SME นั้นสำคัญไฉน?

SME นั้นสำคัญไฉน?

เมื่อธุรกิจ SME อยู่รอด ภาคการค้าปลีกและบริการไทย ก็จะอยู่รอดได้เช่นกัน! แต่ SME ไทยอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ง่าย ซึ่งไม่ใช่เพราะไม่มีศักยภาพ

แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้เกิดการต่อยอด เติบโต โดยเฉพาะเมื่อติดปัญหาด้านการเงิน เพราะขาดโอกาสได้มาซึ่งสินเชื่อ เนื่องจากการประเมินความน่าเชื่อถือต่อ SME ในประเทศไทย เน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านการเงินเป็นหลัก ซึ่งตามเกณฑ์การประเมินดังกล่าว SME มักมีงบการเงินไม่น่าเชื่อถือ ขาดระบบบัญชีที่ดี และไม่มีการเก็บเอกสารการค้าอย่างเป็นระบบ เกณฑ์ประเมินนี้จึงมีความไม่เหมาะสมกับบริบทและคุณลักษณะของ SME

นิยามใหม่ SME วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย

จากการประมวลผลข้อมูลของ สสว. พบว่า จำนวน SME ทั่วประเทศ 3,070,177 ราย เป็น วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) 3,029,525 ราย และวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) 40,652 ราย โดยเฉพาะในส่วนของวิสากิจขนาดย่อมได้รวมกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อย หรือ Micro เข้าไว้ด้วย ซึ่งตามนิยามใหม่ Micro คือ กลุ่มที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท การจ้างงานไม่เกิน 5 คน ซึ่งมีจำนวนถึง 2,644,561 ราย และนับเป็นวิสาหกิจส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 85.74% ของจำนวนผู้ประกอบการรวมทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกิจการในรูปแบบธุรกิจส่วนบุคคลมีจำนวนถึง 2,253,132 ราย ขณะที่กิจการในรูปแบบนิติบุคคลมีจำนวน 391,429 ราย

สำหรับกลุ่ม Micro ที่เป็นธุรกิจส่วนบุคคล พบว่า อยู่ในภาคการค้ามากที่สุด คิดเป็น 44.58% กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก คือ การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ รองลงมาอยู่ในภาคบริการ คิดเป็นร้อยละ 35.73 กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก คือ บริการอาหารและเครื่องดื่ม และภาคการผลิต คิดเป็น 19.69% กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก คือ การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร

ส่วนกลุ่ม Micro ที่เป็นนิติบุคคล พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ คิดเป็น 56.33% กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจก่อสร้างอาคาร รองลงมาอยู่ในภาคการค้า คิดเป็น 31.99% กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก เช่น การขายส่งยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์ และ ภาคการผลิต คิดเป็น 11.68% กิจการที่มีเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร

ความน่าเชื่อถือของ SME มักใช้ตัวชี้วัด ทางการเงิน

สถาบันทางการเงินส่วนใหญ่มักจะประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ SME โดยให้น้ำหนักและความสำคัญกับปัจจัยด้านการเงินเป็นหลัก มีการคำนึงถึงปัจจัยด้านที่ไม่ใช่การเงินไม่มากนัก ซึ่งไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะ และบริบทของระบบข้อมูลผู้ประกอบการ SME ของไทย ทำให้ SME จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้

แม้ว่า ตัวชี้วัดด้านการเงิน (Financial Data) จะมีความเหมาะสมในการนำมาคิดประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของ SME แต่ในความเป็นจริง SME (โดยเฉพาะระดับ Micro SME) ไม่ได้มีความพร้อมทางด้านข้อมูลและบัญชีทางการเงินถึงขนาดที่จะนำมาวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือได้ ด้วยเหตุนี้ข้อมูลด้านที่ไม่ใช่การเงิน (non-financial data) จึงควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการที่จะเสริมหนุน ให้ SME มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น. หากเกณฑ์การประเมินสำหรับ SME ถูกจำกัดตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลทางการเงินเท่านั้น SME ไทยจะขาดโอกาสต่อยอดธุรกิจ

ปัญหาหลักในการประเมินความน่าเขื่อถือของ SME คือยังขาดระบบฐานข้อมูลและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินความน่าเชื่อถือของ SME เป็นการเฉพาะ หน่วยงานในประเทศไทยที่ประเมินความน่าเชื่อถือของ SME ส่วนใหญ่เป็นแหล่งทุน มักใช้ข้อมูลด้านการเงิน โดยเฉพาะ งบดุลบัญชีและงบกำไรขาดทุน ในการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อให้แก่ SME นอกจากนี้ ภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนแก่ SME อย่างทั่วถึงและเพียงพอ โดยเฉพาะระดับ microenterprise ซึ่งมีจำนวนมากและยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ จึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ความช่วยเหลือของภาครัฐอาจจะไม่ครอบคลุมไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ครบ ในขณะเดียวกัน Ecosystem ของไทยก็ไม่จูงใจให้ SME เข้าสู่ระบบส่วนความช่วยเหลือด้านการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SME ของไทยนั้น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวของรัฐที่ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SME ก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่นำมาใช้ค้ำประกัน รวมทั้งการขาดหน่วยงานที่รับประกันต่อ (Re-Guarantee) ทำให้เป็นข้อจำกัดทางการเงินอีกประการแก่ บสย. และการเข้าถึงสินเชื่อของ SME

ค้าปลีก ตัวช่วยคัดกรอง SME แก่สถาบันการเงิน

เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ของหลายคนแต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และตรงเป้าที่สุด ธุรกิจค้าปลีกเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มใหญ่ที่เชื่อมต่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เกษตรกร สู่ผู้บริโภค การพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรกว่า 400,000 รายผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจค้าปลีกและบริการจะเป็นช่องทางที่จะถึงมือผู้ประกอบการโดยตรงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินและภาคค้าปลีกและบริการ จะสามารถส่งต่อให้ SME ได้ทันทีไม่น้อยกว่า 50,000-100,000 ผู้ประกอบการ

แพลตฟอร์มค้าปลีกและบริการจึงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันการเงินและ SME แพลตฟอร์มจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดย ก่อเกิดหนี้เสีย NPLต่ำ การพิจารณาให้สินเชื่อร่วมกันระหว่างสถาบันการเงินและภาคค้าปลีกผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก จึงเป็นการให้ “สินเชื่อ” ที่ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลทันที!