วัคซีนช่วยลดการเสียชีวิตจากโควิด-19

วัคซีนช่วยลดการเสียชีวิตจากโควิด-19

ผมนำตัวเลขที่เกี่ยวกับโควิด-19 ในไทยและอังกฤษมาเขียนถึงอีกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

การนำเอาประเทศอังกฤษมาเทียบกับไทยก็เพราะว่าทั้งสองประเทศมีประชากรเท่ากันคือประมาณ 68 ล้านคน โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  1. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน ช่วงปลายปี 2020 ถึงต้นปี 2021 อังกฤษเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่าอย่างหนัก ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละเกือบ 1 แสนคน แต่ประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นเพียงวันละ 1 พันคน แต่อังกฤษควบคุมการระบาดได้ดีมาก ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงวันละประมาณ 2,000-3,000 คนในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ใกล้เคียงกับตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศไทย ต่อมาในเดือน มิ.ย.เมื่อเกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในอังกฤษ จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและ ณ วันที่ 28 มิ.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันย้อนหลังไป 7 วัน (rolling 7-day average) เพิ่มขึ้นมาเป็น 16,404 คนที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเดียวกันของไทยคือ 4,078 คนประมาณ 4 เท่าตัว (ดูกราฟข้างล่าง)

  162541363184

Rolling 7-day average of new COVID-19 cases on 28 June 2021:

Thailand = 4,078; UK = 16,404

 2.จำนวนผู้เสียชีวิตต่อวัน เนื่องจากอังกฤษมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าไทยมาโดยตลอด จึงต้องตั้งสมมติฐานว่าระบบสาธารณสุขของอังกฤษน่าจะยังต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่ยากลำบากมากกว่า หรือไม่แตกต่างจากประเทศไทย (อังกฤษจึงให้รักษาตัวอยู่บ้านและให้มาที่โรงพยาบาลเมื่อป่วยมาก) แต่ปรากฏว่าในระยะหลังนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ของอังกฤษต่ำกว่าจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตอย่างมาก เช่น ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 วันที่ 28 มิ.ย.แบบเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันเท่ากับ 39.43 คนในประเทศไทยหรือกว่า 2 เท่าของจำนวนคนอังกฤษ 17.43 คนที่เสียชีวิตจากโควิด-19

  162541368797

Rolling 7-day average of COVID-19 deaths on 28 June 2021

Thailand = 39.43; UK = 17.43

 3.ข้อแตกต่างคือการฉีดวัคซีน จะเห็นได้ว่าในช่วงของการระบาดหนักของโควิด-19 ที่อังกฤษในช่วงไตรมาส 2 ของปีที่แล้วและปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้นั้น จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศอังกฤษสูงมากถึงวันละ 1 พันรายหรือมากกว่า แต่ในการระบาดรอบล่าสุดนี้จำนวนผู้เสียชีวิตเกือบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สิ่งที่เปลี่ยนไปในช่วงเวลาดังกล่าวคือการรีบเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอังกฤษ ซึ่งข้อมูลระบุว่าสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดส ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.2021 เป็นต้นไป ทำให้ ณ วันที่ 28 มิ.ย.2021 สัดส่วนของประชากรอังกฤษที่ได้รับวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 1 โดสเท่ากับ 65.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่สำหรับประเทศไทยนั้นเริ่มฉีดเมื่อปลายเดือน ก.พ.และฉีดอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาถึงปลายเดือนพ.ค. เฉลี่ยวันละประมาณ 70,000 โดสและต่อมาฉีดได้มากที่สุดเพียงประมาณ 300,000 โดสต่อวันในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ทำให้คนไทยเพียง 9.4% เท่านั้นที่ได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.

ข้อมูลดังกล่าวเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า การฉีดวัคซีนนั้นแม้ไม่สามารถควบคุมการระบาดที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะสายพันธุ์เดลต้าระบาดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นศักยภาพของเดลต้าย่อมจะทำให้วันที่จะได้มาซึ่งภูมิคุ้มกันหมู่ต้องเลื่อนออกไปอีก เพราะแทนที่ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้เมื่อฉีดประมาณ 75% ของประชากร (คือประมาณ 50 ล้านคน) ก็อาจต้องเพิ่มขึ้นเป็น 85% ของประชากร (คือประมาณ 56 ล้านคน) เป็นต้น

แต่ประเด็นสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงคือ การลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยหนักลงไปอย่างมากในประเทศอังกฤษเมื่อเปรียบเทียบกับไทย เห็นได้จากการที่จำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่ของอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่จำนวนผู้ที่เสียชีวิตไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ในกรณีของประเทศไทยนั้นจำนวนผู้ที่เสียชีวิตกำลังเพิ่มขึ้นซึ่งผมนำเอาตัวเลขมาสรุปดังปรากฏในตารางข้างล่าง

162541376632

 ผมคงไม่ต้องขยายความจากตัวเลขในตาราง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจะต้องรีบเร่งฉีดวัคซีนให้รวดเร็วกว่านี้เพื่อปกป้องชีวิตของประชน แต่วัคซีนอาจลดการระบาดไม่ได้มากดังที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า ซึ่งส่วนของการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นนี้ย่อมเป็นอุปสรรค์สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเขียนถึงในครั้งต่อไปครับ