รากความขัดแย้งยิว-ปาเลสไตน์ ยาวนานถึงสามพันปีจริงหรือ

รากความขัดแย้งยิว-ปาเลสไตน์ ยาวนานถึงสามพันปีจริงหรือ

สงครามรอบใหม่ระหว่างอิสราเอลกับฮามาส อีกไม่นานก็คงจะจบตอน แต่จะยุติอย่างสมบูรณ์เมื่อไหร่แน่ ก็ต้องบอกว่าอีกร้อยปีก็อาจจะไม่ยุติเลย

            สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสนี้ ต่อให้ผู้นำฮามาสถูกสังหารตายทุกคนหรืออิสราเอลเสียสภาพของรัฐ โดนถอดแบบเดียวกับที่ไต้หวันเคยโดน ก็ยังมองไม่เห็นทางว่าจะยุติได้อย่างไร  เพราะรากของความขัดแย้งนั้นมีเรื่องของศาสนาระหว่างประเทศ  ชาติพันธุ์ระหว่างประเทศ ยุ่งขิงซับซ้อน ต่อให้คนในพื้นที่คิดจะยอมแต่พวกถือ Pan Islamism หรือ International Zionist คงไม่ยอม ต้องหาทางให้เอาชนะกันเด็ดขาด (ซึ่งยังเป็นไปไม่ได้) บทความนี้จะไม่ได้วิเคราะห์เรื่องเหล่านั้น เพราะทำเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว แต่จะลองสำรวจความเชื่อเรื่องรากความเชื่อทางอื่นกันดูครับ

            บางคนบอกว่ารากความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นอาหรับพึ่งจะเริ่มเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อิสราเอลได้เอกราชอย่างเป็นทางการนี่เอง โดยก่อนหน้านั้นชาวยิวที่อพยพเข้ามากับชาวอาหรับก็ยังสมานสามัคคีอันดี  แต่ก็มีข้อมูลการจลาจลในพื้นที่ระหว่างคนสองสัญชาติย้อนหลังไปไม่น้อยกว่าปี 1920  บางคนบอกว่าสาเหตุที่คนมุสลิมเกลียดชังชาวยิวนั้นเกินกว่าเรื่องก่อตั้งรัฐและขับไล่ปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ แต่มีรากที่เข้ากันไม่ได้นานนับพันปี ย้อนไปถึงสมัยที่มุสลิมมีอาณาจักรยิ่งใหญ่ เช่น ออตโตมาน หรือ อับบาสิยะห์ กันเลย  แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อกันว่ายาวนานอาจถึง 3200 ปี เพราะชาวปาเลสไตน์ก็คือชาวฟิลิสไตน์ในตำนาน

            ชาวฟิลิสไตน์ (Philistines) เป็นกลุ่มคนที่ปรากฏในบันทึกของอียิปต์โบราณตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล มีหลักฐานการสร้างบ้านแปลงเมืองในปลายยุคสำริด อยู่ในพื้นที่ South Levant ซึ่งปัจจุบันอยู่ในซีเรีย เลบานอน กาซา และอิสราเอลปัจจุบัน     โดยพวกเขาน่าจะอพยพจากยูเรเชียเมื่อ 3600 ปีก่อนเข้าสู่พื้นที่แถบนี้ก่อนชาวยิว เมื่อชาวยิวลงหลักปักฐานใน Canaan ในชั้นต้นก็เป็นมิตรกันดีกับบรรดากษัตริย์ฟิลิสไตน์ แต่ต่อมาก็กลายเป็นศัตรูกันอย่างไม่เผาผีกัน  ประเด็นนี้ปรากฏอยู่ทั้งในไบเบิลฉบับปฐมกาลและคัมภีร์โตราห์ของชาวยิว   ความขัดแย้งน่าจะมีจากการแย่งชิงทรัพยากรที่อยู่อย่างจำกัด ต่างฝ่ายต่างถือพวกถือประเพณี และความคิดที่ส่งต่อกันมาโดยอ้างพระเจ้า

            มีคำกล่าวอ้างจำนวนมากที่ปรากฏในพงศาวดารถึงความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับฟิลิสไตน์ แพ้บ้างชนะบ้าง บางเรื่องกลายเป็นเรื่องเล่าที่ผลิตออกมาเป็นหนังละครให้คนสมัยใหม่รับรู้ เช่น Samson ชาวยิวผู้ทรงพลัง ที่พระเจ้าให้อำนาจไว้ในมวยผม แซมซั่นมักมีปัญหาทะเลาะกับชาวฟิลิสไตน์อยู่เนือง ๆ ซึ่งฟิลิสไตน์ไม่สามารถจับกุมตัวได้ ต่อมาแซมซั่นตกหลุมรักนาง Delilah  ทำให้ฝ่ายฟิลิสไตน์ซึ่งปกครองเมืองเวลานั้นอาศัยนางเดไลลาห์สืบรู้ที่มาของพลังแซมซั่นและตัดผมเสีย  ในตอนท้ายฟิลิสไตน์จับแซมซั่นมัดไว้กับเสาวิหาร เฉลิมฉลองเตรียมบูชายัญ  แต่แซมซั่นขอพลังจากพระเจ้าเป็นครั้งสุดท้ายให้มีพลังทำลายทุกคนในวิหารตายสิ้น   และเรื่อง David เด็กน้อยผู้มีความสามารถในการเขวี้ยงหิน กล้ารับคำท้าของ Goliath ขุนศึกร่างยักษ์ชาวฟิลิสไตน์ ในสมรภูมิที่ชาวยิงและฟิลิสไตน์ยกทัพรบกันกลางหุบเขาบริเวณเขต West Bank ปัจจุบันนี้  ชัยชนะของเดวิดที่สามารถโค่นโกไลแอธลงได้ ส่งผลต่อให้เขากลายเป็นผู้นำที่น่าเชื่อถือในเวลาต่อมาและกลายเป็นกษัตริย์คนที่ 2 ของอิสราเอลที่มีชื่อเสียงโด่งดังปนฉาวโฉ่

            ชาวฟิลิสไตน์ค่อยๆ หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์นับตั้งแต่โดนพระเจ้า Nebuchadnezzar ที่ 2 แห่งอาณาจักรบาบิโลเนียบดขยี้เมื่อปี 604 ก่อน ค.ศ.  บางคนคิดว่าพวกเขาไม่ได้ไปไหนไกลหรอก ยังอยู่ในพื้นที่แต่เป็นแค่ลูกไล่ ไม่ใช่เจ้าของแผ่นดินเหมือนอดีต แนวคิดนี้ค่อนข้างเข้มแข็งในหมู่ชาวอาหรับที่มองว่าชาวฟิลิสไตน์อยู่ในพื้นที่ที่เป็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นชาวปาเลสไตน์ จึงน่าจะมีสิทธิเหนือกว่าชาวยิวซึ่งแตกสานซ่านเซ็นไปยุโรปหลังจากที่มั่นสุดท้ายในพื้นที่โดนโรมันตีแตกเมื่อปี ค.ศ.73  การที่ชาวยิวไซออนนิสท์รณรงค์ให้ชาวยิวกลับมาอาศัยในดินแดนแห่งพันธสัญญาถือว่ามาทีหลัง

            แต่เมื่อ 2 ปีก่อนมีการพิสูจน์ DNA โครงกระดูกชาวฟิลิสไตน์ 10 ซาก กลับพบว่าชาวฟิลิสไตน์เป็นชาวยุโรปที่อพยพมาจากกรีซและอิตาลี  ถ้าหากเรื่องนี้ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง ก็สามารถตีความได้ว่าชาวฟิลิสไตน์เป็นคนละพวกกับปาเลสไตน์ เพราะฝ่ายหลังเป็นชาวอาหรับ  ประเด็นนี้อิสราเอลฝ่ายขวามักใช้ยกเป็นข้ออ้างบอกว่าชาวปาเลสไตน์ไม่มีสิทธิอ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว  เพราะแท้จริงชาวปาเลสไตน์คือชาวอาหรับที่ล้นเข้ามาอยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 140 ปีมานี้เอง เป็นสมัยปลายยุคออตโตมานซึ่งไล่เรี่ยกับการที่ชาวยิวย้ายเข้ามารอบใหม่

            วิวาทะแบบนี้คงดำเนินต่อไปกันอีกนาน และเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของสาเหตุความขัดแย้งที่มัดปมขมวดแน่น  เรื่องสิทธิในดินแดนและความเกลียดชังฝังรากยังแก้ไขไม่ได้ไม่เป็นไร  แต่ต้องยึดหลักมนุษยธรรมเอาไว้เหนือสิ่งอื่นใดก่อน  ฝ่ายไหนไม่ยึดก็ขอให้ประชาคมโลกต้องช่วยบีบไม่ให้มีที่ยืน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือกลุ่มองค์การใด.