ลงทุนในภาวะ COVID ไม่ง่ายแต่ทางเลือกยังหลากหลาย

ลงทุนในภาวะ COVID ไม่ง่ายแต่ทางเลือกยังหลากหลาย

ผ่านมาเกือบจะครึ่งปี สถานการณ์โควิดที่เราเฝ้าคอยว่าเมื่อไรจะคลี่คลาย  ได้เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐฯ , ยุโรปและจีน

นั่นหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยกลับมา แต่ตรงกันข้ามกับหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยที่ยังต่อสู้อย่างหนักกับการระบาดรอบใหม่  ในบ้านเราเจอกับการระบาดรอบที่ 3 ที่รุนแรงนั่นหมายถึงเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจที่ต้องรับมือต่อเนื่องจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา

แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการทั้งการเงินการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่เราก็ได้คงจะเห็นกันแล้วว่ากุญแจดอกเดียวที่ปลอดล็อกวิกฤตได้คือ วัคซีน ที่ต้องเข้าสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงรวดเร็ว  เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเกิดความเสี่ยงในการเดินต่อไปได้ยากมากขึ้น กล่าวคือ ปัจจุบันเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเหลืออยู่หลักๆ เพียง 3 ตัว และจะมีกำลังขับเคลื่อนต่อไปได้แค่ไหน นี่คือเรื่องที่น่าจับตามอง       

เครื่องจักรตัวแรก คือ การบริโภคในประเทศ ในปัจจุบันการบริโภคภาคเอกชนอยู่ระดับไม่สูง และยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่มาก ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่มีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย การบริโภคของประชากรในประเทศที่จะกลับฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพนั้นจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ขณะที่การบริโภคจากต่างประเทศในรูปแบบของการท่องเที่ยวนั้นมีแนวโน้มที่จะย่ำแย่ต่อไปอีกประมาณ 3-5 ปี   

2.การลงทุนในประเทศ นอกจากภาคอุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์ , เหล็ก ,ยาง , อิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังมีความสามารถเติบโตได้และ ที่น่าจับตามองมากคือธุรกิจรายย่อย (SME) ที่รัฐบาลพยายามอัดฉีดเงินเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจะกลับมาได้เพียงใด อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศนั้นยังฟื้นตัวได้ยากหากการฉีดวัคซีนยังคงขาดแคลนและการพักชำระหนี้ของธนาคารกลับมาเป็นประเด็นกดดันการลงทุน   

กลุ่มที่ 3 คือ การส่งออก ยังเป็นกลุ่มที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากการผลิตรถยนต์ที่เริ่มกลับมามีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้มาก ประกอบค่าเงินบาทที่เริ่มมีสัญญาณพลิกฟื้นกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง ทำให้การส่งออกจะเป็นตัวหนุนสำคัญให้เศรษฐกิจในปัจจุบันมีแรงขับเคลื่อนได้

ดังนั้นเวลานี้ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะดำเนินมาตรการเรื่องสาธารณสุขโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้รวดเร็วและทั่วถึงเมื่อใดเพราะวัคซีคแทบจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจทุกส่วน

โดยภาพรวมแม้เศรษฐกิจมีประเด็นให้น่ากังวลไม่น้อย แต่อีกด้านการลงทุนในสินทรัพย์ ถือว่ายังอยู่ในภาวะปกติ ตัวเลขเงินฝากและการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่นหุ้นและกองทุนรวม ยังไม่เห็นสัญญาณการเทขายที่รุนแรงอย่างมีนัยใดๆ อีกทั้งยังมีปัจจัยสนุนให้นักลงทุนได้หาจังหวะลงทุนและวางแผนเลือกถือสินทรัพย์กันได้อยู่

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงและความผันผวนยังมีอยู่ไม่น้อยนะครับ  KTBST SEC แนะนำว่า ในช่วงเดือน มิ.ย. ควรเลือกสินทรัพย์ที่มองเห็นปัจจัยบวกและมีจังหวะเข้าลงทุนที่ชัดเจน ควรหาทำกำไรเมื่อราคาปรับขึ้นไปสูงและเลือกลงทุนระยะยาวบ้างในบางสินทรัพย์เช่นเดียวกัน

ปัจจัยที่มีผลต่อราคาสินทรัพย์ในเวลานี้คือเรื่องเงินเฟ้อของสหรัฐฯและในยุโรปที่มีเริ่มส่งสัญญาณขยับขึ้นเรื่อยๆ จากการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกตอนนี้สูงขึ้นและมีความผันผวนจากแรงขายเทขายเพื่อสินทรัพย์ลงทุน  

ดังนั้นการลงทุนในประเทศ KTBST SEC แนะนำลงทุนในสัดส่วน 17-25 %  เน้นกลุ่มหุ้นที่ได้มีแรงซื้อและมีปัจจัยบวกชัดเจน ได้แก่ กลุ่มส่งออก , กลุ่มพลังงานรวมถึงกลุ่มอุปโภคบริโภค  ขณะที่การลงทุนต่างประเทศแนะนำลงทุนประมาณ 35% - 40%  ในตลาดหุ้นยุโรป , จีนและสหรัฐฯ  อีกส่วนแนะนำกระจายลงทุนในกลุ่ม ตราสารหนี้ภาคเอกชนราว 20% - 30% ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมไปถึงสินทรัพย์ทางเลือกอย่างอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศที่มีรายได้เติบโตสม่ำเสมอ แนะนำประมาณ 5-10%  

ต้องบอกว่าไม่ง่ายนักสำหรับการบริหารการเงินและการลงทุนในภาวะวิกฤตที่มีความเสี่ยงต่อการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์และต่อสุขภาพของเราเอง อีกทั้งกินระยะเวลานานจนคาดเดาจุดจบได้ยาก แต่ก็มีโอกาสมากมายเช่นกัน เพียงแต่ต้องระมัดระวังมากขึ้น  ซึ่งสถานการณ์ที่ไม่เอื้อต่อการหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง การคาดหวังผลตอบแทนที่ลดลงมาแต่ความเสี่ยงต่ำลง ด้วยการจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระดับ 5-7%  ดังที่ผมแนะนำไปน่าเป็นการลงทุนเหมาะสมจนกว่าจะเห็นสัญญาณของสถานการณ์ดีขึ้น

สุดท้ายขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุน มีสุขภาพที่แข็งแรง KTBST SEC จะมาอัพเดทกลยุทธ์ลงทุนและมุมมองเศรษฐกิจเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการลงทุนในตอนต่อไปครับ 

นักลงทุนสามารถติดตามข่าวสารบทวิเคราะห์การลงทุนจาก KTBST SEC  ได้ที่ “มุมมองการลงทุน” ทางเว็บไซด์ www.ktbst.co.th