มุมมองการลงทุนครึ่งปีหลัง 2021 (ตอนที่ 1)

มุมมองการลงทุนครึ่งปีหลัง 2021 (ตอนที่ 1)

ผ่านพ้นครึ่งปีแรกของปี 2021 สถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยรวมยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี 

แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากความกังวลต่อเงินเฟ้อเริ่มขยับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในหลายเดือนแรกของปี 2021 จากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตโควิด และการดำเนินนโยบายจากภาครัฐเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่ผ่านพ้นวิกฤตได้เป็นรายแรกๆ แต่ตลาดหุ้นกลับมีการพักตัวในช่วงต้นปีนี้ จากความพยายามปรับลดหนี้ (Deleverage) เหตุการณ์การผิดชำระหนี้ (Credit event) และแรงกดดันจากภาครัฐ ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยฉุดตลาดหุ้นลงมา อย่างไรก็ตามเชื่อว่านักลงทุนที่สามารถอดทนและถือครองสินทรัพย์ในระยะยาวจะยังคงได้รับผลตอบแทนที่ดี จากการเติบโตของผลกำไรบริษัทที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และมูลค่าหุ้นในปัจจุบันที่มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 เรามีมุมมองต่อการลงทุนใน 4 ประเด็นหลักดังนี้ 

  1. The Big Picture: การเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน (Rotation) มากกว่าการคาดการณ์ทิศทางของตลาด(Direction) การลงทุนในหุ้นต้อง เลือกมากขึ้น

ตลาดหุ้นยังคงมีการปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าหุ้น (Valuations) เริ่มอยู่ในระดับสูง และอาจเผชิญความเสี่ยงจากแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ นักลงทุนบางส่วนอาจหันไปลงทุนในตราสารหนี้ในฐานะสินทรัพย์ทางเลือกแทน อย่างไรก็ดีจากแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกำไรบริษัทจดทะเบียน ภายหลังจากภาวะผลกำไรถดถอยเนื่องจากวิกฤตโควิด ทำให้เรายังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นในระยะปานกลาง และคาดว่าตลาดหุ้นอาจมีโอกาสพักฐานระยะสั้นได้ในครึ่งหลังของปี 2021 

การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจทำให้เกิดการเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรมลงทุน (Rotation) จากผู้ชนะจากวิกฤตโควิด มาเป็นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีราคาของหุ้นกลุ่มวัฏจักรบางส่วนได้สะท้อนถึงการฟื้นตัวไปมากแล้ว ซึ่งทำให้ความน่าสนใจเริ่มลดน้อยลง เรายังคงเห็นโอกาสในการลงทุนในกลุ่มการเงิน และกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งมูลค่าของหุ้นในกลุ่มนี้อาจยังไม่สะท้อนเต็มที่ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

กลุ่ม Consumer Defensives แม้จะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดอย่างมากในหลายไตรมาสที่ผ่านมา แต่มูลค่าเชิงเปรียบเทียบเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นและค่าเฉลี่ยในอดีตถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก โดยเรายังคงชอบการลงทุนในกลุ่มการแพทย์ (Healthcare)  ซึ่งคาดว่าจะยังสามารถปรับตัวได้ดีโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากโอกาสในการเติบโตที่น่าดึงดูดและมูลค่าที่ไม่แพงเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต 

นอกจากนี้การลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังมีความน่าสนใจในระยะยาว โดยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตในเชิงโครงสร้าง มีคุณภาพของงบดุลที่ดีเยี่ยม และยังมี upside จากวัฏจักรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหนุนเพิ่มเติม 

โอกาสการลงทุนในเอเชีย 

เอเชียยังคงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยง แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจะยังคงอยู่ในระดับสูง เช่น อินเดีย แต่เศรษฐกิจอินเดียยังคงอยู่ในเส้นทางของการฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งและกำลังกลายเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้เร็วที่สุดในอีกหลายปีข้างหน้า โดยระดับราคาหุ้นปัจจุบันได้ปรับตัวมาอยู่ในระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระยะยาว นอกจากนี้โครงสร้างประชากรของอินเดียยังเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากสัดส่วนของประชากรวัยทำงานมีมากกว่าประชากรวัยพึ่งพิง และคาดจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงปี 2055 จากปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้เรายังคงชอบตลาดหุ้นอินเดีย 

จีน แม้ว่าจะเป็นประเทศแรกที่เศรษฐกิจหดตัวจากวิกฤตโควิด แต่ก็เป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เรายังคงแนะนำการลงทุนในจีนด้วยเหตุผลทั้งจากปัจจัยด้านโครงสร้างและด้านวัฏจักร โดยเรามองเห็นโอกาสในการลงทุนดังนี้ 

  • ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากไม่เพียงแต่ความต้องการลงทุนในพันธบัตรจีนจากต่างชาติจะเพิ่มกระแสเงินทุนไหลเข้าเท่านั้น แต่ยังมีความคาดหวังจากตลาดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร่งขึ้น
  • แนวโน้มค่าเงินหยวนที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น จึงเป็นโอกาสในการกระจายการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจีนในสกุลเงินท้องถิ่น
  • การปรับตัวของตลาดหุ้นจีนในไตรมาสแรกสะท้อนว่าการที่จีนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ไวกว่าประเทศอื่น ทำให้รัฐบาลสามารถกลับมาดำเนินนโยบายปกติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถทำให้ตลาดหุ้นจีนยังคงมี upside เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าแรงซื้อหุ้นจีนจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงยังคงแนะนำจัดสินทรัพย์เงินลงทุนในตลาดหุ้นจีนต่อไป
  • แผน ‘Made in China 2025’ ของรัฐบาลจีนมุ่งเพิ่มความเข้มแข็งทางนวัตกรรมของอุตสาหกรรมจีน และพาประเทศไปสู่ผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ลดการพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจ​และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ของจีน ได้มีการกำหนดให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของประเทศ 

โปรดติดตามประเด็นการลงทุนที่เหลือในตอนที่ 2