เร่งฉีดวัคซีนสร้าง 'ภูมิคุ้มกันหมู่'

เร่งฉีดวัคซีนสร้าง 'ภูมิคุ้มกันหมู่'

การสร้าง 'ภูมิคุ้มกันหมู่' ซึ่งจะเป็น 'อาวุธ' สำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจของไทย

สวัสดีผู้อ่านคอลัมน์ Think Forward ทุกท่านครับ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ณ เวลานี้ยังรุนแรงต่อเนื่อง ตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดตกวันละ 2-3 พันคน ยอดรวมทะลุ 1 แสนกว่ารายแล้ว และยังไม่มีทีท่าตัวเลขต่างๆ จะลดลง  เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้เน้นย้ำเสมอมา    คือต้องเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ซึ่งจะเป็น “อาวุธ” สำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจของไทย

ล่าสุดมีข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หากจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดสในปีนี้ จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไทยได้ประมาณเดือน ม.ค. 2565 จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 2% และปี 2565 ขยายตัว 4.7% แต่ถ้าจัดหาและกระจายวัคซีนตามแผนเดิม 64.6 ล้านโดส จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในเดือนกันยายน 2565 เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวเพียง 1.5% ปี 2565 ขยายตัวที่ 2.8% แต่ถ้าช้ากว่านี้ กว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต้องรอถึงเดือนธันวาคม 2565 เลยทีเดียว จะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพียง 1% และปี 2565 ขยายตัวเพียงแค่ 1.1% เท่านั้น

 แต่ตอนนี้ยอมรับว่า ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน เริ่มมีความกังวลถึงภาวะการขาดแคลนวัคซีนระยะสั้นที่จะฉีดให้ประชาชน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากมีกระแสข่าวว่าหลายโรงพยาบาลเลื่อนการฉีดวัคซีนยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้าออกไป ซึ่งเวลานี้ประชาชนเริ่มตื่นตัวและมีความต้องการฉีดวัคซีนมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายนที่รัฐบาลตั้งเป้าฉีดให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านโดสอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า ภาครัฐต้องเร่งบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการจัดหาวัคซีนภาพรวมที่รัฐวางเป้าหมายเพื่อฉีด “สร้างภูมิคุ้มกันหมู่” ให้กับประชาชน 150 ล้านโดส  

               สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาล โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการให้เห็นผลโดยเร็วที่สุด คือ เร่งอนุมัติให้บริษัทเอกชน และโรงพยาบาลเอกชน ที่ยื่นขอนำเข้าวัคซีนทางเลือกอื่นๆ เข้ามาในประเทศให้ได้โดยเร็ว เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีไวรัสโควิด-19 ครบทุกสายพันธุ์แล้ว ทั้งจีน อังกฤษ อินเดีย แอฟริกาใต้ แต่วัคซีนยังมีไม่กี่ยี่ห้อ ซึ่งความจริงแล้วต้องมีความหลากหลาย เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคสายพันธุ์ต่างๆ ให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

          อีกประเด็นที่น่าสนใจล่าสุด ผมและคณะกรรมการของ ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับคุณสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงแนวทางการฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งทางคุณสุชาติได้เสนอแผนฉีดระยะแรกฉีดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 6 ล้านโดส แบ่งเป็นเดือนมิถุนายน 1.5 ล้านโดส ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวังเข้มข้นในเดือนกรกฎาคม จำนวน 4.5 ล้านโดส และในพื้นที่ 9 จังหวัดเศรษฐกิจอื่นๆ จำนวน 3 ล้านโดส

         ถ้าทำได้จริงจะเป็นเรื่องดีที่ทำให้มีพนักงานที่อยู่ตามบริษัทและโรงงานต่างๆ ได้ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะปัจจุบันมีแรงงานติดโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามโรงงานต่างๆ จึงอยากให้สถานประกอบการและโรงงานให้ความสำคัญในการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด   โดยให้ปฏิบัติตามคู่มือการจัดการ COVID-19 สำหรับสถานประกอบกิจการ ที่จัดทำโดยสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) ซึ่งจะบอกแนวทางการปฏิบัติทั้งของนายจ้าง ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้าง ต้องทำอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถโหลดได้ที่เว็บไซด์ ส.อ.ท. www.fti.or.th    

ท้ายที่สุดนี้ ผมยังเชื่อมั่นว่า ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังและยั่งยืน สถานการณ์ทุกอย่างจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นแน่นอน หากท่านผู้อ่านหรือนักธุรกิจท่านใดอยากทราบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ที่ @ftithailand หรือทักเข้ามาได้ที่เฟซบุ๊กของผมตามลิงก์นี้ได้เลยครับ www.facebook.com/ftichairman