ไม่ฉีดวัคซีน จะตกงานไหม?

ไม่ฉีดวัคซีน จะตกงานไหม?

มีประเด็นน่าสนใจเกิดขึ้นมาว่าในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ นายจ้างบังคับให้ลูกจ้างฉีดวัคซีนได้หรือไม่ และลูกจ้างสามารถปฏิเสธได้หรือไม่

บทความโดย พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 ในขณะที่รัฐบาลได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยมีการเชิญชวนจากทางหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงดาราและนักแสดงมากมายได้ออกมารณรงค์ให้ช่วยกันฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิค 19 แต่อย่างไรก็ตามมีประชนชนจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธการเข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องมาจากความกังวลในเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ผลข้างเคียงของวัคซีน ปัญหาสุขภาพ หรือความไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา เป็นต้น

สำหรับในภาคส่วนขององค์กร บริษัท หรือห้างร้านต่าง ๆ มีประเด็นที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาว่าในสถานการณ์เช่นนี้นายจ้างสามารถบังคับให้ลูกจ้างฉีดวัคซีนได้หรือไม่ และลูกจ้างสามารถปฏิเสธเข้ารับการฉีดวัคซีนได้หรือไม่ โดยนายจ้างหรือผู้ประกอบการอาจให้เหตุผลว่าการบังคับให้ลูกจ้างเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้นก็เพื่อความปลอดภัยของตัวลูกจ้างเอง รวมถึงตัวลูกค้าหรือผู้ที่มาติดต่อ จึงเกิดคำถามว่าหากลูกจ้างปฏิเสธการฉีดวัคซีน นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่ และการเลิกจ้างนั้นจะเป็นธรรมหรือไม่

การบังคับให้ลูกจ้างฉีดวัคซีนยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในทางวิชาการ สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลและกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยตรง แต่ในอนาคตอาจจะมีการฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นสู่ศาลได้ เพราะนายจ้างอาจมีความจำเป็นที่จะต้องบังคับให้ลูกจ้างเข้ารับการฉีดวัคฉีดเพื่อส่งเสริมธุรกิจและรักษาผลประโยชน์ของกิจการไว้ จึงอาจนำไปสู่การเลิกจ้างด้วยเหตุที่ลูกจ้างปฏิเสธการฉีดวัคซีน

การเลิกจ้างดังกล่าวจะเป็นธรรมหรือไม่ สิ่งแรกที่จะต้องทำความเข้าใจคือ การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ ต้องคำนึงถึง ‘เหตุ’ ที่นำไปสู่การเลิกจ้างเพียงประการเดียวเท่านั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงการจ่ายเงินค่าชดเชยหรือการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

ดังนั้น หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยมีเหตุอันควร เช่น ลูกจ้างกระทำผิดอาญาร้ายแรงหรือกิจการของนายจ้างประสบภาวะขาดทุนเพราะพิษโควิด 19 นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง ในทางกลับกัน หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรม เช่น ลูกจ้างกระทำผิดเพียงเล็กน้อยหรือฝ่าฝืนต่อคำสั่งของนายจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้นายจ้างได้จ่ายเงินค่าชดเชยถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายก็ตาม ลูกจ้างยังคงมีสิทธิฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงาน เพื่อให้ศาลบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปหรือให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียแทนการรับเข้าทำงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522

การวินิจฉัยคดีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมักจะนำข้อเท็จจริงต่าง ๆ และเหตุผลของนายจ้าง ลูกจ้าง รวมทั้งสถานการณ์ต่างๆ มาประกอบการพิจารณา กรณีการบังคับลูกจ้างฉีดวัคซีนก็เช่นเดียวกัน ควรพิจารณาว่านายจ้างมีอำนาจตามกฎหมายที่จะบังคับได้หรือไม่  ลูกจ้างมีเหตุผลอันสมควรที่จะปฏิเสธการฉีดวัคซีนได้หรือไม่ รวมไปถึงสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ลักษณะของสถานที่ทำงาน สภาพการทำงาน ความรุนแรงของโรคระบาด ความสามารถในการเข้าถึงวัคซีน ความปลอดภัยของวัคซีน และเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายให้สิทธินายจ้างที่จะบังคับให้ลูกจ้างฉีดวัคซีนก็ตาม แต่หากพิจารณาพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 จะพบว่านายจ้างมีหน้าที่จัดการดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานของลูกจ้างมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย ยิ่งไปกว่านั้นยังกำหนดให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยดังกล่าวด้วย

ดังนั้น การฉีดวัคซีนอาจเป็นมาตราการอย่างหนึ่งที่นายจ้างนำมาใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยของลูกจ้าง ลูกค้า หรือผู้ที่มาติดต่อ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนจึงเห็นว่านายจ้างอาจบังคับให้ลูกจ้างฉีดวัคซีนได้

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านายจ้างจะบังคับลูกจ้างให้ฉีดวัคซีนได้ทุกกรณี เพราะลูกจ้างอาจมีความจำเป็นหรือข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้  เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือความเชื่อทางศาสนา หากมีข้อเท็จจริงเช่นนี้และลูกจ้างสามารถพิสูจน์ได้ การบังคับฉีดวัคซีนของนายจ้างย่อมไม่อาจทำได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และการนับถือศาสนาของลูกจ้าง ดังนั้น การเลิกจ้างของนายจ้างอาจไม่เป็นธรรม

นอกจากนั้น ลักษณะหรือประเภทของการทำงานถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา เพราะบางครั้งลูกจ้างอาจจะต้องปฏิบัติหน้าที่กับกลุ่มบุคคลที่มีความเปราะบาง เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือสถานพยาบาล ซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้ย่อมต้องการให้ลูกจ้างเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างแน่นนอน เพราะฉะนั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นายจ้างก็ย่อมบังคับลูกจ้างให้ฉีดวัคซีนได้

แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการจัดการหรือปรับเปลี่ยนสภาพการทำงานของลูกจ้างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การทำงานจากที่บ้าน การเพิ่มมาตรการป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาและยังช่วยป้องกันไม่ให้นายจ้างอาศัยโอกาสนี้ในการเลิกจ้าง แต่อาจต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ควรให้นายจ้างแบกรับภาระมากจนเกินไป

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สถานประกอบการแต่ละแห่งอาจจะมีนโนบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางให้กับนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลควรมีมาตราการทางกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนของลูกจ้างในสถานประกอบการที่ชัดเจนและเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย.