ปรับตัว-ไปต่อ Constructive Disruption

ปรับตัว-ไปต่อ Constructive Disruption

ความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้บริหารองค์กรหลายท่านถึงกับบอกว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ อาจจะเทียบเท่าได้กับการเกิดสงครามโลก ครั้งที่3

ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือเป็นสงครามที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะจบลงเมื่อไร เพราะสถานการณ์และแนวรบมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถึงแม้นักวิเคราะห์จะพยากรณ์ว่าหลังสงครามโรคระบาดสิ้นสุดลง เศรษฐกิจจะกลับมาบูมอีกครั้งเช่นเดียวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็วภายหลังจากการระบาดของไข้หวัดสเปนเมื่อร้อยปีที่แล้ว แต่คนในวงการธุรกิจส่วนใหญ่ก็ยังมองอนาคตที่เอนเอียงไปทางลบ “Worst-case scenario” มากกว่าการวาดฝันว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับมาดีเหมือนเดิม

 รายงานผลสำรวจล่าสุดของบริษัท Deloitte ที่ทำการสำรวจความเห็นของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรชั้นนำระดับโลกเกือบ 400 บริษัท พบว่ายังมีกลุ่มธุรกิจที่มองภาพอนาคตข้างหน้าสดใสกว่าเดิมและมองเห็นโอกาสภายหลังจากวิกฤติโควิด โดยกลุ่มธุรกิจเหล่านั้นคือ 1) กลุ่มธุรกิจที่มีรายได้เกินกว่า 10% มาจากช่องทางออนไลน์ 2) กลุ่มธุรกิจที่ให้บริการด้านเทคโนโลยี และ 3) กลุ่มธุรกิจที่เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ (Big Conglomerate) ที่มีธุรกิจอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม

           จากผลของการสำรวจ คงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจกลุ่มที่ 1 และ กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มที่สามารถมองอนาคตเป็นโอกาส แต่ทำไมองค์กรขนาดใหญ่ที่เป็น Big Conglomerate ถึงยังมองอนาคตข้างหน้าสดใส ทั้ง ๆที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดในช่วงโควิด  คำตอบไม่ได้อยู่ที่ขนาดหรือทรัพยากรที่องค์กรขนาดใหญ่เหล่านั้นมี

 แต่ความจริงก็คือ กลุ่มบริษัทเหล่านี้ได้เริ่มขับเคลื่อนแผนงานเพื่อทำให้เกิด “Constructive Disruption” หรืออีกนัยหนึ่งการปฏิรูปอย่างสร้างสรรค์การภายในองค์กรมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว สถานการณ์โควิดจึงกลับกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้การปรับเปลี่ยนแผนงานและโมเดลธุรกิจใหม่ในองค์กรเกิดได้เร็วขึ้น ธุรกิจค้าปลีกและอุปโภค disrupt ตัวเองสู่บริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดาต้า ธุรกิจสายการบินปรับตัวสู่การเป็น Tech Company และ Fintech  ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตหันมาบุกตลาด B2C  และ Digital Services

           บนเส้นทางของปฏิรูปสิ่งเดิมเพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ สิ่งที่ทุกบริษัทต้องทำควบคู่กันไปก็คือ Change-Adapt-Invest เปลี่ยน Mindsetและเป้าหมายขององค์กร ปรับโครงสร้างและวิถีการทำงานรวมถึงมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ และที่สำคัญต้องลงทุนกับ skill set ใหม่และพาร์ทเนอร์ใหม่

สำหรับเส้นทางที่จะนำไปสู่ Constructive Disruption แผนงานหลักที่จะขับเคลื่อนองค์กรและตอบโจทย์อนาคตก็คือ 1) การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรในด้าน Digital Interface  2) การทรานส์ฟอร์มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าและโมเดลธุรกิจ 3) นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่อยู่นอกกรอบธุรกิจเดิม 4) มองหาพาร์ทเนอร์ใหม่ที่อยู่นอกเครือข่ายธุรกิจเดิม 5) ลงทุนด้าน Automation เพื่อลดต้นทุน ลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพ 6) ปรับปรุงโครงสร้างระบบข้อมูลเพื่อทำให้ดาต้าที่มีสามารถนำมาใช้งานได้แบบ end-to-end มีความรวดเร็ว แม่นยำ และ Insights-driven

           ในทุกวิกฤติมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีความพร้อม การเดินหน้าความเปลี่ยนแปลงคือการดึงเอาทรัพยากรทั้งหมดที่มีในวันนี้มาวิเคราะห์และประเมินใหม่ เพื่อแสวงหาทิศทางที่ชัดเจนและเลือกเส้นทางที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดและก้าวไปข้างหน้าได้แบบยั่งยืน.