ระวังเศรษฐกิจปีนี้เสี่ยงถดถอย

ระวังเศรษฐกิจปีนี้เสี่ยงถดถอย

เศรษฐกิจปีนี้เสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าที่สภาพัฒน์เพิ่งประเมิน แต่กรณีแย่สุดก็คืออาจไม่ขยายตัวติดต่อเป็นปีที่ 2 นี่คือประเด็นที่ผู้เขียนจะนำเสนอ

วันจันทร์ที่แล้ว สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติออกตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 64 หดตัวร้อยละ 2.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน แม้ตัวเลขจะหดตัวน้อยลงเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่หดตัวร้อยละ 4.2 การระบาดของโควิดรอบสามที่รุนแรงในไตรมาส 2 และความเป็นไปได้ที่การระบาดอาจยืดเยื้อไปถึงช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจปีนี้มีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าตัวเลขที่สภาพัฒน์เพิ่งประเมินใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 แต่กรณีแย่สุดเศรษฐกิจปีนี้อาจไม่ขยายตัวติดต่อเป็นปีที่ 2 นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

 

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ 2.6 ต่ำกว่าที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะหดตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี ที่สำคัญโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว โดยอัตราการขยายตัวในไตรมาส 1 วัดไตรมาสต่อไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ดีกว่าที่ตลาดคาด การขยายตัวขับเคลื่อนโดยการส่งออก การลงทุนของภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งด้านการลงทุนและการเยียวยา โดยได้ประโยชน์จากสถานการณ์การระบาดรอบ 2 ที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสแรก ก่อนการระบาดรอบ 3 จะเริ่มในเดือนเมษายน ในไตรมาสแรกการใช้จ่ายของภาคเอกชนปรับตัวลดลงและการท่องเที่ยวไม่ฟื้นตัว

 

ด้านการผลิต การฟื้นตัวของการส่งออกทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกขยายตัวสนับสนุนโดยการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เกษตรกรรม การสื่อสาร สาขาการเงิน ขณะที่การก่อสร้างก็กลับมาขยายตัวจากการลงทุนในภาครัฐและเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สาขาการบริการ โรงแรม การขายส่งขายปลีก พลังงาน ยังลดลงต่อเนื่อง สะท้อนภาวะท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวและการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ลดลง กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ติดลบ

 

เศรษฐกิจไตรมาสแรกสะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นลุ่มเป็นดอน คือ ขยายตัวเป็นจุดๆ ไม่ทั่วถึง สาขาที่ขยายตัวได้ดีจะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการส่งออก ขณะที่สาขาเศรษฐกิจที่พึ่งการใช้จ่ายในประเทศและการท่องเที่ยวถูกกระทบมากจากการลดของการใช้จ่ายของประชาชน และภาวะท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลจริงจังต่อการมีงานทำและรายได้ของแรงงานในภาคบริการที่มีคนจำนวนมากตกงาน เป็นการฟื้นตัวแบบตัวอักษร K ที่คนจำนวนมากยังมีปัญหาเรื่องรายได้และการมีงานทำแม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นี่คือความอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจขณะนี้

 

สำหรับไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเกือบ 2 เดือนก็ชัดเจนว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะแย่กว่าไตรมาสแรก เพราะการใช้จ่ายภาคเอกชนจะยิ่งหดตัวมากขึ้นจากการระบาดรอบ 3 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะหดตัวต่อเนื่องและหดตัวมากกว่าในไตรมาสแรก แม้การส่งออกก่อนไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งหมดทำให้ชัดเจนว่าการชะลอหรือหดตัวของเศรษฐกิจขณะนี้เป็นผลจากปัจจัยในประเทศล้วนๆ  คือการระบาดรอบ 3 ที่เกิดขึ้น

 

ในแง่นโยบาย สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยเศรษฐกิจคือ การลดหรือควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งในระยะสั้น หมายถึงการเสริมสร้างระบบสาธารณสุขของเราให้เข้มแข็งทั้งในเรื่องยา อุปกรณ์ บุคลากร ที่รัฐต้องทุ่มทรัพยากรให้เต็มที่และพร้อมใช้ยาแรงหยุดการระบาดด้วยการล็อกดาวน์จริงจังบางพื้นที่ที่เป็นจุดระบาดรุนแรง เน้นให้ประชาชนดูแลตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือและรักษาระยะห่าง พร้อมกับเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเฉพาะบุคลากรที่ทำงานและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อลดการระบาดรอบ 3 และป้องกันการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในรอบต่อๆ ไป การฉีดวัคซีนต้องทำเร็ว กระจายไปทุกกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงและต้องการได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง

 

ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินการคลังที่จะบรรเทาผลกระทบและประคับคองเศรษฐกิจก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ได้รับผลกระทบและครัวเรือนที่ต้องการความช่วยเหลือเพราะช่วยตัวเองไม่ได้ การเยียวยาให้ประชาชนในวงกว้างอาจมีความจำเป็นน้อยลง จากที่บางส่วนของเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ในเรื่องนี้ สิ่งที่ต้องตระหนักคือ การเยียวยาครัวเรือนที่ไม่มีรายได้ช่วงการระบาด ควรต้องเปลี่ยนจากการให้ในลักษณะทั่วไปมาเป็นการช่วยเหลือตามความจำเป็นของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดผลที่ตรงจุดและลดภาระต่อการคลังของประเทศ เสริมด้วยมาตรการสร้างงานให้คนที่ต้องการทำงานมีงานทำ ซึ่งจะสร้างผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าการเยียวยา

 

มองไปข้างหน้าช่วงครึ่งปีหลังต้องยอมรับว่า มีความไม่แน่นอนสูงขณะที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังเป็นความเสี่ยงด้านลบหรือขาลงที่เศรษฐกิจอาจชะลอหรือหดตัวมากกว่าที่ประเมินขณะนี้จากหลายปัจจัย

หนึ่ง สถานการณ์การระบาดว่าจะยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นหรือไม่ ไม่เฉพาะการระบาดรอบ 3 ว่าจะควบคุมได้เร็วหรือไม่ แต่หมายถึงความเสี่ยงของการระบาดรอบ 4 ว่าเราจะป้องกันได้หรือไม่จากเชื้อไวรัสจากอินเดียที่ได้แพร่เข้าไปหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความไม่แน่นอนนี้ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของระบบสาธารณสุขของเรา และประสิทธิภาพในการทำนโยบายที่จะดูแลและควบคุมการระบาดของรัฐบาลเป็นสำคัญ

 

สอง ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างเกราะป้องกันให้กับคนในประเทศจากการระบาดในช่วงครึ่งหลังของปี และปกป้องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลของการระบาด นโยบายของรัฐบาลที่เร่งให้มีการฉีดวัคซีนโดยเร็วเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรกับ การลดลงของจํานวนผู้ติดเชื้อใหม่เป็นเรื่องที่ใช้เวลา ไม่เกิดขึ้นเร็ว ตัวอย่างจากประเทศอิสราเอลชี้ชัดว่า จำนวนผู้ฉีดวัคซีนอาจต้องมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรก่อนที่เราจะเห็นตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ชี้ว่า การฉีดวัคซีนให้กับประชากรเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ ไม่มีอย่างอื่น

 

สาม คือความเสี่ยงเงินเฟ้อที่จะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและกระทบเศรษฐกิจไทยตามไปด้วย อัตราเงินเฟ้อประเทศเราขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ในต่างประเทศอัตราเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัวขึ้น ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปัญหาคอขวดด้านอุปทาน ที่การผลิตในเศรษฐกิจโลกไม่สามารถเพิ่มได้เร็วตามความต้องการสินค้าที่ขยายตัวเร็ว ทำให้ราคาวัตถุดิบ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ ค่าขนส่งสินค้า ล้วนปรับสูงขึ้น กดดันให้ราคาสินค้าทั่วไปปรับสูงขึ้น อย่างที่เคยเขียนไว้ ถ้าอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวชัดเจนก็จะเป็นแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินโลกต้องปรับขึ้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยิ่งจะมีข้อจำกัดและจะเกิดการไหลกลับของเงินลงทุนระหว่างประเทศเข้าประเทศอุตสาหกรรมจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทยมากขึ้นไปอีก

 

นี่คือความเสี่ยงช่วงครึ่งปีหลังที่ประมาทไม่ได้ เพราะถ้ารุนแรงหรือบริหารจัดการได้ไม่ดีพอก็อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่หวังจะเห็นกันในปีนี้ไม่เกิดขึ้น.