ตะวันออกกำลังขึ้น ตะวันตกกำลังลง

ตะวันออกกำลังขึ้น ตะวันตกกำลังลง

The East is rising; The West is declining คำกล่าวกำลังฮิตที่กรุงปักกิ่งปีนี้ ปีที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (พคจ.) มีอายุครบ 100 ปี

“The East is rising; The West is declining” คำกล่าวสะท้อนความมั่นใจที่คนจีนมีเกี่ยวกับอนาคตของประเทศและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลอย่างสำคัญจากความสำเร็จของจีนในการพัฒนาประเทศช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ พคจ. และภายใต้ความสำเร็จนี้ ก็มีหลายเรื่องที่น่าสนใจและควรเรียนรู้โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ นี่คือประเด็นของบทความวันนี้

 

พคจ.ถือกำเนิดหลังการประชุมครั้งแรกกลางปี 1921 จากนั้น พคจ. ก็ต่อสู้มาตลอดทั้งทางการเมืองและการทหารเป็นเวลา 28 ปีก่อนเข้ามาบริหารประเทศในปี 1949 และปกครองประเทศจีนต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ปีถึงปัจจุบัน ถือเป็นพรรคการเมืองที่บริหารประเทศนานสุดระดับต้นๆ ของโลก

 

นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน- 2 กรกฎาคม พูดถึงสามปัจจัยที่ทำให้ พคจ.สามารถปกครองประเทศจีนได้นานต่อเนื่อง

หนึ่ง ความพร้อมที่จะใช้อำนาจรุนแรง ( Ruthless) เพื่อปกป้องพรรคจากศัตรูทางการเมืองและบุคลากรของพรรคที่ออกนอกลู่นอกทาง เช่น ทุจริตคอรัปชัน นำความเสียหายมาให้พรรค

 สอง ความยืดหยุ่นที่พร้อมปรับวิธีการบริหารจัดการที่อาจต่างไปจากแนวทางของลัทธิสังคมนิยม เช่นเรื่องเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน

สาม ความกินดีอยู่ดีและมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนจีนที่ดีขึ้นมากทั่วหน้า ที่สร้างความชอบธรรมให้กับการอยู่ในอำนาจของ พคจ.เป็นเวลานาน  ทำให้ พคจ.เป็นพรรคการเมืองอำนาจนิยมที่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ

 

สามปัจจัยนี้ ผมว่าเรื่องเศรษฐกิจสำคัญสุด เพราะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จในการบริหารประเทศของทุกรัฐบาล เป็นแบบนี้ทุกประเทศ จีนก็เช่นกัน โดยเฉพาะหลังปี 1978 ภายใต้การนำของนายเติ้ง เสี่ยวผิง เลขาธิการพรรคตอนนั้นที่นำจีนออกจากการบริหารเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์จากส่วนกลางสไตล์โซเวียตที่ไม่ประสบความสำเร็จ เข้าสู่ระบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน คือ เปิดเสรีให้ภาคเอกชนและกลไกราคาเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เหมือนที่เติ้ง เสี่ยวผิง พูดว่า “เดินข้ามแม่น้ำโดยสัมผัสหินทีละก้าว” ขณะที่ด้านการเมืองคือการบริหารแบบรวมศูนย์โดยพรรคการเมืองพรรคเดียวปกครองประเทศ

 

ผลคือเศรษฐกิจจีนพุ่งทะยานอย่างไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่ปัจจุบันจีนกลายเป็นเศรษฐกิจอันดับสองของโลก ผลิตสินค้าได้มากมายนำมาสู่การสร้างรายได้  การลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อเนื่องถึงปัจจุบันและเข้มแข็งในทุกมิติ รายได้ต่อหัวของประชาชนจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว

ขณะที่ความยากจนที่นักวิชาการตะวันตกเคยกล่าวว่า “คนจีนส่วนใหญ่อยู่ในความยากจนมาตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศ” ลดลงอย่างไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ คือ ประชาชนจีนกว่า 850 ล้านคนหลุดออกจากความยากจนและในปี 2018 อัตราความยากจนของจีนอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่ำกว่าประเทศไทย เป็นความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจในช่วง 43 ปีหลังของการพัฒนาประเทศ และความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นก็เป็นฐานให้จีนสามารถสร้างอิทธิพลทางการเมืองและการทหารทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย

 

ทำไมจีนถึงทำได้ ในความเห็นผม ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของจีนเป็นผลจากสามปัจจัย

หนึ่ง บทบาทของระบบตลาดและการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ประชาชนจีนใช้ความรู้ ความสามารถและความขยันที่มีสร้างชีวิต สร้างธุรกิจ สร้างการแข่งขัน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของตน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

ตอกย้ำความสำเร็จของปรัชญาแนวคิดของ “อดัม สมิธ” เมื่อสองร้อยปีก่อนว่า การใฝ่หาประโยชน์ส่วนตน (Self-Interest) ภายใต้ระบบกฎหมายที่ปกป้องและเคารพในสิทธิส่วนบุคคลจะนำไปสู่ประโยชน์ของส่วนรวม คือ เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในช่วง 30 ปีแรกที่ล้มเหลวและช่วง 43 ปีหลังที่ประสบความสำเร็จ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นนี้

 

สอง คุณภาพของประชาชนและการศึกษา ช่วง 30 ปีแรกที่การพัฒนาเศรษฐกิจล้มเหลว แต่สิ่งหนึ่งที่จีนทำได้ดีคือการให้ความรู้และการศึกษาอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน ทำให้การไม่รู้หนังสือลดลงและการเรียนการสอนมีคุณภาพขึ้น ดังนั้น แม้การพัฒนาประเทศจากส่วนกลางจะไม่ประสบความสำเร็จช่วง 30 ปีแรก แต่ได้วางรากฐานให้คนจีนมีความเข้มแข็งในเรื่องการหาความรู้และการเล่าเรียน เป็นพลังที่ทำให้เมื่อนโยบายจากส่วนกลางเปลี่ยนไปสู่การเปิดเสรีและระบบตลาด คนในประเทศก็สามารถต่อยอดและฉวยโอกาสได้ทันที

 โดยเฉพาะการเรียนรู้และใช้ประโยชน์เทคโนโลยีจากต่างประเทศ จนจีนเป็นประเทศระดับต้นของโลกที่สามารถดูดซับและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ดีสุด สามารถนำมาปรับใช้และต่อยอดเป็นนวัตกรรมของจีนเอง สร้างประสิทธิผลและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

 

สาม บทบาทของผู้นำประเทศและ พคจ. ที่ชี้นำและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศจากบนสู่ล่างผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีฉบับต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จ แต่สำคัญสุดคือปณิธานอย่างแรงกล้าของผู้นำจีนทุกสมัยที่ต้องการสร้างชาติสร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้ดีขึ้น

 อีกเรื่องคือความสามารถของภาครัฐจีนที่คิดเป็นและเก่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จ คือ getting things done ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อเนื่องเป็นระบบ และจีนสามารถฝ่าฟันวิกฤติใหญ่ๆ ที่ประเทศเจอ เช่น ภัยธรรมชาติ

 

อีกเรื่องที่ต้องพูดถึงเพราะเป็นเอกลักษณ์และความเข้มแข็งในการบริหารจัดการของจีนโดยเฉพาะของผู้บริหารประเทศคือ การทำงานที่เน้นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งก่อนลงมือแก้ไข เป็นปรัชญา Seeking Truth from Facts ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการทำงานที่จริงจังแต่ยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถเจาะลึกปัญหาได้อย่างตรงจุด ทำให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ การระบาดของโควิดคราวนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทั่วโลกเรียนรู้จากจีนในการแก้ปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมที่จะตรวจเชื้อเชิงรุกประชากรจำนวนล้านๆ คนเมื่อเกิดการระบาด ความพร้อมที่จะปิดเมืองปิดประเทศเพื่อหยุดการระบาด การพัฒนาวัคซีนและระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่มาจากการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้

 

มองไปข้างหน้า จีนและ พคจ.คงมีความท้าทายรออยู่อีกมากในการบริหารและปกครองประเทศทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ แต่ที่ผ่านมา 100 ปีอย่างน้อย 43 ปีหลังต้องถือว่า ประสบความสำเร็จมากและทำได้ดีกว่าทุกประเทศในเอเชียรวมถึงไทย

 

อาทิตย์ที่แล้วมีเพื่อนนักวิชาการส่งคลิปภาพยนตร์ข่าวการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีปี 1975 มาให้ดู เป็นข่าวการต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทยที่นายเติ้ง เสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรีอันดับที่หนึ่งขณะนั้นมาต้อนรับด้วยตนเองที่ลานจอดเครื่องบิน

ตอนนั้นจีนยังยากจนเพราะอยู่ในช่วง 30 ปีแรกของการพัฒนาประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ไทยดูเข้มแข็งเป็นผู้นำอาเซียนที่ริเริ่มการสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เห็นได้จากเครื่องการบินไทยที่นำคณะนายกรัฐมนตรีบินตรงไปจีนจอดอยู่อย่างสง่างามที่สนามบินปักกิ่ง

แต่วันนี้สิ่งเหล่านี้ไม่มีแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว เราไม่มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ไม่เป็นผู้นำอาเซียนด้านการต่างประเทศและสายการบินประจำชาติของเราก็ยื่นล้มละลายไปแล้ว  ขณะที่จีนยิ่งใหญ่อย่างที่เห็น ชี้ให้เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะทำอะไร โดยเฉพาะผู้นำประเทศ.