โจทย์สนุก...กระตุกความคิด

โจทย์สนุก...กระตุกความคิด

บทความนี้จะยกตัวอย่างเป็นโจทย์ให้ผู้อ่านได้ลองร่วมสนุก กระตุกความคิดในการหาคำตอบ อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการบริหารสมองกันอีกสักครั้ง

บริษัท ก. เป็นบริษัทใหญ่ที่มีบริษัทในเครือประกอบธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือธุรกิจร้านกาแฟ บริษัท ก. ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท ข. ซึ่งเป็นธุรกิจร้านกาแฟ ธุรกิจร้านกาแฟของบริษัท ข. มีหลายสาขา ให้บริการทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า โดยกาแฟที่ธุรกิจร้านกาแฟของบริษัท ข. ให้บริการเป็นกาแฟคุณภาพสูงหรือพรีเมี่ยม (Premium) และในร้านยังให้บริการอาหารแบบง่าย เช่น แซนด์วิช (Sandwich) ครัวซองท์ (Croissant) เบเกอรี่ (Bakery) เค้ก (Cake) เป็นต้น ทั้งนี้รายได้ต่อปีของบริษัท ก. และบริษัท ข. ต่างมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท

ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการรวมธุรกิจ ต้องขอและต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก่อนการรวมธุรกิจ หรือต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. หลังการรวมธุรกิจเสร็จสิ้นภายใน 7 วัน แล้วแต่กรณี

กรณีที่ต้องขออนุญาต คือ กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการรวมธุรกิจแล้วก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ส่วนกรณีที่ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจ คือ กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจทำการรวมธุรกิจแล้วก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ หมายถึง การรวมธุรกิจที่มียอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งหรือของผู้ประกอบธุรกิจที่จะรวมธุรกิจในตลาดในตลาดหนึ่ง รวมกันตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

ดังนั้นจากโจทย์ข้างต้น การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ก. และบริษัท ข. จะต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. ภายใน 7 วัน หลังการควบรวมธุรกิจเสร็จสิ้นอย่างแน่นอน เพราะรายได้ในปีที่ผ่านมาของผู้ขอควบรวมธุรกิจต่างมีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท หากแต่จะต้องขออนุญาตเพื่อการควบรวมธุรกิจจาก กขค. หรือไม่ จำต้องพิจารณาว่า ธุรกิจร้านกาแฟที่ได้รับการควบรวมสำเร็จ เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ แต่คงไม่ใช่ผู้ผูกขาดเป็นแน่แท้ เพราะยังมีธุรกิจร้านกาแฟที่ให้บริการในรูปแบบเดียวกันดำรงอยู่ในตลาด

การพิจารณาว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ จำต้องพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดควบคู่ไปกับรายได้ของธุรกิจภายหลังการควบรวม ซึ่งในการพิจารณาส่วนแบ่งตลาด ก็จำเป็นจะต้องพิจารณาขอบเขตตลาดเป็นอันดับแรก ในกรณีนี้การพิจารณาขอบเขตตลาดอาจแบ่งได้เป็นแต่ละรูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่หนึ่ง ขอบเขตตลาด คือ ร้านกาแฟที่ให้บริการกาแฟคุณภาพสูง รวมถึงมีบริการอาหารแบบง่าย ขอบเขตตลาดในรูปแบบนี้จะรวมร้านกาแฟที่มีเพียง 1 สาขาและร้านกาแฟที่มีมากกว่าหนึ่งสาขา เข้าอยู่ในตลาดเดียวกัน

รูปแบบที่สอง คล้ายกับรูปแบบที่หนึ่ง หากแต่แยกขอบเขตตลาดออกจากกันระหว่าง ร้านกาแฟที่มีเพียง 1 สาขา และร้านกาแฟที่มีมากกว่าหนึ่งสาขา

รูปแบบที่สาม ขอบเขตตลาดคือ ร้านกาแฟทุกประเภท กล่าวคือ กำหนดให้ร้านกาแฟทุกประเภทอยู่ในตลาดเดียวกัน โดยมีเหตุผล 2 ประการ ดังนี้ หนึ่ง การที่กำหนดให้ร้านกาแฟที่บริการกาแฟคุณภาพทั่วไปอยู่ในตลาดเดียวกันกับร้านกาแฟที่บริการกาแฟคุณภาพสูง เพราะแม้กาแฟที่มีคุณภาพทั่วไปจะมีรสชาติและคุณภาพของกาแฟต่างจากกาแฟที่มีคุณภาพสูงก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่า กาแฟทั้งสองคุณภาพเป็นสินค้าที่พอจะใช้ทดแทนกันได้ (Substitution goods)

และสอง การที่กำหนดให้ร้านกาแฟที่บริการอาหารแบบง่ายอยู่ในตลาดเดียวกันกับร้านกาแฟที่บริการอาหารแบบเต็มรูปแบบ (มีบริการอาหารนานาชนิด และมีขั้นตอนกระบวนการในการปรุงอาหารที่ซับซ้อนกว่าอาหารแบบง่าย) เพราะธุรกิจร้านกาแฟที่ทำการควบรวมกันในครั้งนี้ มีสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้าเช่นเดียวกับร้านกาแฟอีกหลายร้านในห้างสรรพสินค้าที่ให้บริการทั้งกาแฟและอาหาร (แม้บางร้านกาแฟจะมีเพียงสาขาเดียวทั่วทั้งประเทศก็ตาม) ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการร้านกาแฟประเภทใดก็ได้

รูปแบบที่สี่ กำหนดขอบเขตตลาดโดยจำแนกร้านกาแฟที่มีเพียง 1 สาขาและร้านกาแฟที่มีมากกว่าหนึ่งสาขาออกจากตลาดเดียวกัน แต่กำหนดให้ร้านกาแฟที่บริการกาแฟคุณภาพทั่วไปอยู่ในตลาดเดียวกันกับร้านกาแฟที่บริการกาแฟคุณภาพสูง โดยมีเหตุผลเช่นเดียวกันกับรูปแบบที่สาม ในขณะเดียวกันจะกำหนดขอบเขตตลาดแยกจากกันระหว่างร้านกาแฟที่บริการอาหารแบบง่ายและร้านกาแฟที่บริการอาหารแบบเต็มรูปแบบ โดยมีเหตุผลว่า ผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคกาแฟและอาหารอย่างจริงจัง จะไม่เลือกใช้บริการร้านกาแฟที่บริการอาหารแบบง่าย กล่าวโดยสรุป ขอบเขตตลาดในรูปแบบนี้คือ ร้านกาแฟที่มีมากกว่าหนึ่งสาขาและเป็นร้านกาแฟที่ให้บริการอาหารแบบง่าย

รูปแบบที่ห้า เป็นไปตามความคิดของผู้อ่านบางท่านที่อาจอยากลองกำหนดขอบเขตตลาดดูบ้าง อาจกล่าวได้ว่า การกำหนดขอบเขตตลาดนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละคดี แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดขอบเขตตลาดควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการและองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อให้การพิจารณาในแต่ละคดีไม่เกิดความผิดพลาด และเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและเที่ยงธรรม!