Reopening Theme

 Reopening Theme

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีแผนในการจัดหาและการฉีดวัคซีน  COVID-19 ของประเทศไทย โดยได้มีการทำสัญญาซื้อวัคซีน AstraZeneca ทั้งหมด 61 ล้านโดส

ทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564, ทำสัญญากับรัฐบาลจีนในการจัดหาวัคซีน Sinovac จำนวน 10-15 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ที่เหลือทยอยส่งมอบเดือนละ 3 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 เป็นต้นไป, วัคซีน Pfizer จำนวน 20 ล้านโดสและวัคซีน Johnson & Johnson(J&J) จำนวน 5 ล้านโดส อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขสัญญา คาดว่าจะส่งมอบได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2564

นอกจากนี้ยังมีวัคซีน Moderna, SINOPHARM-BEIJING และ Sputnik V อยู่ระหว่างการดำเนินการเช่นกัน ทำให้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนประมาณเดือนละ 10 ล้านโดส โดยวัคซีน AstraZeneca, Sinovac, J&J, Moderna และ Sinopharm ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ในประเทศไทยแล้ว รัฐบาลมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวน 50 ล้านคนหรือ 70% ของประชากรทั้งหมด ภายในสิ้นปี 2564

ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิ.ย. 2564 สัดส่วนประชากรไทยที่ได้รับการฉัดวัคซีนแล้ว 7.33% ขณะที่ทั้งทวีปเอเชียมีสัดส่วนประชากรได้รับวัคซีนแล้ว 21.39% โดยประเทศคูเวต อิสราเอลและภูฏานมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดในเอเชียที่ระดับ 67.30%, 63.40% และ 62.56% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศขนาดใหญ่อย่างประเทศจีน อินเดียและอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากที่สุดในทวีปเอเชียมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีน 43.21%, 15.25% และ 7.84% ตามลำดับ

ในทวีปยุโรปมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีน 45.9% โดยประเทศไอซ์แลนด์ อังกฤษและฮังการีมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดในยุโรปที่ระดับ 67.84%, 61.90% และ 55.65% ตามลำดับ ในทวีปอเมริกาเหนือมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนผู้ได้รับวัคซีน 40.32% โดยประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดที่ระดับ 65.65% และ 52.34% ตามลำดับ จะเห็นว่าในยุโรปและอเมริกาเหนือซึ่งประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีการกระจายวัคซีนเป็นอย่างดี

ทำให้การเปิดเมืองของทั้ง 2 ทวีปมีความคืบหน้าอย่างมาก เห็นได้จากดัชนีการเดินทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนเข้าใกล้ระดับก่อน COVID-19 และการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น 23% ใน 1 ปีที่ผ่านมาและ 16% ใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเมืองเติบโตได้ดี เห็นได้จากยอดใช้จ่ายใน 2 ปีที่ผ่านมาของร้านอาหารเพิ่มขึ้น 15% การใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น 23% และยอดใช้จ่ายเกี่ยวกับการบินและการเดินทางลดลงเพียง 12% นอกจากนี้หลังจากที่ประชากรในสหรัฐได้รับการฉีดวัคซีนแล้วการเดินทางไปซื้อของใช้ตามห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ยอดขายสินค้าในช่องทาง Online ปรับตัวลดลง

จากข้อมูลของประเทศทางฝั่งยุโรปและอเมริกาที่เห็นตัวเลขการท่องเที่ยว การเดินทางและการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นจากข้อมูลการท่องเที่ยวและการใช้บัตรเครดิตและเดบิต ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าหากในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนที่มากเพียงพอ จะทำให้กิจกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 หรือการเปิดเมือง (Reopening) ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มค้าปลีก กลุ่มอาหาร กลุ่มสนามบินและสายการบิน กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม กลุ่มขนส่งทางบก กลุ่มบันเทิงและสื่อ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมปรับตัวขึ้นมากที่สุดที่ 32.59%

ตามด้วยกลุ่มบันเทิงและสื่อ 20.60% กลุ่มอาหาร 16.04% กลุ่มค้าปลีก 11.79% กลุ่มสนามบินและสายการบิน 9.78% กลุ่มขนส่งทางบก 7.22% (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2564) จะเห็นว่ากลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่รับประโยชน์โดยตรงจากการเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแต่งบการเงินในไตรมาสที่  1 ปี 2564 หลายตัวยังขาดทุนและคาดว่าจะมีผลขาดทุนต่อเนื่องในอีก 1-2 ไตรมาส ขณะที่กลุ่มสนามบินและสายการบินที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการท่องเที่ยวเช่นกัน ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยแม้จะมีการเปิดเมืองแล้วแต่นักท่องเที่ยวอาจยังไม่กลับมาท่องเที่ยวเนื่องจากข้อกำหนดในการกักตัวของประเทศต้นทางและการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น ในประเทศจีน เป็นต้น ขณะที่กลุ่มค้าปลีกและกลุ่มขนส่งทางบกปรับตัวขึ้นไม่มากจากต้นปี

แม้ผลประกอบการจะปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ผ่านมาแต่ยังสามารถทำกำไรได้ และคาดว่าจะทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่พึ่งพา Domestic demand เป็นหลัก ทำให้หลังจากที่คนได้รับวัคซีนและสามารถออกจากบ้านมาชีวิตปกติได้ รายได้ของหุ้นกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นทันที โดยไม่รอการเปิดการบินระหว่างประเทศ