โลกหยุดโควิด-19 ได้แต่ต้องช่วยกัน

โลกหยุดโควิด-19 ได้แต่ต้องช่วยกัน

เดือนกพ.ผมเขียนบทความ เศรษฐกิจโลก:วัคซีนกับโควิด-19 ใครจะชนะ ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้เป็นการแข่งกันระหว่างการระบาดโควิด-19 กับการเร่งฉีดวัคซีน

ผ่านมาสามเดือนก็เป็นอย่างนั้นจริง เพราะยอมรับกันว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและเป็นกอบเป็นกำ ตราบใดที่การระบาดของโควิด-19  ยังมีอยู่ และหนทางเดียวที่จะชะลอหรือหยุดการระบาดได้คือ การฉีดวัคซีนในทุกพื้นที่ของโลกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เราจึงเห็นการเร่งฉีดวัคซีนตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดทั่วโลกมีการแจกจ่ายวัคซีนรวมแล้วกว่า 2.12 พันล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนแล้ว 458 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของประชากรโลก ขณะเดียวกัน การระบาดแม้ยังมีอยู่ โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 4 แสนคนต่อวันทั่วโลก แต่แนวโน้มอาทิตย์ต่ออาทิตย์ก็เป็นขาลง ซึ่งน่ายินดี แสดงว่าการแข่งกันระหว่างวัคซีนกับการระบาดกำลังเกิดขึ้นจริง แม้ยังไม่ชัดเจนว่าใครกำลังเป็นต่อ

เดือนมีนาคม ในบทความ “อย่าให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบกระต่ายกับเต่า” ผมชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ในระดับประเทศจะมีความแตกต่างกัน จะมีกลุ่มที่เศรษฐกิจฟื้นเร็ว คือ กลุ่มกระต่าย ที่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนที่สามารถทำได้เร็วและเข้าถึงประชากรได้มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรม กับกลุ่มเต่า คือประเทศที่ฟื้นตัวช้า เพราะไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนและกระจายฉีดวัคซีนให้คนในประเทศได้เร็วพอ ซึ่งส่วนใหญ่คือประเทศกำลังพัฒนา  ความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้ทำให้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ไม่เร็วเท่าที่ควร เพราะกลุ่มเต่าที่ฉีดวัคซีนช้าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงที่การระบาดยังมีอยู่ สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกเพราะการระบาดอาจปะทุขึ้นอีก และกระจายไปประเทศอื่นๆ จากผลของการเปิดประเทศ

ล่าสุด ณ สิ้นเดือนเมษายน ประเทศในแอฟริกามีอัตราการฉีดวัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 2 ของประชากร เทียบกับสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีอัตราการฉีดวัคซีนมากกว่าร้อยละ 40 และร้อยละ 20 ของประชากรตามลำดับ ความแตกต่างนี้จะมีอยู่ต่อไปและอาจกว้างขึ้นถ้าไม่มีการแก้ไข  ทำให้ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำจะเป็นพื้นที่เสี่ยงที่การระบาดอาจกลับมาได้ตลอดเวลา เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่ไม่หมดสิ้น

ด้วยเหตุนี้ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนระหว่างประเทศอุตสาหกรรม คือประเทศรวยกับประเทศรายได้น้อยหรือจน จะทำให้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ไม่จบง่ายๆ เพราะการป้องกันขณะนี้ทำกันในระดับประเทศ ซึ่งประเทศจนเสียเปรียบไม่มีทรัพยากร ขณะที่การระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ ดังนั้น ถ้าจะหยุดการระบาดให้ได้เร็วรวมถึงรับมือกับไวรัสตัวใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การหยุดการระบาดต้องเป็นมาตรการหรือความพยายามระดับโลก ที่มาจากความร่วมมือของประเทศทั่วโลกไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างในปัจจุบัน นี่คือโจทย์

ในเรื่องนี้ ล่าสุดดูจะมีคำตอบจากข้อเสนอที่ออกมาในวงวิชาการ ทั้งในระยะสั้นของการหยุดการระบาดที่มีขณะนี้ และระยะยาวคือการร่วมมือเพื่อป้องกันการระบาดในอนาคต

ในบทความ “เราจะหยุดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้อย่างไรภายในเดือนมีนาคมปี 2022” (How to End the COVID-19 Pandemic by March 2022) เขียนโดยเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก มีข้อเสนอว่าการหยุดการระบาดที่มีขณะนี้ภายในต้นปีหน้าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจริงจังระดับโลก โดยเป้าหมายคือ ฉีดวัคซีนระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในทุกประเทศภายในเดือนมีนาคมปีหน้าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งสามารถทำได้เพราะ  หนึ่ง ความสามารถในการผลิตวัคซีนทั่วโลกมีมากพอ ข้อมูลปัจจุบันชี้ว่ากำลังการผลิตทั่วโลกที่มีอยู่สามารถผลิตวัคซีนได้ถึง 11.1 พันล้านโดสในปีนี้ มากพอที่จะฉีดให้มากถึงร้อยละ 75 ของประชากรโลกที่อายุมากกว่า 5 ปี และ สอง ความสามารถในการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชน พิจารณาจากประสบการณ์ในอดีตก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้

ปัญหาอยู่ที่การกระจายวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทรัพยากรที่จะซื้อวัคซีน ซึ่งคำนวณแล้วประเทศเหล่านี้ จะขาดวัคซีนอยู่ประมาณ 340 ล้านชุด (หนึ่งชุดหมายถึงสองเข็ม) คิดเป็นรายจ่ายประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจำนวนวัคซีนที่ขาดนี้อาจเติมเต็มได้ 2 ทาง หนึ่ง ประเทศใหญ่บริจาควัคซีนที่สั่งซื้อไว้เกินให้ประเทศเหล่านี้ สอง ระดมเงินช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศเหล่านี้ซื้อวัคซีน และถ้าสามารถหาเงินได้ บริษัทผลิตวัคซีนก็จะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่จะเตรียมการผลิต

กองทุนระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า วงเงินช่วยเหลือควรเตรียมเผื่อไว้เป็น 50 พันล้านดอลลาร์ ทั้งเพื่อซื้อวัคซีน 4 พันล้านเหรียญและเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์อื่นๆ ให้กับประเทศเหล่านี้ โดยประมาณ 35 พันล้านเหรียญอาจมาจากเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากประเทศอุตสาหกรรมและ 15 พันล้านเหรียญเป็นเงินที่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ที่ได้รับวัคซีนช่วยกันระดมทั้งจากการขอบริจาคและการกู้ยืม ไอเอ็มเอฟมองว่าวงเงิน 50 พันล้านนี้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับเศรษฐกิจโลกทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม และจะช่วยให้จีดีพีโลกเพิ่มขึ้นได้มากถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สำหรับการป้องกันระยะยาว รายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุด ศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ช่วยงานองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ให้ข้อสรุปว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นเรื่องที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่ต้น แต่ที่เกิดขึ้นก็เพราะมีจุดอ่อนทุกจุดในการเตรียมการ (Preparedness) และการตอบโต้การระบาด (Response) นอกจากนี้ ระบบเตือนภัยขององค์การอนามัยโลกก็ทำงานช้าและเบามือเกินไป คือ ไม่หนักแน่น รวมถึงขาดภาวะผู้นำระดับโลกที่จะสนองตอบกับปัญหา ทำให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นช้า จนไม่สามารถหยุดการระบาดที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วได้

รายงานเสนอให้มีการปฏิรูปหลายอย่าง เพื่อการเตรียมตัวที่ดีขึ้นในระดับโลกที่จะตั้งรับกับสถานการณ์การระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น จัดตั้งสภาสาธารณสุขโลกให้เป็นผู้นำด้านความร่วมมือและความรับผิดชอบทางการเมืองในการป้องกันปัญหา มีระบบเฝ้าระวังที่โปร่งใสและให้อำนาจองค์การอนามัยโลกที่จะเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการระบาด รวมถึงส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบสถานการณ์ ส่งเสริมความร่วมมือและเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขระดับประเทศ รวมถึงสรรหาบุคลากรและเงินทุนช่วยเหลือเมื่อเกิดการระบาด เป็นต้น  

การศึกษาเหล่านี้ชี้ว่า การหยุดการระบาดทั่วโลกและป้องกันการระบาดในอนาคตเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการเสียสละของประเทศใหญ่ที่ต้องพร้อมร่วมมือและช่วยเหลือ ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นความมหัศจรรย์ครั้งที่สองของเศรษฐกิจโลกปีนี้ ต่อจากการค้นคว้าและผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ทำได้เร็วอย่างไม่มีใครคาดคิด.