที่แคมป์คนงานจะถูกสั่งปิดในอีก 2-3 วันข้างหน้า 

 

        เพราะผู้คนในสังคมรับรู้ข่าวจากนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน ในขณะที่ประกาศฉบับดังกล่าวลงวันที่ 26 มิถุนายน และให้มีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน ซึ่งระยะห่างของวันที่ให้ข่าวกับวันที่มีผลบังคับใช้มีอยู่ถึง 3 วัน จึงทำให้ผู้คนเกิดวามกังวลใจว่าคนงานที่อาศัยอยู่ในแคมป์จะพากันเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดก่อนที่แคมป์จะถูกปิดอันหมายความว่าคนงานจะถูกขังอยู่ในแคมป์แต่ละแห่ง

        จากสถานการณ์ดังกล่าวที่ผู้คนจะแตกตื่นเพราะคาดการณ์ว่าจะเกิดสถานการณ์ “ผึ้งแตกรัง” นำพาเอาเชื้อโรคไปแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ  ผู้คนจึงพากันก่นด่านายกรัฐมนตรีที่ออกประกาศแบบไม่รอบคอบ  แทนที่จะออกประกาศตอนบ่ายแล้วสั่งปิดแคมป์ในตอนเย็นหรืออย่างช้าออกประกาศตอนเย็นแล้วสั่งปิดแคมป์ในวันรุ่งขึ้นก็ยังดี  ไม่ใช่ปล่อยให้คนงานมีเวลาเก็บกระเป๋าเดินทางออกจากแคมป์ 

บางคนจินตนาการต่อไปไกลว่าเป็นแผนการของผู้มีอำนาจบางคนที่วางไว้ว่าจะทิ้งเวลาให้คนงานกลับบ้านไปให้หมด แล้วจากนั้นจึงทำเรื่องเบิกเงินค่าอาหารคนงานเข้ากระเป๋าตนเองสบายไป

        บทความนี้มิได้ตั้งใจที่จะวิเคราะห์ประเด็นเรื่องระยะห่างของช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็นเพราะเหตุใดมีใครวางแผนไว้หรือมีใครได้ประโยชน์จากแผนนี้หรือไม่  แต่บทความนี้ต้องการชี้ให้เสนอว่าผู้ออกประกาศฉบับนี้มิได้มีความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับการการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อย่างรอบด้าน  เช่นเดียวกับที่ผู้คนในสังคมก็มิได้รู้จักหรือเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “แคมป์คนงาน” และ “คนงาน” ก่อสร้างมากนัก

        โดยทั่วไปแล้ว “แคมป์คนงาน” ของโครงการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาคารสูง หมู่บ้านจัดสรร หรือโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ มักจะเป็น “แคมป์” ขนาดใหญ่ที่มีคนงานก่อสร้างพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและในแคมป์เหล่านั้นมักเต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติ 

ที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าในแคมป์ไม่มีคนงานไทยอยู่เลย และไม่ได้หมายความว่าทุกแคมป์จะต้องเต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่ที่กล่าวมานี้คือภาพโดยรวมของแคมป์คนงานของไซต์งานก่อสร้างขนาดใหญ่

        เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนี้นั่นหมายความว่าผู้คนในสังคมจึงไม่ต้องกังวลใจกับปรากฏการณ์ “ผึ้งแตกรัง” ใช่หรือไม่ คำตอบคือทั้งใช่และไม่ใช่ ที่กล่าวว่า “ใช่” ก็เป็นเพราะคงแทบจะไม่มี “ผึ้ง” ที่แตกรังออกจากแคมป์คนงานเพื่อกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด  เพราะในแคมป์เต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ตามต่างจังหวัด

 แต่ที่กล่าวว่า “ไม่ใช่” ก็เป็นดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเป็นเพราะผู้ออกประกาศนี้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ไม่รอบด้านจึงจินตนาการเอาเองว่าการสั่งปิดโครงการก่อสร้างและปิดแคมป์คนงานชั่วคราวจะช่วยแก้ปัญหาได้โดยง่าย

        สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่  เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ในโครงการนั้น ๆ จะมีผู้รับเหมารายย่อยหลายรายเข้าไปร่วมทำงาน  ซึ่งผู้รับเหมารายย่อยนี้ส่วนมากเป็นคนไทย  บางรายอาจมีคนงานในสังกัดเพียงแค่ 3-5 คน บางรายอาจมีมากหลายสิบคนก็ได้  ซึ่งคนงานที่สังกัดผู้รับเหมารายย่อยนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นคนงานไทยซึ่งไม่ได้อาศัยรวมอยู่ในแคมป์ขนาดใหญ่ข้างต้น

 อย่างไรก็ตามเมื่อไซต์งานก่อสร้างถูกปิด  ผู้รับเหมารายย่อยทั้งที่มีลูกน้องเป็นคนงานไทยและที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็ย่อมไม่อยากที่จะจ่ายค่าแรงให้คนงานโดยที่คนงานไม่ได้ทำงานและตนเองก็อาจไม่ได้รับค่าจ้างจากเจ้าของงาน 

ดังนั้น เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ผู้รับเหมานำคนงานข้ามชาติขึ้นรถกระบะไปปล่อยทิ้งยังสถานที่ต่าง ๆ หรือเห็นภาพรถกระบะที่ท้ายรถเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้มุ่งหน้าออกจากกรุงเทพฯออกไปยังจังหวัดต่าง ๆ โดยที่คนขับรถก็คือผู้รับเหมาและที่กระบะท้ายก็คือคนงานไทยที่เป็นลูกน้อง 

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาก็เพื่อต้องการจะชี้ให้เห็นว่าประกาศดังกล่าวทำให้มีคนงานก่อสร้างที่เป็นคนไทยจำนวนหนึ่งไม่ว่าจะมากหรือน้อยเดินทางกลับบ้านจริงๆ แต่ส่วนใหญ่ของคนงานที่สร้างที่เดินทางกลับบ้านนั้นมิใช่ “ผึ้ง” ที่ “แตกรัง” ออกมาจากแคมป์คนงานขนาดใหญ่ดังที่เข้าใจกัน  และอันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นผึ้งจากในรังหรือนอกรัง  หากผึ้งเหล่านั้นได้รับการชดเชยและการดูแลเป็นอย่างดีจากนายจ้างและจากรัฐในช่วงที่มีการประกาศห้ามทำงาน  ก็คงไม่มีผึ้งตัวไหนที่ต้องการจะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเองแบบไปตายดาบหน้าและเสี่ยงกับการที่จะดูรังเกียจเดียดฉันท์จากผู้คนที่ปลายทางนั้น

        ดังนั้น การที่ผึ้งเหล่านั้นต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเองเพราะไม่อาจทำงานได้อันเนื่องมาจากประกาศฉบับดังกล่าว  ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดจากปรากฎการณ์นี้ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ  ก็คงปฏิเสธมิได้ว่าจะต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้ออกประกาศนี้.