ใช้เงินแบบไหนถึงเรียกว่ามี ‘วินัยทางการคลัง’

ใช้เงินแบบไหนถึงเรียกว่ามี ‘วินัยทางการคลัง’

วินัยทางการคลัง เป็นหนึ่งในประเด็นที่พูดถึงคู่ไปกับการกู้เงินมาใช้จ่ายของรัฐบาล ไม่ได้หมายถึงการขี้เหนียวตระหนี่ไม่ยอมจ่ายเงิน 

งานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การคลังในระดับประเทศและการเปรียบเทียบระหว่างประเทศส่วนใหญ่ให้ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า  การใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  แต่ผลกระทบจะเป็นบวกหรือลบนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ใช้หรือระดับการขาดดุลเพียงอย่างเดียว  ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจ  คุณภาพ  และประสิทธิภาพของการใช้เงินที่สะท้อนระดับ “กึ๋น” ของรัฐบาลก็มีส่วนด้วยเช่นกัน

          เวลาพูดถึงวินัยทางการคลัง  บางคนคิดว่าหมายถึงการที่รัฐบาลต้องรัดเข็มขัด  ลดรายจ่ายไม่ให้งบประมาณขาดดุล  ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะผิดเสียทีเดียว  เพียงแต่ว่า  คำจำกัดความแบบนี้ค่อนข้างคับแคบเกินไป  การจะประเมินว่ารัฐบาลไหนมีวินัยทางการคลังหรือเปล่าต้องเข้าใจถึงลักษณะของรายจ่ายประเภทต่างๆ ของรัฐบาลด้วย 

          โดยปกติแล้ว  นักเศรษฐศาสตร์แบ่งรายจ่ายรัฐบาลออกเป็นสามกลุ่มด้วยกัน  รายจ่ายกลุ่มแรกเป็นรายจ่ายเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน  เช่น  การซื้อปากกาดินสอมาให้ข้าราชการใช้เซ็นเอกสาร  การจ่ายเงินเดือนข้าราชการตอบแทนการที่ข้าราชการให้บริการประชาชนในแต่ละเดือน  รายจ่ายกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเพื่อให้กลไกของรัฐที่มีอยู่สามารถทำงานต่อไปได้ 

รายจ่ายกลุ่มที่สองเป็นรายจ่ายด้านการลงทุน  เช่น  การสร้างถนนหนทาง  ท่าเรือ  สนามบิน  และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ  การลงทุนเหล่านี้ให้ผลตอบแทนกลับมาในรูปของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว  เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว  รายได้ของประชาชนและธุรกิจมีมากขึ้น  รัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีได้ขึ้นตามไปด้วย  หากผลตอบแทนที่ได้จากโครงการลงทุนมีมากกว่าต้นทุนที่ลงไปก็ถือว่ารายจ่ายด้านการลงทุนนั้นมีความคุ้มค่า

          รายจ่ายประเภทที่สามคือการถ่ายโอนเงินโดยมิได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาในระยะยาว  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายด้านสังคม  เช่น  การให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ  การให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  เป็นต้น   

          หากมองในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว  รายจ่ายประเภทสุดท้ายนี้เป็นการโอนเงินจากผู้เสียภาษีไปให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง  นโยบายในเชิงเงินโอนเหล่านี้เป็นความพยามยามของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ  หรือบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน 

          ด้วยเหตุนี้เอง  การจะประเมินว่านโยบายที่เข้ากลุ่มรายจ่ายประเภทที่สามนี้ได้ผลมากน้อยแค่ไหนจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน  เพราะจะคิดแต่ตัวเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้  ผลตอบแทนในเชิงสังคมและจิตวิทยาซึ่งไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นเงินได้ก็ต้องนำมารวมไว้ด้วยเช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม  การจะจำแนกรายจ่ายของรัฐบาลว่าอยู่ในกลุ่มไหนต้องทำทั้งก่อนและหลังการจ่ายเงิน  เพราะอาจมีการกลายพันธุ์ระหว่างทางได้  เช่น บางโครงการจัดขึ้นมาเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านการลงทุนแต่พอเอาเข้าจริงคนใช้เงินกลับเอาไปใช้ซื้อข้าวของเครื่องใช้สำนักงานเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันเสียหมด 

          ยกตัวอย่างเช่น  หากให้เงินช่วยเหลือชุมชนที่ร่วมกันทำวิสาหกิจชุมชนเพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดเงินทุนในช่วงการระบาดของโควิด-19  ช่วยให้คนในหมู่บ้านมีเงินทุนหมุนเวียนและใช้ลงทุนยกระดับศักยภาพ  จนสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกได้ในระยะยาว  ก็ถือว่าโครงการนี้ประสบผล 

หากเอาเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย  แบ่งกันในบรรดาเครือญาติ  แล้วเอาไปซื้อของที่ไม่ก่อรายได้  เช่น  ทีวี ไปเที่ยว ดูหนัง สังสรรค์  เงินก้อนนี้ถือว่าสูญเปล่า

ดังนั้น  การประเมินความคุ้มค่าของการใช้เงินของรัฐต้องดูกันให้ตลอดรอดฝั่ง  เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์  วิธีการบริหารจัดการ  และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งประเมินโดยใช้หลักวิชาการ ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง  หากผลปรากฏออกมาว่าโดยรวมแล้วผลเสียมากว่าผลได้  นโยบายประชานิยมนั้นก็ถือว่าไม่คุ้มค่า  ถ้ารัฐยังดื้อดึงคิดทำต่อไป  จะเป็นการสูญเงินรัฐโดยใช่เหตุ  การใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลโดยไม่ได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาเท่าที่ควรแบบนี้เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ  ถือว่าขาดวินัยทางการคลังอย่างร้ายแรง

ในทางตรงกันข้าม  ถ้าโครงการนั้นก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม   เห็นผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น   คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป  เป็นโครงการซึ่งน่าจะทำต่อ  แต่รัฐกลับตัดสินใจเลิกเสียดื้อๆ  แบบนี้ก็เข้าข่ายถือว่าขาดวินัยทางการคลังเช่นกัน

          วินัยทางการคลังจึงไม่ได้หมายถึงการขี้เหนียวตระหนี่ไม่ยอมจ่ายเงิน  เอาแต่รักษางบประมาณให้สมดุลหรือเกินดุลอย่างเคร่งครัด  วินัยทางการคลังสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเราท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 จึงน่าจะหมายถึง  การรู้จักใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวหาก รู้จักบริหารจัดการเงินให้คุ้มค่า ทั่วถึง  สร้างผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำกลับมาจะได้ไม่เป็นภาระกับประชาชนและประเทศ  แบบนี้ต่างหากถึงจะเรียกว่ารัฐบาลมีวินัยทางการคลังอย่างแท้จริง