แก้ปัญหาโรควิตกจริตด้วย ‘ปรัชญาสโตอิก’

แก้ปัญหาโรควิตกจริตด้วย ‘ปรัชญาสโตอิก’

โรคระบาดโควิด ทำให้คนวิตกกังวลหรือวิตกจริตอยู่ลึกๆ ทางแก้ไขทางหนึ่งคือควรอ่านหนังสือแนวจิตวิทยาและปรัชญา เช่น ปรัชญาสโตอิกของกรีกยุคโบราณ

ปรัชญาสโตอิก เน้นการฝึกควบคุมอารมณ์ให้สงบนิ่ง ไม่ดีใจหรือเสียใจมากไปต่อสิ่งภายนอกที่มากระทบ ซึ่งเป็นแนวคิดคล้าย “อุเบกขา” ในปรัชญาพุทธ โดยมองว่า มนุษย์ควรเชื่อมั่นว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลหรือดีที่สุดแล้ว มนุษย์ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเราเอง ไม่มีอำนาจและไม่อาจควบคุมได้ และมนุษย์ควรยอมรับสถานการณ์อย่างใจสงบ และเลือกเปลี่ยนแปลงเฉพาะสิ่งที่เรามีอำนาจและควบคุมได้ด้วยตัวของเราเอง เช่น การตีความสถานการณ์ การควบคุมความคิดจิตใจอารมณ์ของตัวเราเอง

ธรรมชาติถูกปกครองด้วยหลักการที่มีเหตุผล ทุกสิ่งเกิดขึ้นมีเหตุผลในตัวของมันเอง มนุษย์เราผู้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของจักรวาล ควรมีทัศนคติในการยอมรับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ทั้งเรื่องทุกข์โศกส่วนตัว หรือแม้แต่ความตายที่จะต้องมาถึงทุกคนในวันใดวันหนึ่งด้วยจิตใจที่สงบไม่หวั่นไหว โดยเฉพาะเรื่องที่มาจากปัจจัยภายนอก ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของตัวเราเอง(ที่จะไปกำหนดให้เป็นไปดั่งใจเราได้)

ปรัชญาสโตอิกมองว่ามนุษย์ซึ่งมีสติหรือจิตวิญญาณที่รู้จักพิจารณาเองได้ สามารถตอบสนองทางปัญญาที่ต่างจากสัตว์อื่นได้ ชีวิตที่ดีสำหรับมนุษย์ นอกจากสนองความต้องการทางร่างกายที่จำเป็นได้แล้ว ยังหมายถึงความพอใจ ความสงบทางจิตใจ การรู้จักควบคุมอารมณ์ด้านลบและสร้างอารมณ์ด้านบวก การรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุผลของมนุษย์จะช่วยให้เรารู้จักเลือกสิ่งที่เข้ากับธรรมชาติที่แท้จริงของเราได้มากกว่าสัตว์อื่น

 การที่อารมณ์ของเรามักหวั่นไหวไปกับเรื่องดีและเรื่องร้าย เพราะอารมณ์ของเราตีความผิดพลาดไม่ถูกต้อง เช่นการที่คนคนหนึ่งเกิดความโลภ ก็เนื่องจากเขาตีความว่าเงินทองคือความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่เขาจะต้องไขว่คว้าหามาให้ได้ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม แต่นั่นก็คือการดีความที่ผิดพลาด เพราะความสุขที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการเข้าใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเราควรทำตัวให้ประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น พอใจสิ่งที่เรามี ไม่ระเบิดอารมณ์ลิงโลดเกินไปหรือโศกเศร้าเกินไปกับเรื่องภายนอกที่มากระทบเรา ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องเหล่านี้ล้วนอยู่นอกเหนืออำนาจหรือความสามารถในการเลือกของเรา สิ่งที่เรามีอำนาจในการควบคุมหรือเลือกได้มีเพียงแค่ทัศนคติ ค่านิยม อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเราเอง

ดังนั้น เราจึงควรตีความและยอมรับสิ่งต่างๆ ด้วยจิตใจที่สงบ ไม่ยินดียินร้ายมากเกิน ซึ่งเป็นการทำด้วยความรู้ความเข้าใจว่า นี่คือการทำสิ่งที่สอดคล้องกับเหตุผลของธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เราได้รับความสุขความพอใจมากกว่าที่จะทุกข์

สโตอิกสอนให้คนเราคิดอย่างชัดเจน คิดอย่างเป็นกลางๆ (ภววิสัย) คิดอย่างมีเหตุผลเพื่อจะได้หลุดพันเป็นอิสระจากความยากลำบาก (ความทุกข์) ในแง่นี้ สโตอิกมีแนวคิดคล้ายปรัชญาพุทธ ซึ่งมองว่าความทุกข์มาจากตัณหา ความอยากได้ของคนแบบเกินความต้องการที่จำเป็น การจะปลดปล่อยความทุกข์ได้ ต้องรู้จักการตั้งสติใคร่ครวญและการทำสิ่งที่ดีมีคุณธรรม รวมทั้งการมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ปรัชญาสโตอิกเน้นว่ามนุษย์เราควรดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับจักรวาลที่มีเหตุผลและสมบูรณ์แบบ นั่นก็คือการใช้ชีวิตอย่างมี คุณธรรม  (Vitue) การทำสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำเราไปสู่การมีชีวิตที่ดีมีความสุขทางจิตใจ คุณธรรมที่สำคัญ 4 อย่าง คือปัญญาการไตร่ตรอง (การรู้ว่าอะไรควรทำ, ไม่ควรทำ) ความกล้าหาญ ซึ่งรวมทั้งความอดทน ความมั่นใจ, การทำงานตามหน้าที่ ความยุติธรรม และความอดกลั้น (ความมีวินัยในตนเอง, การดำเนินทางสายกลาง)

คุณธรรมพื้นฐานทั้ง 4 นี้จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีหรือชีวิตที่ความสุขแบบสงบส่วนเรื่องอื่นๆ ที่คนทั่วไปมองว่าดีหรือทำให้เกิดความสุข เช่น ชื่อเสียง ความมั่งคั่ง นักปรัชญาสโตอิกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจนับว่าดีแบบที่คนทั่วไปเข้าใจได้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีความหมายอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างแท้จริง (Indifferent) เพราะคนมีชื่อเสียงหรือร่ำรวย อาจจะใช้ปัจจัยเหล่านี้ไปทำสิ่งที่ไม่ดีหรือทำให้เกิดทุกข์ต่อทั้งตัวเองและคนอื่นก็เป็นไปได้

นักปรัชญาสโตอิกพัฒนาแนวคิดต่อจากโสกราตีสว่า ความไม่เป็นสุขและความชั่วร้ายนั้นเป็นผลมาจากความโง่เขลา และเราควรเรียนรู้ที่จะควบคุมความคิดจิตใจของตนเองและรู้จักอดทนอย่างกล้าหาญ ในการเอาชนะอารมณ์ที่มีลักษณะทำลายล้าง (ดีใจมากไปเสียใจมากไป) เพื่อที่เราจะได้พัฒนาการคิดตัดสินใจได้ขัดเจน เพื่อความสงบภายในจิตใจ และเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการหลุดพันจากความทุกข์

 

นักปรัชญาสโตอิกมองว่าปรัชญาไม่ใช่แค่ชุดของความเชื่อหรือคำอธิบายทางจริยธรรม แต่คือวิถีชีวิต เกี่ยวข้องกับการลงมือปฏิบัติและฝึกฝนตนเองในทางด้านความคิดจิตวิญญาณ ซึ่งรวมทั้งการสนทนาโต้ตอบกันด้วยหลักเหตุผลตามวิธีการของโสกราตีส การสนทนาถามตอบกับตัวเอง การคิดใคร่ครวญปลงในเรื่องความตาย การฝึกจิตให้นิ่ง (ทำสมาธิ) การคิดใคร่ครวญเรื่องปัญหาในชีวิตประจำวันและแนวทางแก้ไข และการฝึกฝนทางความคิดจิตใจแบบอื่นๆ

ปรัชญาสโตอิกตระหนักถึงและสนับสนุนความเป็นพี่น้องกันของมนุษย์ชาติ และความเสมอภาคกันโดยธรรมชาติของมนุษย์มาตั้งแต่ยุดก่อนที่ศาสนาคริสต์จะรุ่งเรือง ปรัชญาสโตอิกมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสรีภาพทางเพศมากกว่าปรัชญาสำนักอื่น

ปรัชญาสโตอิกมองเรื่องความตายเช่นเดียวกับความยากลำบากทั้งหลาย ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติที่มนุษย์เราไม่สามารถควบคุมได้ การตายเป็นเพียงการเปลี่ยนสภาพรูปลักษณ์เหมือนกับผลไม้ที่สุกงอมและเปลี่ยนสภาพไปเป็นอย่างอื่นโดยที่ไม่ได้สูญหายไปจากจักรวาล เราจึงไม่ควรกลัวกังวลเรื่องความตาย คนที่ตระหนักคิดเผื่อไว้ล่วงหน้าว่าคนที่เรารักและตัวเราเองอาจจะต้องตายเมื่อไหร่ก็ได้ในวันหนึ่ง จะยอมรับความตายอย่างใจสงบได้ดีกว่าคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้

ปรัชญาสโตอิกซึ่งเน้นปรัชญาชีวิต จริยธรรม ศีลธรรม ช่วยเยียวยาทางจิตใจปัจเจกชนที่เผชิญปัญหาภาวะทุกข์ยากได้อยู่มาก ตัวอย่างเช่น นักโทษอังกฤษที่ถูกส่งไปปล่อยเกาะที่ออสเตรเลียยุคแรก ชาวยิวที่ถูกฮิตเลอร์จับคุมขังในค่ายกักกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 เชลยศึกนายทหารอากาศอเมริกันในสงครามเวียดนามคนหนึ่ง ฯลฯได้อาศัยแนวคิดปรัชญาสโตอิกที่เขาเคยอ่านมาก่อน ช่วยให้เขาอยู่รอดในท่ามกลางความทุกข์อย่างแสนสาหัสได้

ในปัจจุบันมีนักปรัชญา นักจิตวิทยา ฯลฯ สนใจกลับไปศึกษาและนำปรัชญาสโตอิกมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อสร้างชีวิตที่ดี มีความสุข ความพอใจ และความหมาย ลดหรือยอมรับความทุกข์ยาก ความวิตกกังวล ความว้าวุ่นใจ ฯลฯ ด้วยใจที่สงบกันมากขึ้น  ในแง่สังคม ปรัชญาสโตอิกมองมนุษย์ทั่วโลกเป็นพี่น้องกัน สนใจเรื่องความยุติธรรม การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ในสังคม

(หนังสือ วิทยากร เชียงกูล. ปรัชญาชีวิต แง่คิด และคำปลอบโยน. แสงดาว, 2562)