ปัจจัยสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจเอสเอ็มอี

ปัจจัยสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจเอสเอ็มอี

แน่นอนตามชื่อบทความเลยครับ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับธุรกิจของตนเองต้องได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของธุรกิจ

หรือผู้บริหารที่อำนาจบริหารจัดการในระดับสูงสุดเป็นลำดับแรก

แม้ว่าการสร้างนวัตกรรมจะเป็นเรื่องที่เอสเอ็มอีมักจะได้รับฟังอยู่เสมอว่า เป็นวิธีการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน รวมถึงการแข่งขันทางการตลาดแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยถูกนำมาใช้มาก่อน แต่กระบวนการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมีปัจจัยสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง

การสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจระดับเอสเอ็มอี มีวิธีการหรือแนวทางที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไปว่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะผลักดันให้วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์การสร้างนวัตกรรมของผู้บริหารไห้ได้รับการนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักที่สำคัญ ได้ดังนี้

1.การสนับสนุนด้านบุคลากร เริ่มต้นจากตัวผู้นำหรือผู้บริหารสูงสุดที่ต้องมีความเข้าใจว่า กระบวนการนวัตกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้น ต้องเป็นกระบวนการที่เป็นระบบ ไม่ใช่เกิดจากโชคช่วยหรือความบังเอิญ และต้องแสดงบทบาทเพื่อถ่ายทอดให้พนักงานทุกระดับชั้นได้เห็นถึงการสร้างนวัตกรรมที่เป็นระบบและมีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน

ผู้นำหรือผู้บริหารสูงสุดยังต้องสนับสนุนการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร ให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาเพื่อชี้ทางและปรับแต่งให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นๆ สามารถเกิดขึ้นได้สำเร็จภายใต้บริบท วัฒนธรรม ทรัพยากร และขีดความสามารถขององค์กร

ให้การสนับสนุนในการรวมกลุ่มของพนักงานเพื่อขับเคลื่อน กระตุ้น และผลักดันความคิดที่เกิดขึ้นให้พัฒนาไปสู่การสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจได้ ทั้งการรวมกลุ่มในหน่วยงานเดียวกัน และการรวมกลุ่มข้ามหน่วยงาน

และหากสนับสนุนจนถึงระดับทำให้เกิดหน่วยงานเฉพาะด้านการพัฒนานวัตกรรมขึ้นเป็นหน่วยงานหนึ่งในโครงสร้างองค์กรได้อย่างเป็นกิจลักษณะ ก็จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างนวัตกรรม เพราะจะเกิดตำแหน่งบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการผลักดันการสร้างนวัตกรรมขึ้นอย่างชัดเจน

2.การสนับสนุนด้านการสร้างหรือเพิ่มพูนองค์ความรู้ที่จำเป็น โดยเฉพาะความรู้หรือเทคนิควิธีการใหม่ที่จะต้องนำไปใช้ประกอบในการสร้างสรรค์นวัตกรรมตามเป้าหมายกลยุทธ์ที่เจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดต้องการ เช่น การสนับสนุนให้พนักงานได้เข้ารับการอบรม ดูงาน หรือเข้าร่วมกิจกรรมและโครงการต่างๆ กับหน่วยงานภายนอก

การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานภายในต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมและค่านิยม หรือคุณค่าร่วมด้านนวัตกรรมที่สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วทั้งองค์กร และสามารถสัมผัสหรือมองเห็นได้จากผู้เกี่ยวข้องภายนอก เป็นต้น

3.การสนับสนุนด้านทรัพยากรและการจัดสรรทรัพยากร ทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับธุรกิจ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ หรือ ทรัพยากรด้านเวลา และทรัพยากรด้านงบประมาณ

เกี่ยวกับทรัพยากรด้านเวลา จะรวมถึง ผู้บริหาร บุคลากร และพนักงาน ที่จะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรม ส่วนทรัพยากรด้านงบประมาณ จะรวมถึง การจัดเตรียมแผนด้านค่าใช้จ่าย และการลงทุนด้านเทคโนโลยี ที่จะมารองรับการสร้างสรรผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต กระบวนการด้านการบริหารจัดการ และกระบวนการด้านการตลาดและการขาย

ให้การสนับสนุนด้านการเพิ่มทักษะและความรู้ผ่านระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล ให้มีความรู้พร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในอนาคต รวมถึงการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างนวัตกรรมทั้งภายในองค์กรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ

4.การสนับสนุนด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมและค่านิยมด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร การสนับสนุนด้านการปลูกฝังค่านิยมแห่งการประกอบการ และค่านิยมของการพัฒนาปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหลักอีกประการหนึ่งที่เจ้าของหรือผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดของเอสเอ็มอีจะต้องมีหน้าที่โดยตรงในการผลักดันให้เกิดขึ้น

ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่มีผลโดยตรงกับประสิทธิภาพของการสร้างสรรค์นวัตกรรมของธุรกิจ ประกอบด้วย ค่านิยมในการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างปราศจากอคติกับเพื่อนร่วมงาน การไม่กลัวต่อความล้มเหลว และการกล้าที่จะคิดและแสดงความคิดเห็น และพร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำ ติชม เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

รวมไปถึงการสนับสนุนด้านแรงจูงใจเพื่อกระตุ้น ให้รางวัล เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพนักงานที่สามารถสร้างผลงานนวัตกรรม ให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคลากรทั่วทั้งองค์กร

จะเห็นได้ว่า การที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นเอสเอ็มอีนวัตกรรม นอกจากวิสัยทัศน์ และความปรารถนาของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจแล้ว ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญดังกล่าว จะต้องได้รับความสนใจในระดับต้นๆ อย่างเป็นรูปธรรม

ถือได้ว่าเป็นเชื้อเพลิงที่จะสร้างพลังงานและแรงผลักดันด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้น และสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ จนกลายเป็น ค่านิยมและวัฒนธรรม ของการคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และพัฒนาสู่นวัตกรรม

เคียงคู่ไปกับภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้า คู่ค้า และผู้บริโภคโดยทั่วไป ที่จะนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้ต่อไป ทั้งในปัจจุบันและยั่งยืนต่อไปในอนาคต !!??!!