มองการกำกับ สินทรัพย์ดิจิทัล เทียบไทย-ญี่ปุ่น

มองการกำกับ สินทรัพย์ดิจิทัล เทียบไทย-ญี่ปุ่น

เทคโนโลยี บล็อกเชน เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การจับตามอง และถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายภาคส่วน รวมถึงในส่วนการระดมทุน แบ่งย่อยและกระจายสิทธิ์ต่างๆ

ในส่วนของประเด็นทางกฎหมายนั้นก็เป็นที่ถกเถียงและคิดพิจารณากันหลายปีแล้วว่าการระดมทุน และการแบ่งย่อยและกระจายสิทธิโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนควรจะมีการกำกับควบคุมดูแลอย่างไร 

 ในประเทศไทย ได้มีการออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อกำกับสินทรัพย์ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดย พ.ร.ก. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดนิยามคำว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล และได้แยกประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และ โทเคนดิจิทัล (Digital Token) โดยโทเคนดิจิทัลจะแบ่งย่อยอีกเป็น 2 ประเภท คือ โทเคนดิจิทัลสำหรับการลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ (Investment Token) และ โทเคนดิจิทัลสำหรับกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง (Utility Token)

 ในขณะนี้ ก.ล.ต. กำลังเตรียมที่จะเปลี่ยนการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทโทเคนดิจิทัลสำหรับการลงทุน และโทเคนดิจิทัลสำหรับการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง แบบที่ไม่พร้อมใช้ ให้ไปอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยจะคงเหลือเพียง  คริปโทเคอร์เรนซี  และ โทเคนดิจิทัลสำหรับสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการแบบพร้อมใช้ ให้อยู่ภายใต้กำกับของ พ.ร.ก. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีจุดมุ่งหมายหนึ่งคือการลดความแตกต่างในเรื่องของการกำกับ ระหว่างการเสนอขายหลักทรัพย์ ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเสนอขายโทเคนดิจิทัล ภายใต้ พ.ร.ก. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในกรณีที่เนื้อแท้ของหลักทรัพย์และโทเคนดิจิทัลนั้นเป็นสิทธิแบบเดียวกัน

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ก็กำลังเตรียมเสนอแก้ไขกฎหมาย 4 ฉบับ และอยู่ในระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องจนถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2564

หากมาดูในส่วนของวิวัฒนาการในประเทศญี่ปุ่น คงต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่บริษัทญี่ปุ่น Mt. Gox ที่ให้บริการศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2557 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นในการออกกฎเกณฑ์เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์คริปโต ประกอบกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีของญี่ปุ่นเติบโตอย่างมากตั้งแต่ปี 2561 เป็นผลให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่ได้นิยามคำว่า “เงินเสมือน (virtual currency)” ไว้ในกฎหมายและบังคับให้ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์เงินเสมือนต้องจดทะเบียนและมีที่ตั้งในญี่ปุ่น

 

ต่อมายังมีกรณีที่บริษัทผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีแห่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่งประกาศว่า คริปโทเคอร์เรนซีมูลกว่า 530 ล้านดอลลาร์หายไปจากการโดนโจรกรรมข้อมูล นอกจากนี้ก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า มีจำนวนนักลงทุนซึ่งลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีเพื่อวัตถุประสงค์การเก็งกำไรมากขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าที่จะใช้เพื่อการชำระค่าสินค้าหรือบริการ เหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายของญี่ปุ่น 2 ฉบับ คือ Payment Services Act และ Financial Instruments and Exchange Act เพื่อยกระดับการกำกับดูแลสินทรัพย์คริปโตในภาพรวม

 การกำกับ ณ ปัจจุบัน จะเป็นการแบ่งสินทรัพย์ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภทที่ 1 สินทรัพย์คริปโต (crypto asset) ซึ่งจะหมายรวมถึง คริปโทเคอร์เรนซี สินทรัพย์คริปโต (crypto asset) เป็นนิยามใหม่ที่มาแทน “เงินเสมือน (virtual currency)”  และ ประเภทที่ 2 โทเคนประเภทที่มีลักษณะเพื่อการลงทุนคล้ายหลักทรัพย์ ซึ่งจะคล้ายกับโทเคนดิจิทัลสำหรับการลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ (Investment Token) ในบริบทกฎหมายไทย

 ประเทศญี่ปุ่นกำกับสินทรัพย์ 2 ประเภทนี้ภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่แล้วสองฉบับคือ Payment Services Act และ Financial Instruments and Exchange Act โดยรายละเอียดและกฎเกณฑ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ 2 ประเภทในญี่ปุ่นมีดังต่อไปนี้

 

สินทรัพย์คริปโต (crypto asset) 

 กฎหมายฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 มีการแก้ไขที่สำคัญ ได้แก่ การแก้นิยามที่ได้กล่าวข้างต้น การเพิ่มกฎเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ให้บริการเกี่ยวกับการรับฝากสินทรัพย์คริปโต (crypto asset custody) ซึ่งหมายถึง การบริหารจัดการสินทรัพย์คริปโตโดยไม่ได้มีการซื้อขาย การยกระดับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์คริปโตให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

 โทเคนประเภทที่มีลักษณะเพื่อการลงทุนคล้ายหลักทรัพย์

 จุดประสงค์หนึ่งของการแก้ไขกฎหมาย Financial Instruments and Exchange Act ครั้งล่าสุด คือ เพื่อกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่าโทเคนแบบไหนบ้างจะอยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายฉบับนี้ โดยมีการเพิ่มนิยามคำว่า electronically recorded transferable rights (ERTRs) ไว้ในกฎหมาย

โทเคนที่จะเข้าข่ายเป็น electronically recorded transferable rights (ERTRs) ได้จะต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ

ประการที่ 1 นักลงทุนลงทุนเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่น ๆ เข้าไปในธุรกิจ

ประการที่ 2 เงินและทรัพย์สินที่ลงโดยนักลงทุนต้องนำไปลงทุนในธุรกิจ

ประการที่ 3 นักลงทุนต้องมีสิทธิได้รับเงินปันผลจากกำไรหรือทรัพย์สินที่เกิดจากการลงทุนในธุรกิจ  และโดยหลักการก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล และต้องทำการยื่นเอกสารต่าง ๆ รวมถึงออกหนังสือชี้ชวนก่อนที่จะทำเสนอขายเสมือนตราสารอื่น ๆ  การเสนอขายโทเคนประเภทนี้ปกติจะเรียกว่า Security Token Offering (STO)

 

หากมองในภาพกว้าง ทางผู้เขียนคิดว่ารูปแบบการกำกับของประเทศไทย ก็อาจจะเข้าใกล้รูปแบบการกำกับของญี่ปุ่นมากขึ้น คือ การที่การกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่คล้ายกับหลักทรัพย์จะไปอยู่ภายใต้กำกับของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และโทเคนบางส่วนที่ใช้เป็นตัวกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการก็จะไปอยู่ใต้กำกับ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน ซึ่งในการวางกรอบรูปแบบการกำกับหรือการกำหนดนิยามเพื่อแบ่งเส้นแบ่งขอบเขตการกำกับระหว่างสองกฎหมายนั้น  ผู้เขียนเห็นว่ารายละเอียดกฎหมายญี่ปุ่นก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจและอาจสามารถใช้อ้างอิงสำหรับการกำกับของประเทศไทยได้.