จะกำไรสองหลักอย่างไร ถ้าตลาดไม่ไปไหนในครึ่งปีหลัง?

จะกำไรสองหลักอย่างไร ถ้าตลาดไม่ไปไหนในครึ่งปีหลัง?

เวลาเดินเร็ว มีหลายเหตุการณ์ให้ติดตามกันรายวัน และอีกไม่กี่อึดใจก็จะเข้าสู่ครึ่งหลังของปีกันแล้ว แม้โรคโควิด-19 จะยังไม่หายไป

แต่ตลาดหุ้นในครึ่งปีแรกกลับโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม นำโดยม้ามืดอย่างตลาดหุ้นยุโรปที่เพิ่มขึ้นถึง +17% ตามด้วยตลาดหุ้นไทยที่ +13% ส่วนท้ายตารางคงหนีไม่พ้นตลาดหุ้นจีนซึ่งเป็นแชมป์ปีที่แล้วและปีนี้ยังขึ้นไม่ถึง 1% (ข้อมูล ณ 15 มิถุนายน 2021)

แม้หลายตลาดหุ้นจะเดินหน้าขึ้นต่อได้อย่างน่าพอใจ แต่นักลงทุนจำนวนไม่น้อยยังรอคอยการกลับมาครองตลาดอีกครั้งของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ปีนี้ความนิยมแผ่วลงจากการสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนตามความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจ ทำให้หุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น พลังงาน (S&P Energy Sector +46%) และการเงิน (S&P Financials Sector +28%) เข้ามาดูดเม็ดเงินลงทุนไปเป็นกอบเป็นกำ

3 เรื่องที่เป็นที่คาดหมายในตลาดสำหรับครึ่งปีหลัง ได้แก่

  1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านจุดพีคในไตรมาส 2 หลังจากผลของฐานต่ำและการอั้นของความต้องการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปิดเมือง (Pent-up demand) หมดไป ทำให้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง และอาจกดดันหุ้นกลุ่มวัฎจักร
  2. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน เริ่มทรงตัวหรือลดลง เพราะผู้ผลิตจะทะยอยเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อฉกฉวยประโยชน์จากราคาที่พุ่งขึ้น รวมกับหมดช่วง Driving Season ที่ชาวอเมริกันมักขับรถท่องเที่ยวในฤดูร้อน ซึ่งอาจเป็นลบกับหุ้นกลุ่มพลังงาน
  3. Fed และธนาคารกลางหลักๆ ของโลก เริ่มส่งสัญญาณถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง ภายหลังกลไกทางเศรษฐกิจเริ่มเข้าที่เข้าทางและกลับมาทำงานเป็นปกติ คาดว่า Fed จะเริ่มสื่อสารเพื่อจับปฏิกริยาของตลาดในช่วงปลายสิงหาคมถึงกลางกันยายน ซึ่งอาจทำให้บอนด์ยีลด์ขยับขึ้น กระทบบรรยากาศการลงทุนทั้งหุ้นและตราสารหนี้

บนความท้าทายข้างต้น ตลาดยังมีแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวได้ดีและยังไม่ถึงจุดพีค เช่น ยุโรป และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังนับว่ามีสภาพคล่องสูง ดอกเบี้ยยังต่ำมาก และธนาคารกลางทั่วโลกยังซื้อสินทรัพย์ในตลาดต่อเนื่องแม้จะน้อยลง ดังนั้น ตลาดหุ้นน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ (Sideway) คือไม่ขึ้นชันเหมือนปลายปี 2020 ถึงต้นปี 2021 แต่ก็ไม่ลงแรง เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างแรงสนับสนุนและความท้าทายที่ต้องเผชิญ

จะกำไรสองหลักอย่างไร ถ้าตลาดไม่ไปไหนในครึ่งปีหลัง?

หุ้นกู้อนุพันธ์ หรือ Structured Note คือการลงทุนใน “หุ้นกู้ บวก อนุพันธ์” จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสามารถออกแบบให้เหมาะกับภาวะตลาดที่คาดการณ์ได้ เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีเงื่อนไข KIKO (Knock-in Knock-out) เหมาะกับตลาดที่ราคาหุ้นจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากหรือลดลงมาก และมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นสองหลักได้

KIKO Structured Note คือการลงทุนในหุ้นกู้ของสถาบันการเงิน พร้อมๆ ไปกับการให้สิทธิในการขายหุ้น (ขาย Put option) ซึ่งนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนสองส่วน คือ ดอกเบี้ยจากหุ้นกู้ อยู่ที่ราว 2-3% ต่อปี และค่าขาย Option ซึ่งในบางขณะอาจสูงกว่า 10% ต่อปี ขึ้นอยู่กับหุ้นที่ใช้อ้างอิง รวมเป็นผลตอบแทน 12-13% ต่อปี โดยทะยอยรับผลตอบแทนเดือนละครั้งจนครบกำหนดหรือยกเลิกสัญญาตามเงื่อนไข

ตัวอย่างผลตอบแทนจากหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีเงื่อนไข KIKO (Knock-in Knock-out)

  • กรณี ราคาหุ้นขึ้นไม่ถึงระดับ Knock-out ซึ่งเป็นกรอบบนและไม่ลงแตะระดับ Knock-in ซึ่งเป็นกรอบล่าง จะได้รับดอกเบี้ยทุกเดือนและได้เงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด
  • กรณี ราคาหุ้นปิดสูงกว่าระดับ Knock-out สัญญาจะถูกยกเลิกก่อนกำหนด และได้รับเงินต้นคืน
  • กรณี ราคาหุ้นลงแตะระดับ Knock-in และไม่ฟื้นกลับมาที่ระดับ Knock-out ตลอดอายุสัญญา จะได้รับดอกเบี้ยจนครบสัญญา แต่ได้เงินต้นคืนเท่ากับราคาหุ้นปัจจุบันซึ่งน้อยกว่าเงินทุนเริ่มต้น

จะเห็นว่าหุ้นกู้อนุพันธ์ KIKO มีความเสี่ยงที่จะได้ผลตอบแทนไม่ครบตามเวลาที่ตั้งใจ หรือได้เงินต้นคืนไม่ครบจำนวน (ขาดทุน) ดังนั้น หุ้นอ้างอิงควรเน้นหุ้นพื้นฐานดีและราคาปัจจุบันไม่สูงกว่าเป้าหมายมากนัก

การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ ถือเป็นทางเลือกในการสร้างขุมทรัพย์ลงทุน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มจะไม่ไปไหนไกล