พฤติกรรมท่องเที่ยวคนไทยช่วงโควิด–19

พฤติกรรมท่องเที่ยวคนไทยช่วงโควิด–19

ในช่วง 3 ปีก่อนเกิดโควิด 19 คนไทยท่องเที่ยวในประเทศเฉลี่ย 4 ครั้งต่อปี หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 1 พฤติกรรมท่องเที่ยวเปลี่ยนไปอย่างไร

บทความโดย มิ่งสรรพ์  ขาวสอาด มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

ในช่วง 3 ปีก่อนเกิดโควิด 19 คนไทยท่องเที่ยวในประเทศเฉลี่ย 4 ครั้งต่อปี ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของกลุ่มอายุต่างๆ ได้แก่ Gen Baby Boomer (BB) Gen X และ Gen Y จะเดินทางเฉลี่ย 1 ครั้งต่อปี ส่วนใน Gen Z โดยเฉลี่ยยังไม่มีการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 1 พฤติกรรมท่องเที่ยวของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างไร

จากการสำรวจทางออนไลน์ จำนวน 606 ตัวอย่าง ของโครงการยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พบว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงก่อนโควิด-19 มีเป้าหมายเพื่อ

1) พักผ่อนคลายความเครียด ให้รางวัลกับตัวเอง

2) ต้องการท่องเที่ยวเพื่อเปิดโลก เรียนรู้ทักษะ วัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมใหม่

3) สร้างความสัมพันธ์ร่วมกับคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว

4) การผจญภัย สัมผัสธรรมชาติในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย

วัตถุประสงค์หลักที่ทำให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวทั้ง 4 นี้ ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มอายุต่างๆ แต่ปัจจัยกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวพบว่า มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ ปัจจัยกระตุ้นให้ท่องเที่ยวของ Gen BB คือ ต้องการพักผ่อน สร้างประสบการณ์ใหม่ และสามารถท่องเที่ยวในวันใดก็ได้ไม่จำกัดเวลา ส่วน Gen x และ Gen Y จะถูกกระตุ้นให้ท่องเที่ยวจากความรู้สึกอยากพักผ่อนและสภาพคล่องทางการเงิน และส่วนใหญ่สามารถท่องเที่ยวเวลาใดก็ได้ตามความสะดวก

ส่วนใน Gen Z จะแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ในเรื่องเวลาท่องเที่ยว ที่ส่วนใหญ่จะสามารถท่องเที่ยวได้เฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ไม่ต้องไปเรียนหนังสือ ส่วนปัจจัยกระตุ้นให้ท่องเที่ยวคือ ความรู้สึกอยากพักผ่อน เวลาว่าง ภาพบรรยากาศของสถานที่ และความต้องการที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากภูมิลำเนา

ด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการเที่ยวหลังโควิดระลอกที่ 1 พบว่าคนไทยนิยมเที่ยวกับครอบครัว และเที่ยวกับเพื่อน มักจัดรูปแบบหรือการวางแผนการเดินทางด้วยตนเอง โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารจากช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ส่วนการเตรียมการท่องเที่ยวพบว่าส่วนใหญ่จองบริการทางการท่องเที่ยวด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ใน Gen Z จะจองผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ส่วน Gen BB ยังใช้การจองผ่านบริษัททัวร์ จองผ่านงานแสดงสินค้าท่องเที่ยวมากกว่า กลุ่มอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ด้านเครื่องมือ/ช่องทางที่ใช้ระหว่างการท่องเที่ยวในทุกกลุ่มจะนิยมใช้แอปพลิเคชันเป็นส่วนใหญ่

ด้านการรับรู้เครื่องหมาย SHA ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และเพิ่มความมั่นใจในการท่องเที่ยวหลังโควิดนั้นพบว่า มีผู้รับรู้ร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด และในกลุ่มนี้กว่าร้อยละ 70 เห็นว่าเครื่องหมาย SHA มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว (รูปที่ 1)

ส่วนการรับรู้และการใช้โครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการเที่ยวปันสุข โครงการเราไปเที่ยวกัน และโครงการกำลังใจ พบว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกันมีผู้รับรู้มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด และมีผู้ใช้สิทธิร้อยละ 24 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มากที่สุดเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ และสามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวประมาณ 13,000 บาทต่อคน ส่วนโครงการกำลังใจมีผู้รับรู้และใช้สิทธิน้อยที่สุด โดยมีผู้ใช้สิทธิเพียง 6 คนเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโครงการกำลังใจเป็นโครงการที่เจาะจงให้บุคลากรสาธารณสุข ด่านหน้า เช่น อสม. อสส. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. แล 162496818648

ที่มา: จากการสำรวจในช่วงเดือนพฤศจิกายน– เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563

รูปที่ 1 การตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวเมื่อมีสัญลักษณ์ SHA

 

ปัญหาที่ส่งผลให้ความพึงพอใจในการท่องเที่ยวของคนไทยลดลงมากที่สุดนั้น มาจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลภาวะทางเสียง ขยะในเมืองท่องเที่ยว ความแออัดของนักท่องเที่ยว และด้านความปลอดภัย ได้แก่ ความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว และความปลอดภัยในการเดินทาง ส่วนปัญหาที่ทำให้ความพึงพอใจลดลงในระดับปานกลางจะเป็นปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว เช่น การขาดแคลนรถสาธารณะ การจัดการจราจรภายในเมืองและระหว่างแหล่งท่องเที่ยว ความเพียงพอของสถานที่จอดรถ ความเพียงพอของห้องน้ำสะอาด เป็นต้น นอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และปัญหาความสะอาดของอาหารก็ทำให้ความพึงพอใจลดลงในระดับปานกลางเช่นกัน (รูปที่ 2)

  162496812450

ที่มา: จากการสำรวจในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม 2563

 การวางแผนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงโควิดรอบแรกสงบลง (มีนาคม – กันยายน พ.ศ. 2564) พบว่าคนไทยจะยังคงเที่ยวเป็นครอบครัว และเพื่อนเป็นหลัก แต่ใน Gen BB และ Gen Y มีการวางแผนจะเที่ยวร่วมกับเพื่อนมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ส่วนการวางแผน/การจัดการท่องเที่ยวนั้นยังคงจะวางแผนท่องเที่ยวด้วยตนเองเช่นเดิม หมายความว่านโยบายกระตุ้นท่องเที่ยวไม่เกิดประโยชน์ต่อบริษัทท่องเที่ยว ส่วนการวางแผนท่องเที่ยวระยะยาวในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป พบว่าจะวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในระยะใกล้ก่อน คือเริ่มท่องเที่ยวภายในจังหวัด ภายในประเทศก่อน และในปี พ.ศ. 2564 เกือบร้อยละ 50 ตัดสินใจจะไม่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ

การเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยหลังสถานการณ์โควิด โดยรวมแล้วร้อยละ 61 เห็นว่ายังไม่ควรเปิดประเทศ โดยเฉพาะใน Gen Y และ Gen Z ประมาณร้อยละ 70 ของคนรุ่นใหม่นี้ไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศ ส่วนใน Gen BB และ Gen X มีสัดส่วนเท่าๆ กันระหว่างกลุ่มการไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศกับกลุ่มการเปิดประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้

ภูเก็ตแซนด์บอกซ์จึงเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศ ถ้าภูเก็ตชนะ ไทยก็ชนะด้วย.