โอลิมปิกที่น่าสงสาร

โอลิมปิกที่น่าสงสาร

ไม่มีการแข่งขันโอลิมปิกครั้งใดในประวัติศาสตร์ ที่แปลกประหลาดและหาความแน่นอนแทบไม่ได้เลยเท่ากับ 'โอลิมปิก2020' ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ

'โอลิมปิก 2020' กำหนดจัดขึ้นระหว่าง 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2021 ที่โตเกียว วันเวลาของการจัดใกล้เข้ามาแล้ว มีหลายสิ่งที่น่าจับตาและน่าคิด 

โอลิมปิกสมัยใหม่เริ่มจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1896 ที่กรุงเอเธนส์  ประเทศกรีก   แหล่งกำเนิดของการแข่งขันโอลิมปิกยุคโบราณเมื่อ 2 พันปีก่อน    ผู้จัดตกลงกันว่าจะจัดทุก ๆ 4 ปี  มีเพียง 3 ครั้งในประวัติศาสตร์ของการจัดสมัยใหม่ คือ ค.ศ. 1916,  1940,  1944   ที่เลื่อนการแข่งขันออกไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2    แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่มีการยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันเพราะโรคระบาด

ใน ค.ศ. 1924 กีฬาโอลิมปิกที่จัดกันถูกเรียกว่า กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน” เมื่อเริ่มมี กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว” ขึ้น ทั้งสองการแข่งขันจะจัดในปีเดียวกันทุก ๆ 4 ปี จนกระทั่งถึงปี 1992   กีฬาฤดูหนาวก็เริ่มในปี 1994 และจัดทุก ๆ 4 ปีหลังจากนั้น ทั้งหมดนี้หมายความว่า โอลิมปิกฤดูร้อน” จะจัดก่อน โอลิมปิกฤดูหนาว” 2 ปี

กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 32 วางแผนจัดที่โตเกียวในปี 2020 และกีฬา โอลิมปิกฤดูหนาวจัดในปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อกีฬาฤดูร้อนถูกเลื่อนไปเป็นปี 2021  ในปีถัดไปจึงได้ดู กีฬาฤดูหนาว   ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนที่กีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้นในปีที่ต่อเนื่องกัน

      “โควิด 19” ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น   เมื่อก่อนเราฉีดยากันมานับร้อย ๆ เข็มในชีวิต  ไม่เคยสนใจหรือรู้จักชื่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีน   เมื่อก่อนไม่เคยคิดประชุมกันทางไกล   อะไร ๆ ก็ต้องเดินทางไปร่วมประชุมกัน   เมื่อก่อนเด็กไม่ต้องเรียนที่บ้านเหมือนปัจจุบัน(บางคนมี 3 อุปกรณ์ในเวลาเดียวกันคือแล็บทอปไว้ดูครู   มือถือเครื่องหนึ่งไว้เล่นเกมส์   อีกเครื่องไว้แชทกับเพื่อน )เมื่อก่อนเราเพียงใส่หน้ากากที่มองไม่เห็นเมื่อพบหน้ากัน   ปัจจุบันต้องใส่หน้ากากอนามัยอีกชั้นหรือสองชั้นทับลงไป   เมื่อก่อนไปไหนมาไหนไม่เคยระวังสังเกตละอองฝอยของน้ำลายออกจากปากของคู่สนทนา     เมื่อก่อนตะลอน ๆ ออกจากบ้านไม่เคยอยู่กับครอบครัว  บัดนี้ต้องเจอหน้ากัน 24 ชั่วโมง    ฯลฯ

ญี่ปุ่นต่อสู้ฝ่าฟันแข่งขันเป็นเจ้าภาพมาอย่างหนักกว่าจะเข้ารอบสุดท้ายโดยแข่งกับสเปนและตุรกีเมื่อปี 2013 เมื่อชนะก็ดีใจกันสุด ๆ ทั่วประเทศ โดยหารู้ว่ามันเป็น ปีศาจแปลงร่างมา (Devil in Disguise)  เพราะนอกจากรัฐบาลและภาคเอกชนต้องลงทุนไปกว่า 12,000ล้านเหรียญ (400,000 ล้านบาท) แล้ว  การเลื่อนครั้งนี้ทำให้ต้องสูญเสียไปอีกเป็นเงิน 5,800 ล้านเหรียญ (193,000 ล้านบาท)  และถ้าหากยกเลิกต้องสูญเสียอีกประมาณ 41,500 ล้านเหรียญ (1,383,000 ล้านบาท)   

ก่อนที่จะได้ “ปีศาจตัวนี้มา  ญี่ปุ่นต้องสู้กับข้ออ้างที่ว่าควรให้โอกาสเป็นเจ้าภาพแก่ประเทศอื่นบ้าง เพราะญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกมาแล้วรวม 3 ครั้ง  “โอลิมปิกฤดูร้อน” หนึ่งครั้งที่โตเกียวในปี 1964 (ที่จริงญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพในปี 1940   แต่ถอนตัวเพราะสงครามโลก)   และ โอลิมปิกฤดูหนาว” 2 ครั้ง ที่ Sapporoในปี 1972 และที่ Nagano ในปี 1998

กว่าที่ญี่ปุ่นจะสามารถจัดโอลิมปิกครั้งนี้ที่ยังเรียกว่า “โอลิมปิกฤดูร้อน 2020” ได้นั้น (ถ้าสุดท้ายได้จัดจริง ๆ เพราะ โควิดไม่เกรงใจใคร)    รัฐบาลและผู้จัดต้องต่อสู้กับความเห็นของคนญี่ปุ่นที่ต่อต้านการจัดอย่างมาก  เมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีนี้  โพลระบุว่า 55% เห็นควรเลื่อนหรือยกเลิก   ซึ่งก่อนหน้านั้นคือพฤษภาคมหลังจากการระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน    ตัวเลขเดียวกันคือ 83%   นอกจากนี้ 37% ขององค์กรเอกชนเห็นควรให้ยกเลิกและ 32% เห็นควรให้เลื่อน

น่าสงสารนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบันที่ตกเป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจว่าจะจัดหรือยกเลิกทั้งที่ตนเองไม่ได้ มีส่วนร่วมในเรื่องนี้แต่แรก  ไม่ว่าไปทางใดก็โดนหนักแน่นอน   หากจัดเพื่อยืนยันคำมั่นสัญญาในระดับประเทศ และเพื่อไม่ให้การลงทุนสูญเปล่ามากเกินไป และไม่ว่าจะควบคุมผู้มาจากต่างประเทศประมาณ 10,000 คน อย่างเข้มงวดเพียงใด    หากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด(วงการแพทย์เชื่อว่าพุ่งขึ้นกว่าเดิมแน่)หรือหากมีเหตุการณ์กระจายเชื้อจากผู้มาเยือน  รัฐบาลต้องรับไปเต็ม ๆ และหากทุกอย่างไปด้วยดีก็เสมอตัว

การได้รับเงินประกันคืนมาบ้าง หากไม่ได้จัดก็พออุ่นใจแต่จะสูญเสียโอกาสในการเปิดตัวเทคโนโลยีการใช้พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจนที่วางแผนมายาวนาน ตลอดจนการแสดงเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่ก้าวหน้า  และวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ

ความไม่แน่นอนของการจัดรายการ เช่นในเรื่องคนดูในสนาม (ไม่ให้เกิน 10,000 คน หรือ 5,000 คน หรือไม่ให้มีเลย) การจัดสถานที่แข่งขันที่ใกล้คนดูบนถนน พิธีรับรางวัล   ฯลฯ  ทั้งหมดนี้ไม่มีใครตอบได้ ต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อนทั้งสิ้น

บทเรียนเรื่องนี้ก็คืออย่าดีใจจนเกินไปเมื่อได้รับ “ปีศาจ” ที่แปลงร่างอันงดงามมาดังกรณีนี้   อย่าลืมว่ามีอีกด้านของเหรียญคือ นางฟ้าแปลงร่างมาเสมอ (Blessing in Disguise)   กล่าวคือบางสิ่งที่ได้รับอาจไม่ดี  แต่แท้ที่จริงแล้วอาจมี นางฟ้าแฝงอยู่ข้างในก็เป็นได้

 “โควิด19” ทำให้เราเข้มแข็งขึ้นทั้งใจและกาย และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์กว่าเดิมจากการรู้สึกห่วงใยคนข้างเคียงมากขึ้น.