ยุคเปลี่ยนผ่านผู้นำ

ยุคเปลี่ยนผ่านผู้นำ

วิกฤติโควิดผลักดันให้คนรุ่นเก่าเข้าใจความเป็นไปของธุรกิจดิจิทัล

ช่องว่างระหว่างวัยเป็นปัญหาใหญ่เสมอสำหรับโลกธุรกิจในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดอำนาจการบริหารภายในครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งธุรกิจในลักษณะนี้มีตั้งแต่บริษัทห้างร้านขนาดเล็กไปจนถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

การเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมารับช่วงดูแลกิจการต่อจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและส่งผลถึงอนาคตองค์กรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่เศรษฐกิจมีความผันผวนรุนแรง ทายาทรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตมักจะมองความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นโอกาสและพร้อมจะปฏิรูปองค์กรให้ทันกับโลกดิจิทัล

เหล่าผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้มักเพียบพร้อมด้วยความรู้ความสามารถ เพราะล้วนจบการศึกษาจากสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศส่วนมากเรียนต่อเอ็มบีเอมาแล้วได้เรียนรู้กรณีศึกษาจากองค์กรชั้นนำพร้อมมีคอนเน็คชั่นเป็นอย่างดี ขาดเพียงอย่างเดียวคือ “ประสบการณ์” ที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะ

เมื่อมีโอกาสกลับมาบริหารธุรกิจของครอบครัวจึงอยากใช้ความรู้ที่มีผ่าตัดองค์กรเป็นการเร่งด่วน ไม่ว่าจะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่หมด ปรับโมเดลธุรกิจ เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ 

ขณะที่คนรุ่นพ่อมักจะมองว่าของเดิมยังไปได้ดีอยู่ จึงไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก และที่สำคัญก็คือยังไม่เชื่อว่าลูกมีประสบการณ์มากพอที่จะจัดการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้จริง

ที่ผ่านมาเราจึงเห็นปัญหาในหลายๆ องค์กรที่คนรุ่นลูกพร้อมจะแสดงฝีมือแต่กลับไม่มีโอกาสเพราะคนรุ่นพ่อยังคงกุมอำนาจอยู่ หรือแม้จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดแล้วแต่ก็ยังต้องฟังคนรุ่นพ่อที่แฝงอยู่ในตำแหน่งต่างๆ เช่นที่ประธานปรึกษาหรือประธานบอร์ด

ปัญหาสำคัญคือ ในยุคปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้คนทั้ง 2 รุ่นมีช่องว่างที่ห่างไกลกันมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นเก่าในแวดวงธุรกิจมักจะไม่เข้าใจธุรกิจสตาร์ทอัพ มองไม่เห็นว่าระบบดิจิทัลจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบในการทำธุรกิจได้อย่างไร

รวมไปถึงครอบครัวข้าราชการและคนทำงานประจำทั่วไปที่เกิดความกังวลเมื่อเห็นคนรุ่นลูกเรียนจบแล้วไม่ยอมไปทำงานประจำ แต่กลับทำงานอยู่ที่บ้านเป็นยูทูบเบอร์ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ขายของออนไลน์ ฯลฯ เพราะไม่เชื่อว่าจะเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีสวัสดิการดีเหมือนกับการทำงานประจำหรือเป็นข้าราชการแบบคนรุ่นพ่อแม่

คำนิยามของคำว่า “ทำงาน” ของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่จึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าทุกวันนี้จะมีโซเชียลมีเดียเข้าถึงคนรุ่นเก่า มีข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ให้คนรุ่นพ่อแม่ได้เสพสาระอันทันสมัย แต่ช่องว่างระหว่างเจนเนอร์เรชันก็ยังคงมีอยู่ และกลายเป็นปัญหาที่หลายๆ ครอบครัวต้องประสบ

อย่างไรก็ตาม วิกฤติโควิด-19 ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในวิกฤติการณ์ดังกล่าวมานานกว่า 1 ปีแล้วผลักดันให้คนรุ่นเก่าเข้าใจความเป็นไปของธุรกิจดิจิทัลอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะสถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องรู้จักการใช้งานดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นของรัฐเช่นแอพเป๋าตัง และบริการซื้อของผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ รวมถึงจัดส่งอาหารต่างๆ

คนรุ่นพ่อแม่จึงมองเห็นโอกาสในธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น จากเดิมที่เคยพึ่งพาช่องทางการทำรายได้แบบเดิมๆ มานับสิบๆ ปี มาถึงวันนี้จึงได้เข้าใจว่าช่องทางดิจิทัลก็สามารถทำรายได้ไม่แพ้กัน และเป็นโอกาสให้คนรุ่นลูกได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีจัดการรับมือกับช่องทางใหม่ๆ เหล่านี้

รวมถึงการเข้าถึงลูกค้าในรูปแบบออนไลน์ซึ่งแต่เดิมคนรุ่นเก่าอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นเพราะเชื่อว่าหน้าร้านที่มีหรือพนักงานขายที่ทำงานมานานยังมีประสิทธิภาพดีกว่า แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปเพราะคนไม่กล้าออกนอกบ้าน การทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย เข้าถึงลูกค้าผ่านระบบดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งกลับได้ผลดีกว่า

เมื่อคนรุ่นพ่อแม่เข้าใจความเป็นไปของโลกในยุคดิจิทัลแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงอะไรตามมาก็ทำได้ง่ายขึ้น แต่ช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่นก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่ไม่น้อย เพราะการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่คนรุ่นเก่าแต่เพียงอย่างเดียว แต่คนรุ่นใหม่ก็ต้องมีเทคนิคในการจัดการด้วยเช่นกัน