NFT : Token อ้างอิงกับทรัพย์สินที่มีชิ้นเดียวในโลก

NFT : Token อ้างอิงกับทรัพย์สินที่มีชิ้นเดียวในโลก

ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงการทำ Asset Tokenization ที่อ้างอิงกับอสังหาริมทรัพย์โดยยกตัวอย่างกรณี Aspen Coin ที่ออกโดย St.Regis ในสหรัฐฯ

       ฉบับนี้ ยังคงอยู่ในประเด็นการออก Token โดยอ้างอิงกับทรัพย์สินประเภทที่ทดแทนกันไม่ได้ หรือที่เรียกว่า Non-fungible Token หรือ NFT

      

        การออกเหรียญและทรัพย์สินอ้างอิง

โดยทั่วไป การออกเหรียญสามารถทำได้หลายรูปแบบ ยกตัวอย่างในแต่ละประเภท เช่น

1) ประเภทที่มีทรัพย์สินอ้างอิง (Asset Back) สามารถนำทรัพย์สินที่อยู่ในโลกกายภาพไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง (เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา งานเพลง งานศิลปะ) มาเป็นทรัพย์สินอ้างอิงกับเหรียญที่ออกได้

2) ประเภทที่ไม่มีทรัพย์สินอ้างอิง เป็นการสร้างเหรียญขึ้นมาแบบไม่มีทรัพย์สินหรือสิ่งใดรองรับชัดเจน เช่น การออกเหรียญที่อ้างอิงจากกระแสความนิยมในโลกโซเชียล หรือนำความชื่นชอบส่วนบุคคลที่มีต่อดารา นักร้อง หรือคนดังต่าง ๆ มาออกเป็นเหรียญและใช้เหรียญนั้นทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่กำหนด (เช่น Fan Token) นอกจากนี้ การออกเหรียญประเภทที่ไม่มีทรัพย์สินอ้างอิงยังอาจรวมถึงเหรียญประเภท Native Token หรือเหรียญที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็น functional token โดยใช้เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียม (gas fee) เพื่อพัฒนาหรือรันโครงการต่าง ๆ บนวง Blockchain

3) การออกเหรียญที่อ้างอิงความสำเร็จของโครงการ (Project Based-Token) ซึ่งมีลักษณะคล้ายการระดมทุนที่นำเงินจากนักลงทุนไปทำโครงการต่าง ๆ ตามที่กำหนดและอาจมีการแบ่งส่วนกำไร ค่าตอบแทน หรือการให้ใช้ประโยชน์ใด ๆ ตามที่ตกลงกัน 

 

NFT คือ อะไร

        จากประเภทของเหรียญที่ได้อธิบายมาในข้างต้น NFT คือ โทเคนดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีทรัพย์สินอ้างอิง แต่ความพิเศษของทรัพย์สินที่ใช้อ้างอิงนั้น จะเป็นทรัพย์สินประเภท Non-Fungible Asset หรือ ทรัพย์สินที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่สามารถทำซ้ำ หรือ นำทรัพย์สินอื่นมาทดแทนกันได้ เช่น งานศิลปะ หรืองานสะสม ทั้งที่มีงานจริงอยู่ในทางกายภาพ หรืองานนั้นอาจอยู่ในรูปดิจิทัลทั้งหมด (Crypto Art/Digital painting) และยังรวมไปถึงการอ้างอิงกับการ์ดหรือของสะสมในเกมส์ หรือ eSports เป็นต้น ซึ่งลักษณะพิเศษนี้ ชี้ให้เห็นว่า NFT ต่างจากคริปโทประเภทอื่น ๆ เช่น Bitcoin ที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินที่ทดแทนกันได้ เพราะไม่ได้มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

       

         วัตถุประสงค์ในการออก NFT    

         การออก NFT สามารถทำได้ภายใต้วัตถุประสงค์ที่หลากหลาย โดยส่วนมากมักมีวัตถุประสงค์เพื่ออ้างอิงหรือแสดงความเป็นเจ้าของบนงานที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง โดยมุ่งหวังให้สิทธิ์ดังกล่าวสามารถโอนเปลี่ยนมือกันได้ในโลกดิจิทัล หรือกล่าวได้ว่า เป็นเหรียญที่แสดงถึงกรรมสิทธิ์ที่มีเหนือสิ่งของชิ้นนั้นในโลกดิจิทัล ซึ่งเท่ากับว่าคนที่ถือครองย่อมมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการทำการใดๆ เหนือเหรียญนั้น ตัวอย่างเช่น กรณีของ Jack Dorsey หนึ่งในผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ ที่ได้ออกเหรียญแบบ NFT โดยอ้างอิงกับข้อความแรกของเขาที่โพสในทวิตเตอร์ในมูลค่า 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 90 ล้านบาทไทย และกรณีของ Sotheby’s บริษัทประมูลงานศิลปะในอังกฤษที่มีการเปิดประมูลผลงาน Digital Arts เมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้น NFT จึงมักมีการออกในลักษณะที่สร้างสินทรัพย์ให้อยู่ในรูปแบบของสะสม เพราะมีเพียงชิ้นเดียว และการออกเหรียญก็มักนิยมทำแบบ 1 งาน ต่อ 1 เหรียญ โดยราคาที่เสนอขายหรือประมูลก็จะขึ้นอยู่กับความมีชื่อเสียงหรือกระแสความนิยมในตัวบุคคลหรือในตัวงานที่ใช้อ้างอิงนั้น    

 

          ตลาด NFT 

          ในปัจจุบัน การออกและการซื้อขาย NFT  มักทำในวงจำกัด หรือในรูปแบบการประมูล ผ่านตัวกลางหรือ platform ที่เป็นตลาดในการซื้อขาย NFT เป็นการเฉพาะ เช่น Opensea และ Nifty Gateway โดยการชำระราคามักรับชำระเป็นสกุลเงินดิจิทัล (เช่น ETH) หรือในบางกรณีอาจมีการให้แลก Token บางประเภทเพื่อใช้ซื้อขาย NFT ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของงานแต่ละประเภทและ platform ซื้อขายด้วย  

       

        แนวคิดในการกำกับ NFT

        NFT ถือเป็นพัฒนาการของการออกเหรียญในรูปแบบใหม่ ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการกำกับดูแลมากนักแม้ในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี แนวทางในการกำกับที่ปรากฎในเอกสารของ European Securities and Market Authority (ESMA) ก็มีข้อแนะนำที่น่าสนใจว่า การพิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดและเงื่อนไขในการออกเหรียญ โดยหากการออก NFT มีข้อตกลงว่าผู้ถือครองมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ หรือส่วนแบ่งกำไรในอนาคต (Profit sharing) การออก NFT ก็มีลักษณะเป็น หลักทรัพย์ หรือ “Security Token” ซึ่งผู้ออกมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุน และผู้ถือครองเหรียญถือเป็นผู้ลงทุนที่ได้สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่า โดยมูลค่าดังกล่าวมี หลักทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดเป็นตัวกำหนดมูลค่าไว้ ดังนั้น การกำกับดูแล ก็ต้องไม่ต่างไปจากการกำกับดูแลการออกหลักทรัพย์ทั่วไป และต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ AML (Anti-Money Laundering) ด้วย

          ดังนั้น หากมีลักษณะเป็น Security Token ตามสมมุติฐานในเบื้องต้นแล้ว NFT platform ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ก็ถือเป็น Exchange ประเภทหนึ่งที่สมควรอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลด้วย

        นอกจากนี้ การออก NFT ในอนาคต แม้อ้างอิงกับทรัพย์สินที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น งานศิลปะ ก็สามารถกำหนดรูปแบบให้มีผู้ถือครองหลายคนได้ และเป็นไปได้ว่าอาจกำหนดให้ทุกคนที่ถือครอง มีสิทธิเหนืองานนั้นแบบกำหนดสัดส่วน เพื่อรับผลตอบแทนหรือส่วนแบ่งกำไรใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตตามส่วนของตน ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนก็เห็นว่า วัตถุประสงค์ในการออกและการกำหนดลักษณะของ NFT จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่า NFT รายการนั้นมีลักษณะเป็น ทรัพย์สินเพื่อการสะสม (Digital Collectibles) หรือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Financial product)

 

         ท้ายที่สุด NFT ถือเป็นการพัฒนาการออกเหรียญในรูปแบบใหม่ ที่ต่างประเทศรวมถึงประเทศไทยก็ยังไม่มีแนวกำกับดูแลที่ชัดเจน ดังนั้น ผู้เข้าซื้อเหรียญดังกล่าวจำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเข้าซื้อหรือประมูล เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการกระทำที่ไม่เป็นธรรมใดๆ ในตลาดใหม่ประเภทนี้.     

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน