มาตรการให้สินเชื่อฟื้นฟูฯ แก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

มาตรการให้สินเชื่อฟื้นฟูฯ แก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจหลายภาคส่วนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและแหล่งทุน

บทความโดย

ชญานี ศรีกระจ่างและรัชวุฒิ ช่อดอก

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้สามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงานได้ต่อไป

หลักการสำคัญของพระราชกำหนดฉบับนี้ คือ การให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ มีวงเงินรวม 350,000 ล้านบาท ซึ่งกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย 2 หมวด หมวดที่ 1 มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนหมวดที่ 2 บัญญัติถึงมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

มาตรการที่หนึ่ง คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการให้สินเชื่อฟื้นฟู) โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้สถาบันการเงินกู้ยืมเงินกรอบวงเงิน 250,000 ล้านบาทและคิดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมร้อยละ 0.01 ต่อปี และให้สถาบันการเงินนำไปให้ผู้ประกอบธุรกิจกู้ยืมเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มากู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินเพื่อใช้ประคองให้ธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

การให้กู้ยืมนั้นสถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยโดยตลอดอายุสัญญาไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดยในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของสัญญาให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีและจะไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ประกอบธุรกิจในระหว่าง 6 เดือนแรกนับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับสินเชื่อของการยื่นขอสินเชื่อในแต่ละคราว

นอกจากนี้ยังกำหนดให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมมีวัตถุประสงค์ หน้าที่ และอำนาจในการค้ำประกันสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจกู้ยืม โดยบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อมจะรับภาระไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งได้ให้เงินกู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง

ผู้ประกอบธุรกิจที่จะเข้าหลักเกณฑ์ในการขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามมาตรการนี้ได้นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงินเท่านั้น พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับทางสถาบันการเงินสามารถมากู้ยืมเงินตามมาตรการนี้ได้เช่นเดียวกัน

มาตรการที่สอง คือ มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ – Asset Warehousing) มีกรอบวงเงิน 100,000 ล้านบาท มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องทำการโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักประกันการชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนได้ หรือผู้ประกอบธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์นั้นจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปประกอบธุรกิจต่อได้

ผู้ประกอบธุรกิจที่จะเข้าร่วมมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยและมีสถานประกอบธุรกิจในประเทศไทย ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน และต้องเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินอยู่ก่อนแล้วก่อนวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2564 โดยไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนทรัพย์สินที่โอนให้กับสถาบันการเงินต้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก่อนวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2564 ทรัพย์สินนั้นอาจเป็นของผู้ประกอบธุรกิจเองหรือของบุคคลอื่นที่ใช้เป็นหลักประกัน โดยพ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ไม่ได้กำหนดประเภทของทรัพย์สินที่จะนำมาตีโอน อย่างไรก็ดี เจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินส่วนใหญ่มักเลือกทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากสามารถคงมูลค่าได้และไม่เสื่อมสภาพ

สำหรับการซื้อคืนทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักประกัน พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันมีสิทธิซื้อทรัพย์สินคืนได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปี นับแต่วันรับโอน ภายในระยะเวลาดังกล่าว สถาบันการเงินจะนำทรัพย์สินนั้นไปขายให้บุคคลอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับแจ้งเป็นหนังสือว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิซื้อคืนทรัพย์สิน และในระหว่างเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นจากสถาบันการเงินเพื่อนำใช้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ส่วนราคาในการซื้อคืนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้น ต้องไม่สูงกว่าราคาที่รับโอนรวมกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา (Carrying Cost) ซึ่งไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของราคารับโอน และหากผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิเช่าทรัพย์สินเพื่อไปดำเนินธุรกิจ ก็ให้นำค่าเช่ามาหักออกจากจำนวนดังกล่าวด้วย

โดยสรุปเห็นได้ว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตาม พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ เป็นมาตรการระยะยาวที่อาศัยทรัพยากรจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีสถาบันการเงินเข้ามาเป็นตัวกลางและเป็นกลไกในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังผู้ประกอบธุรกิจ ผู้เขียนหวังว่ามาตรการนี้จะให้ความช่วยเหลือครอบคลุมถึงผู้ประกอบธุรกิจทุกภาคส่วนอย่างตรงจุดและเพียงพอ เพื่อให้สามารถกลับมาฟื้นตัวและสามารถสร้างรายได้ต่อไปได้.