Fed ประชุมเปลี่ยนโลก

Fed ประชุมเปลี่ยนโลก

น้อยครั้งที่การประชุมแบบปกติ จะทำให้ภาพทิศทางของโลกเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งเห็นได้จากการประชุมของ Fed ที่ผ่านมา

น้อยครั้งที่การประชุมแบบปกติ จะทำให้ภาพทิศทางของโลกเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แต่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เมื่อวันที่ 15-16 มิ.ย. เป็นหนึ่งในนั้น

 

ก่อนหน้าการประชุม หลายฝ่ายจับจ้องกันว่านโยบายการเงินสหรัฐจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่เป็นขาขึ้น และหลายฝ่ายเริ่มมองว่าหาก Fed ไม่รีบที่จะลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย Fed จะล่าช้าเกินไป (Behind the curve) และทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ควรจะเป็น หลังจากที่เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐ 2 เดือนหลัง (เม.ย.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นเกินคาดที่ 4.2% และ 5.0% อันเป็นผลทั้งจากปัจจัยการผลิตขาดแคลน และ ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดเมือง

 

และผลการประชุม FOMC ในวันที่ 15-16 มิ.ย. Fed ก็ได้ส่งสัญญาณชัดเจนในการที่จะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดทอน QE ทั้งจากการ (1) ปรับเร่งการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย (หรือที่เรียกว่า Dot plot) จากปี 2024 เป็น 2023 (2) ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ขึ้นจาก 2.2% เป็น 3.0% และยังสูงขึ้นเล็กน้อยใน 2 ปีข้างหน้า บ่งชี้ว่าเงินเฟ้ออาจไม่เป็นชั่วคราว (Transitory) มากนัก และ (3) ปรับลดการคาดการณ์อัตราว่างงานลงเล็กน้อยในปี 2022 บ่งชี้ว่าเป็นไปได้ที่จะลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เร็วขึ้น

 

ในปีที่ผ่านมา Fed ได้มีการเปลี่ยนเป้าหมายนโยบายการเงิน จากการตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ 2% เป็นเป้าหมายเงินเฟ้อ "เฉลี่ย" นั่นหมายความว่า จะยอมให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกิน 2% ได้ช่วงหนึ่งก่อนที่จะขึ้นดอกเบี้ย โดยจะให้ความสำคัญกับอัตราว่างงานแทน โดยการว่างงานต้องลงไปต่ำกว่าอัตราที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ (Full employment) เท่านั้น จึงจะขึ้นดอกเบี้ยได้

 

นอกจากนั้น นับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน Fed ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียง "ชั่วคราว" หรือ Transitory เนื่องจากปัจจัยฐานปีที่แล้วที่ต่ำมาก ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า Fed ส่งสัญญาณว่าให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อน้อยลงแต่ให้ความสำคัญกับการว่างงานเพิ่มขึ้น

 

แต่การที่ Fed ประกาศ U-turn นโยบายดังกล่าว ถ้ามองในแง่ดี แสดงว่า Fed ประสบความสำเร็จในการทำนโยบาย "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" เพราะสามารถดึงความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation expectation) ขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ หากพิจารณาผลการสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นของ Fed สาขานิวยอร์ค หรือจะเป็นของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเอง จะพบว่าเพิ่มขึ้นมากทั้งสิ้น แปลว่าในเศรษฐกิจจริง (ไม่ใช่ในตลาดการเงิน) ผู้คนเริ่มเชื่อว่าเงินเฟ้อจะขึ้นในอนาคต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็แปลว่าความกังวลเรื่องภาวะเงินฝืด (Deflation) ที่ Fed กังวลในช่วงที่ผ่านมาก็ลดลง

 

หากมองในแง่ร้าย การที่ Fed ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น จาก 2.2% ในปีนี้เป็น 3.0% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยใน 2 ปีข้างหน้า บ่งชี้ว่าเงินเฟ้ออาจไม่ "ชั่วคราว" (Transitory) ตามที่ Fed เคยพูด และ Fed กำลังล่าช้าเกินไป (Behind the curve) ทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น

 

โดยสรุป ผู้เขียนเชื่อว่าผลของการประชุมครั้งนี้ ตีความได้ว่า (1) Fed เริ่มกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยและปรับการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะใกล้สูงขึ้น (2) Fed น่าจะเริ่มทำ QE Tapering เร็วขึ้นในปลายปีนี้ เนื่องจากผู้เขียนเชื่อว่าในปลายปีนี้ ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐจะปรับตัวดีขึ้นมากหลังสวัสดิการผู้ว่างงานจำนวน 300 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์หมดลงในเดือน ก.ย. (เพราะที่ผ่านมา ผู้ว่างงานได้รับสวัสดิการเป็นจำนวนมากจนเกินค่าแรงขั้นต่ำ จึงไม่มีแรงจูงใจที่จะออกมาหางาน) (3) เป็นไปได้ที่ Fed จะปรับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นอีกหากเงินเฟ้อไม่ลดลงในระยะต่อไป ซึ่งภาพเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าทิศทางนโยบายการเงินในระยะต่อไปจะตึงตัวขึ้น

 

นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น จะมีนัยยะทั้งต่อตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่เช่นประเทศไทย กล่าวคือ ในภาพของตลาดการเงิน การปรับลดทอน QE รวมถึงยุติและเริ่มถอนสภาพคล่อง (หรือที่เรียกว่า Quantitative Tightening: QT) จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับขึ้น แต่ระยะยาวปรับลดลง (หรือที่เรียกว่า Flattening yield curve) ซึ่งแปลว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นจะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคตลดลง ซึ่งภาพนี้เป็นผลลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นที่ดัชนีหุ้นจะต้องปรับลดลงทุกครั้งที่ธนาคารกลางถอนสภาพคล่องกลับ โดยหากเศรษฐกิจ (รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนบางบริษัท) ยังแข็งแกร่ง ก็เป็นไปได้ที่หุ้นจะยังไปต่อได้ ซึ่งจากสถิติ พบว่าในการลดทอนสภาพคล่องหลัง QE1 ในปี 2010 และ QE2 ในปี 2011 ดัชนี S&P มีการปรับตัวลดลง แต่หลังจากช่วง QE3 ดัชนี S&P ยังไปต่อได้เกือบ 300 จุด

 

ในส่วนของตลาดเกิดใหม่ ความเสี่ยงของการถอนสภาพคล่องที่จะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก (ซึ่งหากมีมากอาจเกิดเป็นวิกฤตค่าเงิน) มีมากน้อย แล้วแต่ปัจจัยพื้นฐานของแต่ละเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจนั้น ๆ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และต้องพึ่งเงินทุนต่างชาติเพื่อให้ดุลการชำระเงินสมดุล การที่ Fed ถอนสภาพคล่องอาจทำให้เม็ดเงินไหลกลับไปยังสหรัฐ และกดดันให้เกิดวิกฤตการเงินในประเทศเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะประเทศที่เปราะบางเช่น ตุรกี แอฟริกาใต้ และประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา ขณะที่ประเทศในเอเชียรวมทั้งไทย มีบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลและมีการสั่งสมทุนสำรองไว้มาก พอรองรับการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ได้บ้าง ทำให้ธนาคารกลางในเอเชียยังไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อดอกเบี้ยเริ่มจะต้องเป็นขาขึ้น ความเสี่ยงของบุคคล บริษัทเอกชน หรือแม้แต่เศรษฐกิจที่มีมูลหนี้มากก็จะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

การประชุม Fed เดือนนี้บ่งชี้ชัดเจนว่า หมดยุคเงินท่วมโลกแล้ว ลูกหนี้ และนักลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากและไม่มีพื้นฐานรองรับ โปรดระวัง

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่