มองการมองว่าอเมริกากำลังล่มสลาย

มองการมองว่าอเมริกากำลังล่มสลาย

นักวิจารณ์ชาวอเมริกันบางคนมองว่าสหรัฐกำลังเดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลาย  ปัญหาภายในเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้สหรัฐเผชิญกับภาวะจะล่มจม

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้สหรัฐเผชิญกับภาวะจะล่มจม เช่น การกระจุกตัวของอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ  คอลัมน์นี้เอ่ยถึงบางมุมมองของประเด็นหลายครั้งและอ้างถึงหนังสือหลายเล่มรวมทั้ง Are We Rome? The Fall of An Empire and the Fate of America และ The Price of Inequality (มีบทคัดย่อภาษาไทยและวิพากษ์อยู่ในเว็บไซต์ www.bannareader.com)

สหรัฐอุบัติขึ้นมาเมื่อปี 2319 บนฐานของการเมืองแนวประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแนวตลาดเสรี  หลังเวลาผ่านมา 245 ปี มีวิกฤติทางการเมืองหนึ่งครั้งที่ทำให้สหรัฐเกือบแตกออกเป็นเสี่ยงๆ และล่มสลาย นั่นคือ สงครามระหว่างรัฐหลังก่อตั้งประเทศได้ 84 ปีโดยรัฐทางเหนือต้องการเลิกทาส แต่รัฐทางใต้ไม่ยอม  ฝ่ายเหนือชนะ ประเทศไม่แตกสลายและอยู่มาได้จนกลายเป็นมหาอำนาจดังในปัจจุบัน 

สำหรับด้านเศรษฐกิจ เกิดวิกฤติใหญ่ที่ทำให้ประเทศเกือบล่มจมหลังก่อตั้งมา 154 ปี  แต่ไม่ล่มหลังปรับแนวคิดและนโยบายส่งผลให้ประเทศพัฒนาต่อมาจนเป็นมหาอำนาจได้ไม่นานหลังจากนั้น  เมื่อปี 2551 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่คล้ายครั้งก่อน แต่บทเรียนทางนโยบายที่ได้มาตั้งแต่ครั้งนั้นช่วยให้แก้วิกฤติครั้งหลังได้ภายในเวลาสั้นกว่าครั้งก่อน

ในช่วงนี้ ปัจจัยที่ทำให้การวิจารณ์ด้านการอยู่รอด หรือล่มสลายของสหรัฐกลับมาเข้มข้นขึ้นมากสืบเนื่องมาจากความแตกแยกร้ายแรงด้านความคิดพื้นฐานทางการเมือง  ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีที่เพิ่งแพ้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเป็นฝ่ายที่มีความคิดคล้ายกับรัฐทางภาคใต้ ที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างรัฐเมื่อ 160 ปีก่อน  

กล่าวคือ ยึดผลประโยชน์ของคนผิวขาวเท่านั้นเป็นหลัก พร้อมกับพยายามจำกัดโอกาสและสิทธิ์ของคนผิวอื่น  เมื่อแพ้การเลือกตั้งก็หาทางยึดอำนาจจนเกิดปรากฏการณ์บุกเข้าไปในรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมาในขณะที่สมาชิกรัฐสภากำลังประชุมเพื่อรับรองผลการเลือกตั้ง  แม้ความพยายามนั้นจะไม่สำเร็จ แต่ฝ่ายแพ้การเลือกตั้งยังไม่ละความพยายามแม้จะต้องใช้กระบวนการที่จะนำไปสู่การใช้ระบอบเผด็จการ หรือการทำลายระบอบประชาธิปไตยที่สหรัฐใช้มาเป็นเวลา 245 ปีแล้วก็ตาม

ความแตกแยกภายในแบบร้ายแรงของสหรัฐดังกล่าวนั้นกำลังถูกซ้ำเติมจากภายนอกโดยมหาอำนาจที่ใช้ระบบการเมืองแนวเผด็จการ  ในขณะนี้ ภาวะสงครามเย็นที่ชาวโลกหลงผิดคิดว่ายุติไปหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2534 จึงกลับมาเลวร้ายไม่ต่างจากเดิม  นั่นหมายความว่า มหาอำนาจกำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้นทั้งในด้านการสร้างศักยภาพทางทหารและด้านการขยายฐานทางเศรษฐกิจและแนวคิดของตน เนื่องจากอำนาจทางทหารจะคงอยู่ไม่ได้หากเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง  การขยายทั้งด้านทหารและด้านเศรษฐกิจต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลยังผลให้ทรัพยากรโลกหมดไปในอัตราเร่งในขณะที่โลกมีทรัพยากรน้อยลงและระบบนิเวศถูกทำลาย

สหรัฐจึงกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งจากภายนอกและภายใน ที่จะนำไปสู่ความล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยเพราะพ่ายแพ้แก่การปกครองแนวเผด็จการ  แต่ก่อนจะถึงวันนั้น สิ่งที่นักวิจารณ์ดังกล่าวมิได้นำมาพิจารณาอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐล่มสลายไปพร้อม ๆ กับมหาอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์กันในการทำสงครามเย็น ทั้งนี้เพราะในการทำสงครามเย็นนั้น มหาอำนาจกำลังทำสงครามกับธรรมชาติอยู่ด้วย  ในภาวะปัจจุบัน เราอาจมองได้ว่าทัพหน้าของธรรมชาติมาถึงแล้วในรูปของไวรัสโควิด-19  อีกไม่นานจะมีทัพตามมาแบบไม่ขาดสายจนกว่าสังคมมนุษย์จะล่มสลาย หรือพ่ายแพ้ 

จริงอยู่ในระหว่างทำสงครามเย็นกัน มหาอำนาจต่างตระหนักว่าตนจำเป็นต้องลดการทำลายระบบนิเวศ  แต่ความตระหนักนี้ยังมีผลเพียงจำกัดในด้านการลดการใช้ทรัพยากร ทั้งนี้เพราะเกือบทุกชาติยังยึดระบบตลาดเสรีในแนวที่มีการแข่งขันและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นพลังขับเคลื่อน  ด้วยเหตุนี้ สหรัฐ หรือระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอาจล่มสลาย แต่มิใช่จากปัจจัยที่นักวิจารณ์คิดเท่านั้น หากจากการใช้ระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีความรู้จักพอทั้งโดยสหรัฐและโดยชาติอื่นด้วย.