ไวรัสกับเงินเฟ้อ: ธีมเศรษฐกิจการลงทุนในครึ่งปีหลัง

ไวรัสกับเงินเฟ้อ: ธีมเศรษฐกิจการลงทุนในครึ่งปีหลัง

ปี 2021 ผ่านไปเกือบครึ่งปี อาจกล่าวได้ว่าสำหรับครึ่งปีแรกนั้น เศรษฐกิจและการลงทุนโลกไม่ได้แย่เกินไปนัก

 ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่หลายประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศเจริญแล้วยังคงอยู่ระดับสูง 

ในฝั่งการลงทุน โดยเฉพาะในตลาดหุ้น นับจากต้นปีที่ผ่านมาภาพยังไปได้ดี ทั้งตลาดหลักอย่างสหรัฐและยุโรปที่ขยายตัวต่อเนื่องกว่า 10% ตลาดเอเชียที่อยู่ในระดับ 5-10% โดยส่วนใหญ่ จะมีเพียงบางประเทศ เช่น จีนแทบจะไม่เติบโต จากปัจจัยเสี่ยงที่มีมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ภาพเศรษฐกิจโลกเริ่มเปลี่ยนไป เศรษฐกิจประเทศที่ขยายตัวได้ระดับสูง เช่น สหรัฐและจีน ตัวเลขล่าสุดเริ่มต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานในสหรัฐ ยอดค้าปลีกในสหรัฐและจีน รวมถึงตำแหน่งงานที่เปิดใหม่ในสหรัฐที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ผู้สมัครงานน้อยมากจนนายจ้างต้องให้รางวัลกับผู้ที่มาสัมภาษณ์งาน 

แต่ในทางกลับกัน เงินเฟ้อส่งสัญญาณเพิ่มขึ้น ทั้งจากดัชนีราคาผู้ผลิต ผู้บริโภค ความคาดหวังเงินเฟ้อ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่หลายตัวต่างปรับขึ้นและบางตัวพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น ทองแดง และสินแร่เหล็ก อลูมิเนียม และโคบอลต์ ขณะที่ราคาโภคภัณฑ์เบา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ยาง ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล และอื่น ๆ ก็ปรับขึ้นสูงสุดในรอบหลายปีเช่นกัน 

ในอีกมุมหนึ่ง ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ปรับตัวขึ้นในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้ว ทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ราคาบ้าน รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ 

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้นโยบายเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ เช่น สหรัฐและจีน เริ่มเห็นสัญญาณการคุมเข้มขึ้น ทั้งแนวโน้มการขึ้นภาษี ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล Capital Gain และภาษีเงินโอนกลับประเทศ และลดทอนการอัดฉีด (QE) รวมถึงกระแสของทางการที่ต้องการกำกับธุรกรรม Cryptocurrency ในสหรัฐ 

ขณะที่ในฝั่งจีน เราได้เห็นการคุมเข้มภาคการเงินและกฎระเบียบในจีนมากขึ้น ทั้งการออกหุ้นกู้ใน 3 กลุ่มธุรกิจเสี่ยง อันได้แก่ เหมืองแร่ (โดยเฉพาะเหมืองถ่านหิน) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของ โดยมีกรณีสำคัญเช่น บ. บริหารสินทรัพย์ขนาดใหญ่ Huarong ที่กระทรวงการคลังจีนที่หุ้นใหญ่นั้นมีปัญหาเรื่องการฉ้อฉลและทำให้หุ้นกู้ราคาตกต่ำและเกือบล้มละลาย นอกจากนั้น รัฐบาลจีนยังคุมเข้มธุรกิจด้านเทคโนโลยีของจีน เช่น Alibaba และ Meituan ที่มีปัญหาเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจและต้องเสียค่าปรับจำนวนมหาศาล 

ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศในเอเชียก็กำลังจมอยู่กับการระบาดรอบใหม่ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมถึงเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ  เช่น สายพันธุ์อินเดีย ที่ติดได้ง่าย อยู่ได้นาน และทำให้ผู้เสียชีวิตมีมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาที่ล่าช้า 

สิ่งเหล่านี้กระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกแตกออกเป็น 2 ขั้ว กล่าวคือ เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะซีกโลกตะวันตก มีทิศทางฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ยังเผชิญการแพร่ระบาดในระดับสูงนั้น กลับเติบโตได้ช้ากว่า 

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบ 3 ค่อนข้างมาก โดยแม้แต่ในรอบ 2 เอง ที่ทางการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการบริโภคก็ยังคงหดตัว เห็นได้จากการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 1 ที่หดตัวที่ 2.6% นั้น ภาคการบริโภคกลับหดตัวทั้ง ๆ ที่มีมาตรการ "เราชนะ" ของภาครัฐช่วยประคับประคองรายได้ ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวก็ไม่สามารถบรรเทาผลลบจากภาคการท่องเที่ยวได้ ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการโดยรวมหดตัวมากและเป็นส่วนฉุดรั้งเศรษฐกิจ 

มองไปข้างหน้า ภาพเหล่านี้จะยังเป็นอยู่เมื่อเราไม่สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเดินทางในประเทศได้ โดยแม้ทางการจะเปิดให้มีโครงการเช่น Phuket sandbox ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวในเดือน ก.ค. แต่การระบาดของ Coronavirus สายพันธุ์อินเดียในเอเชียทำให้นักท่องเที่ยวชาติตะวันตกอาจยังกังวลที่จะเดินทางมายังเอเชีย 

นอกจากนั้น ตามการคำนวณของเรา กว่าที่ 70% ของจำนวนประชากรของไทยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม น่าจะเป็นประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย. และเนื่องจากการระบาดในรอบนี้เป็น Coronavirus สายพันธุ์อังกฤษ ทำให้เป็นไปได้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อของไทยจะอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงไตรมาส 4 คล้ายกับอังกฤษก่อนการฉีดวัคซีน ซึ่งจะกระทบต่อการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไปด้วยเช่นกัน 

ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.2 แสนล้านบาท ที่ผ่าน ครม. วันที่ 5 พ.ค. (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการต่ออายุโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น เราชนะ ม.33 เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 รวมถึงโครงการใหม่ เช่น ยิ่งใช้ยิ่งได้) นั้น เรามองว่าจะมีแรงกระตุ้นให้เกิดการบริโภคได้อย่างมีนัยสำคัญคือในช่วงไตรมาส 4 ที่มาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผลบังคับใช้ ขณะที่การออก พรก. กู้เงิน 7 แสนล้านบาทรอบใหม่ เรามองว่าจะช่วยเป็นแรงส่งทางการคลังในระยะต่อไปหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 

ด้วยภาพเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นในระยะต่อไป เราจึงแนะนำให้เริ่มลดน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงลง โดยตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วน่าจะยังมีโอกาสเติบโตมากกว่าตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงจากการระบาด ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้ว เราเห็นว่าตลาดยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะสามารถเติบโตได้ เมื่อเทียบกับสหรัฐที่ดูจะมีความเสี่ยงเชิงนโยบายมากขึ้น ในฝั่งของไทย เรามองว่า แม้ทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะมีความเสี่ยง แต่สภาพคล่องที่มีอยู่สูงและราคาพลังงานที่อาจไม่ปรับลงมาก ยังจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ความเสี่ยงที่มีมากขึ้น จะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของหุ้นไทย เราจึงแนะนำให้เลือกลงทุนอย่างระมัดระวังและเลือกในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี รวมถึงหุ้นขนาดเล็กที่ดำเนินธุรกิจในต่างจังหวัดและอาจได้รับประโยชน์จากโครงการภาครัฐ 

การลงทุนเปลี่ยนธีมแล้ว นักลงทุนควรพิจารณาปรับกลยุทธ์อย่างระมัดระวัง