Dow Jones Industrial Average Indexดัชนีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

Dow Jones Industrial Average Indexดัชนีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

เชื่อว่าถ้าเอ่ยถึง “ดัชนี Dow Jones” ของหุ้นสหรัฐอเมริกา คนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นชินและได้ยินผ่านหูกันเป็นประจำเวลาติดตามข่าวเศรษฐกิจ

ซึ่งจากข้อมูลของ Google Trend ก็พบว่าเป็นดัชนีหุ้นต่างประเทศ ที่มีผู้ลงทุนไทยติดตามมากที่สุดอีกด้วย แต่หลายท่านอาจจะยังไม่เคยทราบประวัติความเป็นมาว่า ดัชนี Dow Jones หรือที่มีชื่อเต็มว่า Dow Jones Industrial Average (DJIA) เป็นดัชนีทางการเงินที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังมีการเผยแพร่ในปัจจุบัน โดยอยู่คู่กับโลกการเงินมายาวนานกว่าหนึ่งร้อยปี และเพิ่งจะมีอายุครบ 125 ปีในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปในอดีตของ DJIA ราวปี ค.ศ.1883 Charles Dow และ Edward Jones ได้ตั้งสำนักข่าวของตัวเอง ในประเทศสหรัฐอเมริกาและได้เริ่มเผยแพร่ดัชนีหุ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ Dow Jones Average (“DJA”) ที่นำมาจากชื่อของผู้ก่อตั้งทั้งสองท่าน โดยดัชนี DJA นั้นทำการคำนวณจากหุ้นที่เกี่ยวกับการรถไฟที่เป็นธุรกิจสำคัญของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นที่อยู่ในช่วงสร้างประเทศใหม่ จำนวน 9 บริษัทและหุ้นอื่นๆ อีก 2 บริษัท ซึ่งดัชนี DJA ได้ทำให้สิ่งพิมพ์ของสำนักข่าวนี้ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลทางการเงินที่สำคัญสำหรับผู้ลงทุน จนภายหลังได้กลายมาเป็นหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal (“WSJ”) ที่หลายท่านน่าจะคุ้นเคยในทุกวันนี้

หลังจากที่มีการเผยแพร่ดัชนี DJA ไปแล้วระยะหนึ่ง สหรัฐอเมริกาได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ บริษัทจำนวนมากล้มละลายและเกิดการควบรวมกิจการในหลายบริษัท ทำให้ดัชนี DJA ไม่สามารถสะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จึงนำไปสู่การพัฒนาดัชนีใหม่ นั่นก็คือ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ หรือ DJIA ซึ่งถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 1896 โดยดัชนี DJIA ที่เปิดตัวในตอนนั้น ประกอบไปด้วยหุ้น 12 บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเดินรถไฟ เช่น ยาง บุหรี่ น้ำตาล รวมถึงบริษัท General Electric (“GE”) อีกด้วย ทั้งนี้ ดัชนี DJIA ได้รับการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มจำนวนหุ้นจาก 12 บริษัทมาเป็น 30 บริษัทในปี 1928 และมีการเปลี่ยนรายชื่อบริษัทที่เป็นองค์ประกอบเข้าออกจากดัชนีตามความเหมาะสมโดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ในปัจจุบันหุ้นที่เป็นองค์ประกอบเริ่มต้นทั้ง 12 บริษัทได้ถูกถอดออกจากดัชนี DJIA แล้ว และมีบริษัท GE เพียงบริษัทเดียวที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ได้ล้มละลายหรือถูกควบรวมกิจการไปแล้วทั้งหมด (ข้อมูลจาก S&P Global)

ปัจจุบันดัชนี DJIA อยู่ที่ระดับประมาณ 34,400 จุด โดยมีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ราว 10.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ขณะที่ SET50 Index มีมูลค่าตลาดราว 0.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งรายชื่อบริษัทในดัชนี DJIA ส่วนใหญ่เป็นหุ้น Blue Chip ในกลุ่มเทคโนโลยีและการเงินที่สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อาทิ Microsoft, Goldman Sachs, Nike รวมถึง Apple ที่เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าตลาดราว 20% ของดัชนี โดยมีบริษัท Saleforce.com ที่เป็นบริษัทผู้พัฒนา Software เป็นสมาชิกรายล่าสุดที่เพิ่งจะได้เข้ามาอยู่ในดัชนี DJIA เมื่อเดือนสิงหาคม 2020

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ DJIA คำนวณด้วยวิธี Price Weighted Index พูดง่ายๆคือค่าเฉลี่ยที่เกิดจากการคำนวณโดยรวมราคาหุ้นทุกตัวในดัชนีแล้วหารด้วยตัวเลขหนึ่งที่เรียกว่า divisor ซึ่งจะเป็นตัวเลขมีการปรับสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงกับหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี   ซึ่งจากโครงสร้างวิธีการคำนวณจะเห็นได้ว่าในดัชนีประเภทนี้ การเปลี่ยนแปลงของหุ้นที่มีราคาสูงจะมีผลกระทบกับดัชนีมากกว่า ไม่ใช่ขนาดของบริษัท ซึ่งแนวคิดนี้จะต่างจากดัชนีหุ้นส่วนใหญ่ เช่น S&P 500 เป็นต้น รวมถึงดัชนี SET Index ของประเทศไทยที่เป็นคำนวณด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap Weight) ที่จะให้น้ำหนักกับบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากกว่า  ข้อสังเกตหนึ่ง จากแนวคิดการคำนวณดัชนีแบบ DJIA นั้น จะเห็นว่าหุ้น Blue Chip บางตัวที่แม้ว่าจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจได้ดีแต่มีราคาต่อหุ้นสูง มีแนวโน้มไม่ถูกนำเข้ามารวมอยู่ในดัชนี เช่น หุ้น Berkshire Hathaway A ของ Warren Buffet ที่มีราคากว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของหุ้นดังกล่าวเพียงหุ้นเดียวจะมีผลต่อดัชนีอย่างมาก  

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับดัชนีหุ้น นั่นก็เพราะว่า ดัชนีหุ้นสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดสภาวะของตลาดหุ้นและเป็นตัวชี้นำ (Leading Indicator) ของสภาพเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ การเผยแพร่ดัชนีหุ้นยังเปิดโอกาสให้บริษัททางการเงินสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่อ้างอิงกับดัชนีในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม, ETF หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในการเลือกเครื่องมือลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง โดยในปัจจุบัน ผู้ลงทุนไทยที่สนใจลงทุนหุ้นประเทศสหรัฐอเมริกา ก็สามารถเลือกลงทุนผ่านตลาดทุนไทยได้ในหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการซื้อกองทุนรวม หรือตราสารทางการเงินอื่นๆ เช่น Derivative Warrants หรือ DW ที่อ้างอิงกับดัชนี DJIA  โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.settrade.com