ยุคนี้แนะลงทุนแบบมีปันผลมั่นคงไว้ก่อน

ยุคนี้แนะลงทุนแบบมีปันผลมั่นคงไว้ก่อน

หากกล่าวถึงสถานการณ์ตอนนี้ เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก 

เรามาเริ่มที่ผลกระทบจากจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ดูๆแล้วจะหนักไปทางปัจจัยในประเทศมากกว่า หลักๆ ก็คงไม่หนีเรื่อง COVID-19 และอัตราการฉีดวัคซีน ผมคงไม่พูดมากเรื่องนี้แต่สรุปได้ว่าพัฒนาการเป็นที่น่าผิดหวัง ส่วนมีรายละเอียดรวมทั้งประเด็นอื่นคืออะไร เราก็มาเริ่มไล่เรียงกันเลยครับ

ข่าวดีที่ช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุน ก็คือ เรื่องการส่งออก การส่งออกเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาออกมาเติบโตกว่าร้อยละ40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้หลายสำนักวิจัยต่างก็ออกมาทยอยปรับเป้าส่งออกปีนี้ จากขยายตัวแค่หลักหน่วยอาจจะเป็นหลักสิบได้ ตามมาด้วยเรื่องการผ่าน พรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และก้าวที่สำคัญของรัฐบาลที่วางเป้าหมายจะเปิดประเทศใน 120 วัน โดยจะทยอยเปิดทีละส่วนเริ่มจากเกาะ 4 เกาะในภาคใต้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมากๆ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญซึ่งเป็นปัจจัยในประเทศแทบทั้งสิ้น

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในประเทศนาทีนี้ คงต้องให้น้ำหนักเรื่องการฉีดวัคซีน ที่ทำให้บรรยากาศการลงทุนในช่วงปลายๆเดือนไม่ค่อยดีนัก นั่นคือ ความล่าช้าในการฉีด การติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะกทม. และสถานการณ์การแพระกระจายรอบใหม่ที่เริ่มเกิดขึ้นในประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะ อังกฤษ ซึ่งมาจากการกลายพันธุ์ ของ COVID-19  โดยพัฒนาการการระบาดของ Covid-19 ในประเทศ ซึ่งเริ่มมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆมากขึ้น สร้างความกังวลต่อประสิทธิผลของวัคซีนต่างๆ ที่ล่าสุดยังคงมีการฉีดในประเทศในระดับที่ต่ำกว่าเป้าวันละ 3 แสนโดส ซึ่งเป็นเป้าที่จะทำให้ไปถึงเป้าการฉีดที่ 50 ล้านโดสในช่วงปลายเดือนตุลาคม ถัดมาเป็นเรื่องของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐต่างๆอาทิเช่น คนละครึ่ง และ ยิ่งใช้ยิ่งได้ ถ้าหากดูจากข้อจำกัดในส่วนของมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ คาดว่าคงจะมีแต่มาตรการคนละครึ่งที่จะมีผลต่อการใช้จ่ายจริงเท่านั้น สุดท้ายคงเป็นเรื่องของผลที่ได้จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้ง Phuket Sandbox ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา และการเปิดเกาะต่างๆเช่นเกาะเต่า-สมุย-พะงัน ว่าจะได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเพียงใด

              ด้านปัจจัยลบกดดันต่างประเทศ โดยรวมตลาดเริ่มมีความกังวลต่อนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา โดย FED อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ซึ่ง dot plot ได้เปลี่ยนมาว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าครั้งก่อนเป็น 1-2 ครั้งในปี 2023 ส่วนการลด QE Tapering นั้นคาดว่า FED จะมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวในการประชุม Jackson Hole วันที่ 26-28 ส.ค.นี้ หรืออย่างช้าในรอบการประชุมเฟด 21-22 ก.ย. ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าหลุดระดับ 31.50 บาท/USD  ทั้งนี้ ผมมองว่า ปัจจัยต่างประเทศที่อาจมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในเดือนนี้ ได้แก่ การรายงานตัวเลขภาคการผลิตทั่วโลกประจำเดือนมิ.ย.ไล่ตั้งแต่จีน ยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งหากยังดีต่อเนื่องมองเป็นบวกต่อภาคการส่งออกของไทยเราต่อไป ขณะที่การประชุมกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ดูแล้วไม่น่ามีนัยสำคัญ Supply ก็ยังคงตาม Demand ไม่ทันราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป ส่วนตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯในวันที่ 2 ก.ค. ซึ่งมองนัยสำคัญจะยังมีไม่มาก จากตัวเลขที่ยังคงถูกบิดเบือนจากมาตรการ Unemployment benefit ต่างๆ และปรากฏการณ์ WFH ในช่วงนี้

ในเชิงของคำแนะนำการลงทุนนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในอนาคต อาจเป็นปัจจัยกดดันให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น และสร้างความผันผวนในตลาดทุนและตลาดพันธบัตรไทยในระยะข้างหน้า ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มอสังหาฯ ของไทย (REITs & Property Funds) ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤต Covid-19 ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่รระบาด Covid-19 ในบางประเทศเริ่มพัฒนาการที่ดีขึ้นมากจากความก้าวหน้าและการเร่งฉีดวัคซีนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดความกังวลว่าการระบาดจะรุนแรงดั่งเช่นที่ผ่านมาด้านเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คงต้องติดตามทั้งผลตอบรับจากการนำร่องเปิดเมืองที่ภูเก็ต และถ้าการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าที่ดี ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้กองอสังหาฯ ของไทย มีแนวโน้มที่จะกลับมามีความน่าสนใจในแง่ของความสามารถในการสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้แก่นักลงทุนในรูปแบบของเงินปันผล  ดังนั้น สำหรับผู้ลงทุนระยะปานกลางถึงยาว 3-5 ปี การลงทุนที่มีกระแสเงินสดระหว่างทางยังถือว่าน่าสนใจ ผมเรียกว่า การลงทุนในกองอสังหาริมทรัพย์ ว่าการลงทุนทางเลือก สัดส่วนการลงทุนประมาณ 5% ของพอร์ตการลงทุนของท่านครับ