น้ำมันที่ 100 ดอลลาร์?

น้ำมันที่ 100 ดอลลาร์?

นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าจะเป็น Big surprise สำหรับปีนี้ได้แก่เงินเฟ้อ แต่ก็มีหลายสัญญาณที่ทำให้ต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง

นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าจะเป็น Big surprise สำหรับปีนี้ได้แก่เงินเฟ้อ แม้ในปัจจุบันผู้เขียนจะยังเชื่อว่าเงินเฟ้อจะยังเป็นเพียงปัจจัย "ชั่วคราว" (Transitional) โดยจะเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงปีนี้และเริ่มลดลงในระยะต่อไป แต่ก็มีหลายสัญญาณที่ทำให้ผู้เขียนต้องกลับมาทบทวนสมมติฐานของตัวเองอยู่เสมอ

 ในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้เขียนจับตาคือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งสินแร่อุตสาหกรรม โลหะมีค่า ธัญพืชและสินค้าเกษตร แต่สินค้าที่ทำให้ผู้เขียนเบาใจในระดับหนึ่งคือ โภคภัณฑ์เชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดิบ เพราะราคาดูเหมือนมีเสถียรภาพในช่วงที่ผ่านมา และเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในช่วงประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 สาเหตุที่เชื่อดังกล่าวเพราะตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบได้เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับราคาในแบบจำลองของผู้เขียน โดยเชื่อว่าราคาจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนจากความต้องการน้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 94 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงต้นปี เป็น 97 ล้านบาร์เรลในช่วงปลายปี ขณะที่ปริมาณการผลิตทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 93 เป็น 96 ล้านบาร์เรลในช่วงปลายปี ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยประมาณ 44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลช่วงปลายปีที่แล้วเป็นเกือบ 60 ดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้

แต่พัฒนาการสำคัญในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้มุมมองผู้เขียนเริ่มเปลี่ยนไป โดยผลการประชุมของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ ได้ประกาศเพิ่มกำลังการผลิต (Supply) 2 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดือน เม.ย.- ก.ค. ตามที่เคยส่งสัญญาณไว้ แต่ที่น่าสนใจคือ OPEC+ ประกาศเพิ่มคาดการณ์การฟื้นตัวของความต้องการ (Demand) ของน้ำมันโลกอีก 6 ล้านบาร์เรลจากปัจจุบัน และด้วยมุมมองที่เป็นบวกมากของ OPEC+ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ Brent เริ่มค่อย ๆ คืบคลานเกิน 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน

สำหรับผู้เขียนแล้ว การปรับครั้งนี้มีนัยมากไปกว่านั้นมาก เพราะ (1) หากเป็นจริง จะทำให้ Demand น้ำมันโลกไปอยู่ระดับ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน อันเป็นระดับสูงสุดก่อนเกิดวิกฤต COVID (2) หาก Demand อยู่ในระดับดังกล่าว แต่ Supply อยู่ระดับเดิม (ที่ผู้เขียนเคยคาดไว้) จะทำให้เกิด Demand ส่วนเกินถึงกว่า 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหากภาพเป็นเช่นนั้น จากแบบจำลองของผู้เขียน ราคาน้ำมันจะไปอยู่ที่ประมาณ 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (หรือคร่าว ๆ คือแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) จากปัจจุบันที่เฉลี่ย 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 2

 ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ หากนับในช่วงไตรมาส 1 ที่มีข้อมูลล่าสุด Demand และ supply ของน้ำมันดิบโลกไม่ได้เปลี่ยนไปจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วเลย (ลดลงเล็กน้อยด้วยซ้ำ) แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว นั่นบ่งชี้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันถูกผลักดันด้วยสภาพคล่องและแรงเก็งกำไรล้วน ๆ

 เมื่อมีการคาดการณ์ที่น่าตกใจดังกล่าวนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่ต้องตกผลึกให้ได้ว่าสมมติฐานนั้น (ว่า Demand จะเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านบาร์เรล) รวมถึงผลกระทบ (ทำให้ Demand ส่วนเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านบาร์เรล และราคาน้ำมันขึ้นไปเฉียด 100 ดอลลาร์) เป็นไปได้มากแค่ไหน

 ผู้เขียนเชื่อว่ามี 3 ปัจจัยที่จะทำให้มีโอกาสยากที่ราคาน้ำมันจะไปแตะ 100 ดอลลาร์ดังกล่าว

 ปัจจัยแรก ได้แก่ฝั่ง Demand โดยสมมุติฐานนั้นมีจุดอ่อนอยู่ 2 จุด คือ (1) การระบาดของ COVID ระลอกใหม่ในเอเชีย ที่มีความต้องการถึงกว่า 8% ของความต้องการทั่วโลก โดยหากผู้ป่วยในอินเดีย และประเทศในเอเชียอาค์เนย์รวมทั้งไทยยังอยู่ในระดับสูง ก็เป็นการยากที่ความต้องการจะฟื้นตัว และ (2) ความต้องการการเดินทางทางอากาศ ที่ลดน้อยลงหลังการประชุมและทำงาน On-line มีมากขึ้น

 ปัจจัยสอง ได้แก่ฝั่ง Supply เป็นที่น่าคิดว่าผู้ผลิตอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐที่มีการผลิต Shale oil ในระดับสูง จะกลับมาผลิตน้ำมันได้อีกหรือไม่ เพราะแม้ว่าผู้ผลิตต่าง ๆ มองว่าราคาที่ขึ้นครั้งนี้อาจเป็นโค้งสุดท้ายของน้ำมันก่อนที่จะพบจุดจบจากการมาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่หากราคายังขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้ ผู้ผลิต Shale oil รวมถึงผู้ผลิตที่เป็นบริษัทของรัฐอาจจะกลับมาเร่งทำการผลิตน้ำมันอีกครั้ง นอกจากนั้น ในฝั่งของผู้ผลิตรายกลางอย่างอิหร่าน อาจกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตหลังหากกลับมาบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจ โดยอาจปรับเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 ล้านบาร์เรลในช่วงต่อไป

 ปัจจัยสุดท้าย ได้แก่ สภาพคล่องและการเก็งกำไร ในปัจจุบัน หากเปรียบเทียบราคาในปัจจุบันกับราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ณ ปลายปี จะเห็นว่าส่วนต่างเป็นบวก (หรือที่เรียกว่า Backwardation) อยู่ประมาณ 1.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยผู้เขียนมองว่า การที่ตลาดมองภาพเช่นนี้เพราะเชื่อว่า OPEC+ จะบริหารจัดการไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้นไปมาก มิฉะนั้นจะทำให้ผู้ผลิต Shale oil สหรัฐกลับมาผลิตใหม่ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าในที่สุดแล้ว OPEC+ จะพยายามบริหารจัดการให้ราคาอยู่ในระดับนี้เพื่อให้ประเทศในกลุ่มของตนได้รับประโยชน์สูงสุด

 ในทางกลับกัน ในฝั่งของผู้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบอย่างธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเริ่มลดทอนสภาพคล่องหากการเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์เพิ่มมากเกินไปจนกระทบต่อเศรษฐกิจจริงผ่านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น กล่าวโดยง่ายคือ หากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจเป็นไปได้ที่ Fed จะต้องลดทอนมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่อง (QE Tapering) เร็วขึ้น

 กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนยังคงเชื่อว่าในระยะต่อไป Demand ของน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป น้อยกว่าที่ OPEC+ คาด ขณะที่ Supply ก็จะค่อย ๆ ปรับขึ้นเช่นกัน ทำให้ราคาเฉลี่ยจะไม่ต่างจากปัจจุบันมากนัก

 แต่ถ้าผู้เขียนผิด แต่ OPEC+ ถูก คือ Demand ขึ้นรุนแรงต่อเนื่อง ขณะที่ Supply ปรับเพิ่มขึ้นไม่ทัน เป็นไปได้ว่าภาพเศรษฐกิจและการลงทุนจะเปลี่ยนโฉมจากปัจจุบันอย่างมากแน่นอน เพราะจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นต่อเนื่อง (ต่างจากที่ผู้เขียนคาดว่าจะเริ่มชะลอลงในไตรมาส 3) Fed ก็จะต้องส่งสัญญาณทำ QE Tapering รวมถึงอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางให้กลับมาแย่อีกครั้งได้ เช่นเดียวกับการลงทุนที่อาจนำมาซึ่งการปรับฐานครั้งใหญ่

 ราคาน้ำมันเริ่มเป็นขาขึ้นแล้ว คำถามคือ จะกลับไปแตะ 100 ดอลลาร์ได้หรือไม่.