The missing link

The missing link

เคยถามตัวเองไหมครับกรุงเทพมหานครขาดอะไรที่เมืองซึ่งเป็นระดับมหานครควรจะมี ผมตั้งคำถามนี้สิบกว่าปี

กรุงเทพฯ คือมหานครมีประชากรสิบกว่าล้านคน ซึ่งมากกว่าหรือใกล้เคียงกับมหานครระดับโลกอย่างนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส และโตเกียว ผู้อ่านเคยถามตัวเองไหมครับกรุงเทพมหานครขาดอะไรที่เมืองซึ่งเป็นระดับมหานครควรจะมี ผมตั้งคำถามนี้สิบกว่าปี มีโอกาสคุยกับผู้รู้ในสายอาชีพนี้ แต่ไม่เคยได้รับคำตอบจากข้อสงสัย

ความที่ผมมีโอกาสเดินทางไปมหานครระดับโลกทุกเมือง สังเกตว่ามหานครเหล่านั้นจะมี “สถานที่ฟังดนตรีระดับเทพ” เป็นแหล่งรวมพลของศิลปินระดับเซียนมาปล่อยของให้คนที่ชอบเสพดนตรีขั้น “คอทองแดง” แต่กรุงเทพฯ ขาดสิ่งนี้ทำให้คุณภาพชีวิตของ music hard core lover ขาดสีสรรในชีวิต ผมต้องอธิบายก่อนว่า musical club ที่ผมกล่าวข้างต้นไม่ใช่สถานที่แสดงคอนเสิร์ต แต่เป็น club ที่ผู้แสดงและผู้ฟังมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

ความที่ผมเป็นคนชอบฟังดนตรีแบบมากถึงมากที่สุด ผมมีความเห็นว่าการดูคอนเสิร์ตกับการดู live performance ใน musical club ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่าง “ฟ้า” กับ “เหว” เพราะบรรยากาศ คุณภาพเสียง และความใกล้ชิดระหว่างศิลปินกับคนดู มันให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันสิ้นเชิง

ยกตัวอย่าง musical club ระดับโลกคือ Ronnie Scott’s Jazz Club ซึ่งก่อตั้งมา 60 กว่าปีอยู่ที่กลางกรุงลอนดอน แถว Soho สถานที่นี้ถ้าจะเปรียบเทียบคงเหมือนกับ Music Mecca ที่คนมีของต้องมาปล่อยของที่นี่ และนักเสพดนตรีตัวจริงเสียงจริงจะมาดื่มด่ำกับเสียงเพลงของศิลปินขั้นเทพ

Ronnie Scott’s Jazz Club ไม่ใช่เป็นที่แสดงดนตรีเพียงอย่างเดียว ถ้าคุณเดินเข้าไปในสถานที่นี้ สิ่งแรกที่คุณจะพบคือบาร์ เพื่อให้คุณได้ดื่มเครื่องดื่มที่โปรดปรานเป็นการอุ่นเครื่อง พอได้เวลาผู้เข้าชมจะเข้าไปในห้องฟังดนตรีเพื่อรับประทานอาหารมื้อค่ำ เสร็จจากมื้ออาหาร จากนั้นจะเป็นการแสดง live performance ของนักดนตรีและนัักร้อง ประการแรกวงดนตรีไม่ใช่วงดนตรีธรรมดา แต่เป็น Big Band เพื่อให้มีมิติเสียงดนตรีเต็มอรรถรส นักร้องที่มาแสดงที่นี่ก็เป็นระดับประเทศและระดับโลก

นักร้องที่เคยมาแสดงที่นี่แค่เห็นรายชื่อก็ต้องบอกว่าน้ำลายหก ตัวอย่างเช่น Ella Fitzgerral, Nina Simone, Prince, Lady Gaga, Elton John, The Rolling Stones, Jimi Hendrix, Van Morrison, Jeff Beck, Amy Winehouse, Buddy Rich, Mark Knofler ระบบการแสดงของที่นี่เป็นระบบหมุนเวียน ไม่มีนักร้องนักดนตรีประจำ นักดนตรีและนักร้องจะมาแสดงแค่คืนเดียว เป็นการหมุนเวียนระหว่างศิลปินระดับโลกกับศิลปินระดับประเทศ ด้วยวิธีนี้ทำให้แขกที่มาใช้บริการ Ronnie Scott มาด้วยความถี่ที่มากกว่าปกติ เพราะทุกคืนศิลปินที่แสดงจะไม่ซ้ำหน้า

ใครที่จะไปใช้บริการต้องจองล่วงหน้า โดยจะมีตารางล่วงหน้าว่าแต่ละคืนมีศิลปินคนไหนมาแสดง และทราบไหมครับว่าส่วนใหญ่การแสดงเกือบทุกคืนของ Ronnie Scott จะ sold out ด้วยความที่สถานที่นี้เป็นตำนานของเสียงเพลงทำให้ศิลปินระดับโลกเกือบทุกคนถ้ามาที่ลอนดอน ก็จะติดต่อมาขอแสดงที่นี่ และด้วยความฉลาดของ Ronnie Scott พวกเขามี record label ของตัวเอง เพื่อจำหน่าย live performance ของศิลปินที่เป็นระดับเทพ เป็นโอกาสสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

มากไปกว่านั้นในห้องอาหารของ Ronnie Scott ที่มี live performance ระบบเสียงได้รับการออกแบบระดับ Triple A ทั้งเครื่องเสียงและ Acoustic material ที่ติดตั้งรอบห้อง เพื่อให้คุณภาพเสียงไร้ที่ติ ความที่ผมพอมีความรู้บ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณภาพเสียงดนตรีเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบห้อง การติดตั้งอุปกรณ์เครื่องเสียงและ Acoustic material ให้ถูกที่ถูกทาง เพื่อลดเสียงสะท้อน เสียงก้อง และบางจุดจะมีการดูดซับเสียง ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อให้เสียงออกมาเป็นที่หนำใจของนักฟังเพลงระดับ “คอทองแดง” เพราะพวกเขาสามารถแยกแยะความแตกต่างของคุณภาพเสียงระหว่าง “ของดีขั้นเทพ” กับ “ของดีที่เป็นค่าเฉลี่ย” และนี่คือความแตกต่างของการฟังเพลงใน musical club กับการแสดง concert

คำถามที่ผู้อ่านอาจจะมีในใจคือ business model ที่ผมเล่ามาข้างต้นจะมีโอกาสทางธุรกิจในบ้านเราหรือ พูดเป็นภาษาง่ายๆ คือ ดีมานด์ของตลาดมันมีมากพอที่จะรองรับการลงทุนสร้าง musical club อย่างที่ผมได้เล่าข้างต้นหรือไม่

ถ้ามองจากมุมนั้นผมขอตั้งคำถามให้ท่านผู้อ่านลองเดาว่าในกรุงเทพฯ มีเจ้าของรถที่ราคารถมีมูลค่ามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไปสักกี่คน ทุกท่านตอบคำถามในใจ ผมคาดเดาว่ามีนับเป็นหมื่นคนครับ และนี่คือดีมานด์ของตลาดที่มีกำลังซื้อประสบการณ์ทางดนตรีที่ไม่เคยมีมาก่อน คนเหล่านี้นอกจากมีอำนาจซื้อ พวกเขายังมีรสนิยมที่ทำให้ missing link กลายเป็นขุมทองสำหรับใครที่กล้าทำสิ่งที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นไปไม่ได้

เมื่อมองจากด้าน demand side เราต้องมองทางด้าน supply side ว่าประเด็นที่ผมเล่ามาข้างต้นมีความเป็นไปได้หรือเปล่า ผมกล้าฟันธงว่ามีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน ขอเริ่มต้นอย่างนี้นะครับว่าทุกวันนี้ศิลปินของค่ายเพลงระดับประเทศตอนนี้กลายเป็น non performing asset ของค่ายเพลง ยกตัวอย่างง่ายๆ ศิลปินเพลงระดับประเทศของค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ที่มีเป็นจำนวนมากและศิลปินคือคนที่มีของ จึงต้องการหาที่ปล่อยของ พวกเขาอยากได้เวทีแสดงความสามารถ ไม่ว่าพวกเขาจะอายุสักเท่าไร

แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้ทุกวันนี้ไม่มีที่เหมาะสมในการแสดงออก ถ้าพวกเขาจะแสดงคอนเสิร์ต ปีหนึ่งจะแสดงได้อย่างมากก็เพียงครั้งเดียว ส่วน output ทางด้านอื่นที่จะสร้างรายได้ให้พวกเขา ตอนนี้โอกาสมันน้อยลง และนี่คือโอกาสของศิลปินระดับประเทศเหล่านี้ที่จะได้ทั้ง “ปล่อยฝีมือ” แล้วสร้างรายได้ให้กับตัวเอง เป็นความสุขของทั้งคนฟังที่รักดนตรีกับศิลปินใช้ missing link มาเชี่อมต่อกัน แล้วเกิด white space ทางธุรกิจที่ผู้ลงทุนได้ทั้งเงินและกล่อง

ถ้าโมเดลนี้เป็นไปได้ ผมจะได้มีโอกาสฟังดนตรีจากการแสดงของคุณปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ฟังเสียงร้องพี่เป๋า นักร้องนำของวงนั่งเล่น ชื่นชมกับ live performance ของวงดนตรีอย่าง “นูโว” ขอเพิ่มเติมว่าการแสดงของศิลปินเหล่านี้้ต้องใช้ big band ที่มีเครื่องดนตรีอย่างน้อย 8-10 ชิ้น ทั้งเครื่องเป่าหรือวงออร์เคสตราที่เล่นเป็น back up band เพื่อให้ประสบการณ์ในการสร้างเสียงเพลงในโมเดลนี้เป็นประสบการณ์ที่หาฟังที่ไหนไม่ได้

ผมคิดไปไกลถึงว่า musical club ควรมีสถานที่ตั้งที่ไหนถึงจะเหมาะสม จากมุมที่ผมคิดสิ่งที่ขายคือ new & total experience เป็นการสร้างประสบการณ์กับทุกโสตประสาทของคนรักเสียงเพลง ผมคิดว่าสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดคือชั้นบนสุดของตึกที่อยู่บนถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นถนนที่สวยที่สุดของกรุงเทพฯ ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสกับรสชาติอาหารที่ถูกปาก เสียงดนตรีที่ออกแบบ re-arrage อย่างมีเอกลักษณ์ ไร้ที่ติ สุุดท้ายคือวิวของถนนราชดำเนินกลาง

ถ้าจะเปรียบเทียบถนนนี้คือ Champs-Élysées ของกรุงเทพฯ แล้วมีฉากหลังที่เป็นแสงสีที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นวิวของวัดพระแก้วหรือพระบรมมหาราชวัง

สุดท้ายใครก็แล้วแต่ที่สนใจที่จะลงทุนใน missing link คุณต้องถามตัวเองว่า Why not ไม่ใช่ถามว่า Why