บทเรียน 5 ข้อจากนักรบชุดขาว

บทเรียน 5 ข้อจากนักรบชุดขาว

ในช่วงหลายเดือน หากเจ็บป่วยเล็กน้อย ก็พยายามดูแลตัวเอง พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปโรงพยาบาล เพราะเข้าใจว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก

เมื่อเดือนที่แล้วมีเหตุให้ต้องไปโรงพยาบาลหลายครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งไปรับวัคซีนตามที่ลงทะเบียนไว้ และมีเคสด่วนต้องไปรับการผ่าตัดเนื้องอกที่โรงพยาบาล

ด้วยสถานการณ์โควิดขณะนี้ การเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวในโรงพยาบาลค่อนข้างยุ่งยากกว่าเดิม เช่นต้องตรวจโควิดก่อนผ่าตัดทั้งของคนไข้และคนเฝ้า รวมถึงเอกสารและการเตรียมตัวต่าง ๆ แต่บอกได้เลยว่าความยุ่งยากที่ผู้ป่วยอย่างเราเจอคงไม่เท่าสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์กำลังประสบอยู่

ในช่วงที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 3 วัน ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมแพทย์และพยาบาล รวมถึงได้เห็นวิธีทำงานของพวกเขาอย่างใกล้ชิด ซึ่งการทำงานเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยนภาวะวิกฤตนี้ไม่ง่ายเลย กับกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน รวมถึงการใส่ใจในรายละเอียดในเรื่องความปลอดภัยของคนไข้ รวมถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์เองด้วย บอกได้เลยว่านับถือใจและขอกราบขอบพระคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่สถานการณ์เช่นนี้ ก็ไม่ได้ยินเสียงบ่น และแม้จะเหนื่อยแค่ไหน ก็ยังดูแลคนไข้อย่างเต็มที่

ดิฉันเชื่อว่า วันนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ในสายอาชีพใด เราต่างเจอความท้าทายกันถ้วนหน้า มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่อุตสาหกรรมที่เรายืนอยู่ บทเรียน 5 ข้อสำหรับคนทำงานในภาวะวิกฤต ที่ดิฉันได้เรียนรู้ในช่วงรักษาตัวที่โรงพยาบาลผ่านการทำงานของนักรบชุดขาว

1. ตั้งใจมุ่งมั่นทำบทบาทหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ในภาวะวิกฤตแม้เราจะควบคุมปัจจัยภายนอกหลายอย่างไม่ได้ แต่ที่สิ่งที่เราควบคุมได้ดีที่สุดคือตัวเราเอง นั่นคือเริ่มจากการรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองก่อน ยึดมั่นในเป้าหมายหลักของวิชาชีพของเรา และรักษามาตรฐานการทำงานที่เป็นเลิศเพื่อผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะเลวร้ายเพียงไรก็ตาม

2. มีคุณธรรม ฟังดูอาจเป็นเรื่องที่จับต้องยาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าบุคคลรอบตัวสามารถสัมผัสมันได้ ผ่านการสื่อสารที่จริงใจ ไม่ปิดบังข้อมูล ตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม และแสดงความรับผิดชอบเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

3. สื่อสารแบบสั้น ๆ แต่ผลักดันให้งานเดินไปข้างหน้า ในสถานการณ์วิกฤตที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันและแข่งกับเวลา ต้องสามารถใช้ประโยชน์จากการพูดคุยแบบสั้น ๆ แต่สามารถผลักดันให้เดินไปข้างหน้าให้ได้ โดยการเอาตัวเองไปนั่งในมุมของผู้ฟัง และเริ่มจากถามตัวเองว่า หากฉันเป็นผู้ฟัง “อะไรเป็นสิ่งที่ฉันกังวลที่สุดเกี่ยวกับประเด็นนี้” และ “อะไรเป็นสิ่งที่ฉันอยากรู้มากที่สุด” ตลอดเวลา 3 วันหลังผ่าตัด คุณหมอมาเยี่ยมทุกวัน ๆ ละไม่เกิน 5 นาที แต่การได้พูดคุยเร็ว ๆ สั้น ๆ กับคุณหมอทำให้ดิฉันอุ่นใจว่าดิฉันจะปลอดภัยและคลายกังวล

4. ทันสถานการณ์ ติดตามแนวโน้ม ข้อมูล ความรู้ ระเบียบ กฎกติกา และเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อสามารถสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการให้มุมมอง คำแนะนำ และคำปรึกษาที่ทันสถานการณ์

5. ทำงานเป็นทีม ช่วยสมาชิกแก้ปัญหา แบ่งปัน ให้ความร่วมมือในการใช้ความรู้และทักษะของตนเองเพื่อให้ทีมบรรลุเป้าหมาย แน่นอนว่าไม่เพียงแต่คุณหมอและพยาบาล แต่หมายถึงเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกคนทำงานประสานกันเป็นทีมเพื่อให้การผ่าตัดครั้งนี้ประสบความสำเร็จและปลอดภัยที่สุด แม้แต่เจ้าหน้าที่การเงินเองก็ประสานล่วงหน้าก่อนออกจากโรงพยาบาล 12 ชั่วโมงเพื่อให้กระบวนการเตรียมตัวกลับบ้านของคนไข้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและลดความเสี่ยงต่าง ๆ

#Leadership

#SuccessWarrior

#LeadershipACT

#CrisisManagement