เมื่อ FED เริ่มนโยบายกลับทิศ… เงินบาทจะเป็นอย่างไร

เมื่อ FED เริ่มนโยบายกลับทิศ… เงินบาทจะเป็นอย่างไร

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทไทยถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีการปรับตัวอ่อนค่าเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์

ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค. ปี 2563 ที่ผ่านมา การอ่อนค่าของเงินบาทในครั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจากทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเพิ่มขึ้นภายหลังจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ช่วงกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทิศทางสกุลเงินดอลลาร์ในระยะยาว และอาจมีผลกับทิศทางค่าเงินบาทไทยอย่างมีนัยสำคัญได้ในอนาคต 

หากเราพิจารณาทิศทางค่าเงินบาทไทยในปี 2564 นี้ จะพบว่าเกิดการอ่อนค่าเพิ่มขึ้นครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ โดยมีสาเหตุมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการเทขายสินทรัพย์หลายประเภท และเพิ่มการถือครองเงินดอลลาร์ แต่ภายหลังจากนั้น แม้สกุลเงินดอลลาร์จะปรับตัวอ่อนค่าลง แต่ประเทศไทยก็เผชิญกับปัจจัยสำคัญภายในประเทศต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาส่งผลให้ค่าเงินบาทยังทรงตัวในระดับอ่อนค่าที่ 31 บาทต่อดอลลาร์เช่นเดิม 

ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อทิศทางสกุลเงินดอลลาร์และค่าเงินบาท เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563  ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการดำเนินนโยบายผ่อนคลาย ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย และการเข้าซื้อสินทรัพย์ปริมาณมาก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบการเงิน ผลลัพธ์สำคัญที่เกิดขึ้นคือ ปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์มีทิศทางอ่อนค่ามาโดยตลอดในช่วงปี 2563 

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจภาคบริการที่มีโอกาสเติบโตภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างในหลายรัฐ ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับการกระตุ้นเพิ่มเติมจากนโยบายการคลังขนาดใหญ่ ที่ได้มีการดำเนินการแจกจ่ายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี 

จากการประชุมเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีทิศทางการดำเนินนโยบายที่ตึงตัวมากขึ้นในอนาคต โดยแสดงผ่านการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot plot) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มพูดคุยถึงแผนลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในอนาคต ถือเป็นแนวทางการสื่อสารที่แตกต่างจากธนาคารกลางยุโรป และ ญี่ปุ่น ที่ยังไม่ลดสภาพคล่องผ่านการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ 

ผลจากแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นเช่นนี้ ส่งผลให้ตลาดมีความคาดหวังต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเข้าถือครองเงินดอลลาร์เพิ่มมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่วนสกุลเงินเอเชีย และสกุลเงินไทย มีการปรับตัวอ่อนค่าเพิ่มขึ้น 

ผลกระทบต่อค่าเงินบาทไทยที่เกิดขึ้นจากแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ  ในอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทไทยในระยะยาว เนื่องจากในอดีต การดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2556 ถึงปี 2558 ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าจากระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ไปจนถึงระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเพียงสองปี 

โดยในช่วงกลางปี 2556 Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสมัยนั้นได้ประกาศแผนลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ต่อสภาคองเกรส หลังจากนั้นเป็นต้นมา ค่าเงินบาทและสกุลเงินต่าง ๆ ในเอเชียอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลารวมกว่า 2 ปี โดยค่าเงินบาทอ่อนตัวลงทันที 5.4% ในระยะเวลา 6  เดือนแรก จาก 30.38 เป็น 32.68 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าลงต่อเนื่องถึงจุดสูงสุดที่ 36.37 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงกลางปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก่อนที่จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ณ ปลายปีเดียวกัน โดยสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบมากในช่วงเวลาดังกล่าวคือ เยน และรูเปียห์ อ่อนค่าลงถึง 20.7% และ 29.8% ในระยะเวลา 2 ปี ตามลำดับ

 ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทไทยในช่วงนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการอ่อนค่าในอนาคตอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพราะอาจเป็นอีกครั้งที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลกระทบให้สกุลเงินเอเชียและค่าเงินบาทไทยมีทิศทางอ่อนค่าลงดังที่เกิดขึ้นในอดีต