Carbon Markets Club กับ Net Zero Society

Carbon Markets Club กับ Net Zero Society

ผมยังจำได้ว่า ตอนที่ผมมาเป็นกรรมการบางจากเมื่อปี 2555 นั้น มีการคาดการณ์ว่าโลกเราจะหาน้ำมันมาไม่เพียงพอกับอุปสงค์ของมนุษย์โลก

และราคาน้ำมันดิบจะมีโอกาสที่จะสูงกว่า 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากอุปทานไม่สามารถตอบโจทย์ของอุปสงค์ได้ ทำให้เกิดการขาดแคลนของแหล่งพลังงานหลักของโลก จึงมีการเร่งพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนอกจากที่เราเห็นเป็นรูปธรรมในรูปแบบของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พลังงานลมแล้ว ยังมีความคิดที่จะผลิตน้ำมันจากสาหร่าย หรือการอบแห้งที่ความร้อนสูงแบบไม่มีออกซิเจน (pyrolysis) เพื่อแปลงใบไม้หรือพลาสติกให้เป็นน้ำมันกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง แต่วิวัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ก็ได้หยุดไป เมื่อเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะในแนวขวาง (horizontal drilling หรือ side track) หรือการสกัดน้ำมันดิบที่ถูกดักไว้ในหินดินดาน (shale oil) ทำให้ราคาน้ำมันดิบตกต่ำลงมาในระดับ 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล และบางครั้งลงไปลึกถึง 15-20 เหรียญต่อบาร์เรล การพัฒนาพลังงานทดแทนในหลายๆ ด้านจึงไม่สมเหตุสมผลในทางเศรษฐศาสตร์หรือเชิงพาณิชย์ และต้องหยุดไปในที่สุด 

แต่โลกเราก็ยังมีเหตุการณ์ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรากฎการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งน่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศจีน ที่มีสาเหตุจากทั้งการใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า และความหนาแน่นของการจราจร เราจึงเห็นรัฐบาลจีนให้การอุดหนุนทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่าและมาตรการทางภาษีสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียน ซึ่งในรอบทศวรรษที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นราคาแผงโซล่าร์ลดลงกว่า 90% และในปัจจุบันสามารถเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่ถูกกว่าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติแล้ว ส่วนอีกปรากฎการณ์คือการสนับสนุน EV ในประเทศจีนที่เริ่มจากให้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเท่านั้นวิ่งในเมืองใหญ่ จนถึงการพัฒนาให้รถเมล์ รถแท็กซี่เป็นรถ EV เท่านั้น และปัจจุบัน ประเทศจีนเป็นตลาดรถ EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายกว่าปีละ 2 ล้านคัน ว่ากันว่ารัฐบาลจีน ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาได้อุดหนุนอุตสาหกรรม EV กว่า 20,000 ล้านเหรียญหรือกว่า 6 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าครึ่งของ GDP ประเทศไทย 

การที่ราคาน้ำมันปรับตัวลง ส่งผลทำให้กลไกตลาดหรือกลไกราคาไม่สามารถตอบโจทย์การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน การอุดหนุนจากภาครัฐจึงเป็นเครื่องมือหลักอันหนึ่งที่ช่วยเร่งกระบวนการเหล่านี้ เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศจีน แต่ทว่าไม่ใช่ทุกประเทศในโลกที่ภาครัฐมีเงินสำรองมากพอที่จะอุดหนุน (subsidy) แบบให้เปล่าอย่างประเทศจีนได้ ในกลุ่มประเทศยุโรปที่แม้จะมีความมั่งคั่ง แต่ก็ยังนิยมที่จะใช้กลไกตลาด โดยการซื้อขาย carbon certification ผ่าน Emission Trading Scheme ETS ที่เริ่มก่อตั้งในปี 2548 หรือลงโทษอุตสาหกรรมหนักที่ไม่คำนึงถึงภาวะโลกร้อน ผ่านการเก็บภาษีคาร์บอน carbon tax ที่ประเทศเยอรมันได้เริ่มประกาศใช้ในปีนี้ที่ 25 ยูโรต่อตัน หรือหลายๆ ประเทศแถวสแกนดิเนเวียที่มีการเก็บภาษีดังกล่าวมาก่อนหน้าที่อัตราสูงกว่า ดังที่ผมเคยเล่าไปในบทความเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

แต่กลไก ETS น่าจะเป็นเครื่องมือหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอย่างเหล็ก ปูนซีเมนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป (EU) ที่บรัสเซลส์จะเป็นคนกำหนดว่า ในแต่ละอุตสาหกรรมสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ และถ้าปล่อยเกินที่กำหนด ก็จะต้องซื้อ carbon certification หรือใบรับรองจากผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนมาชดเชย หรือที่เรียกว่า cap and trade นั่นเอง ซึ่งระบบดังกล่าวเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดย 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาของคาร์บอน ได้สูงขึ้นมากว่า 60% กล่าวคือจาก 30 ยูโรต่อตันเมื่อต้นปี มาเป็น 53  ยูโรต่อตันเมื่อเดือนที่ผ่านมา และถ้าเป้าหมายของ EU ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 55% ในปี 2573 นั่นหมายถึงราคาอาจจะสูงถึง 180 ยูโรต่อตัน (Cambridge Econometrics ได้คำนวณไว้) เมื่อราคาสูงขึ้นขนาดนี้ ย่อมเป็นเครื่องจูงใจหรือ incentive ที่จะทำให้การพัฒนาในพลังงานสีเขียวเช่นแบตเตอรี่ ไฮโดรเจน หรือการดักเก็บคาร์บอน (carbon capture) เกิดได้เร็วขึ้น เพราะนอกจากจะมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์แล้ว ยังสามารถหารายได้เพิ่มจากการขาย carbon certification อีกด้วย

 

แต่การซื้อขายดังกล่าวก็มีผลกระทบที่ตามมา 2 ประการคือ 1) หลายๆ อุตสาหกรรมเช่น รถยนต์ เริ่มมีความคิดที่จะบวกต้นทุนดังกล่าวเข้าไปในราคาสินค้า ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น มีการคำนวณว่าค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในประเทศเยอรมนีที่ต้องเสียภาษีคาร์บอน 25 ยูโรต่อตันนั้น จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 204 ยูโรหรือ 6,500 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ทาง EU จึงมีแผนที่จะนำเงินจากการออกในรับรองดังกล่าวส่วนหนึ่งมาอุดหนุนกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ นอกเหนือจากการใช้เป็นทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่นไฟฟ้าหรือไฮโดรเจน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้เงินของรัฐบาลแบบที่เกิดในประเทศจีน 2) ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศนอก EU ที่ไม่ต้องเสียภาษีคาร์บอนหรือซื้อใบรับรอง จะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และทำให้อุตสาหกรรมหนักใน EU แข่งขันไม่ได้ EU จึงได้ออกกฎเรื่อง carbon border tax หรือ European Green Deal ที่สินค้าหรือวัตถุดิบถ้านำเข้าจากประเทศนอก EU หากสินค้าดังกล่าวผลิตโดยปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าที่ผลิตใน EU ก็ต้องเสียภาษีทางอ้อม โดยต้องซื้อใบรับรองเท่ากับส่วนต่างที่ปล่อยไปใน ETS ก่อนที่จะเสนอขายในภูมิภาค EU ได้ โดยประกาศให้มีผลในวันที่ 14 กรกฎาคมที่จะถึงนี้และมีผลบังคับใช้เต็มที่ในปี 2569 โดยมีระยะเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ปี 2566 

นอกจาก EU แล้ว อังกฤษและจีนก็ได้เริ่มจัดตั้งกลไกดังกล่าวแล้วเช่นกัน อีกทั้งรัฐหลายๆ รัฐในอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย เป็นต้น  ด้วยความตื่นตัวในหลายๆ ประเทศนี้เอง กลุ่มบางจากฯ จึงร่วมกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ จากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก จัดตั้ง Carbon Markets Club ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในรูปแบบองค์กรและบุคคล เป็นการเตรียมตัวผู้ประกอบการสำหรับอุปสรรคและโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่ที่จะนำพาไปสู่สังคม Net Zero และส่งผลทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้นครับ