มองโลกจากการปะทะกันใน ‘เสี้ยวจันทร์อันอุดม’

มองโลกจากการปะทะกันใน ‘เสี้ยวจันทร์อันอุดม’

เมื่อบทความนี้ตีพิมพ์ การปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอาจยุติแล้ว  อย่างไรก็ตาม อาจคาดเดาได้ว่าอีกไม่นานการปะทะกันจะเกิดขึ้นอีก

            ทั้งนี้เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้นยังอยู่ ทั้งปัจจัยปัจจุบันและปัจจัยพื้นฐานที่มีอยู่นานนับพันปี  จากมุมมองของวิวัฒนาการ ย่านปาเลสไตน์ที่สองฝ่ายต่อสู้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ “เสี้ยวจันทร์อันอุดม” (Fertile Crescent) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จากตอนใต้ของตุรกีไปจนถึงอียิปต์  พื้นที่นี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในสังคมมนุษย์เป็นครั้งแรกและเหตุการณ์ที่เกิดตามมาให้บทเรียนสารพัดแก่โลกปัจจุบัน      

            การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการค้นพบวิธีปลูกพืชจำพวกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์กับวิธีเลี้ยงสัตว์จำพวกแพะและแกะอันเป็นฐานของการทำเกษตรกรรมเมื่อราว 1 หมื่นปีที่ผ่านมา  การผลิตอาหารได้ในปริมาณมากจากเกษตรกรรมทำให้ผู้คนในย่านนั้นตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนแบบถาวรแทนการเร่ร่อนไปตามฤดูกาลเพื่อแสวงหาอาหารจากการเก็บของป่าและล่าสัตว์ 

        การมีอาหารในปริมาณมากและบ้านเรือนถาวรนั้นนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วพร้อมกับการค้นพบความรู้และเทคโนโลยีใหม่ส่งผลให้เกิดชุมชนเมืองขนาดใหญ่และการใช้เทคโนโลยีไปทั้งในทางสร้างสรรค์และในการทำลาย 

        กระบวนการนี้มีผลสำคัญยิ่ง 2 อย่างคือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นแบบก้าวกระโดดจนธรรมชาติไม่สามารถให้ได้นำไปสู่การทำลายระบบนิเวศจนเกิดภาวะขาดสมดุลขั้นรุนแรงและการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างกลุ่มชนจนเป็นสงครามซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการทำลายล้างกัน

            การใช้ทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวไม่เฉพาะเพื่อสนองความจำเป็นในการดำเนินชีวิตจริง ๆ เท่านั้น หากเป็นการใช้แบบไม่จำเป็นเพื่อสนองกิเลสอีกด้วย  แม้สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จะมองได้ว่าเป็นส่วนประกอบของอารยธรรม แต่มันเป็นการใช้ทรัพยากรแบบทำลายเนื่องจากไม่มีความจำเป็น เช่น อนุสาวรีย์และปีระมิดซึ่งยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน  นอกจากนั้น ยังมีการใช้ไปในด้านเพื่อการทำอาวุธร้ายสำหรับนำมาทำลายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอีกด้วย  คำสาปของเทคโนโลยีจึงมีผลให้เห็นเป็นที่ประจักษ์

            หลายพันปีผ่านไป การเพิ่มของประชากรและการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นยังคงอยู่นำไปสู่การแย่งชิงกันอย่างเข้มข้นขึ้นอีก  หลังความรู้และเทคโนโลยีใหม่นำไปสู่การประดิษฐ์เครื่องจักรกลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในสังคมมนุษย์เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเกือบ 300 ปีที่ผ่านมา ทรัพยากรน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของเครื่องจักรกลจูงใจให้กลุ่มชนจากท้องถิ่นห่างไกลพากันเข้าไปร่วมการแย่งชิงกันในย่านนั้นอย่างเข้มข้นด้วย 

             อย่างไรก็ดี ทรัพยากรที่ทำให้อิสราเอลกับเพื่อนบ้านแย่งชิงกันจนถึงขั้นปะทะกันมานานมิใช่น้ำมัน หากเป็นพื้นที่ซึ่งมีเจ้าของมาก่อนการเกิดประเทศอิสราเอลเมื่อปี 2491 และน้ำจืดซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด  เจ้าของเก่าของพื้นที่นั้นมีความคับแค้นใจแบบไฟสุมขอน เพราะมองว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งจากการเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งมีความสำคัญ รวมทั้งทางด้านศาสนาและน้ำซึ่งตนได้รับส่วนแบ่งเพียงจำกัด  ชนวนของการปะทะกันล่าสุดได้แก่ความขัดแย้งในการใช้พื้นที่ในเมืองเยรูซาเล็มซึ่งศาสนายิว คริสต์และอิสลามต่างถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์

            เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในย่านเสี้ยวจันทร์อันอุดมในช่วงเวลาหลายพันปีกำลังเกิดขึ้นกับโลกโดยรวมในปัจจุบัน นั่นคือ ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นเกิดขึ้นแบบไม่หยุดยั้ง รวมทั้งเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ในเกือบทุกมุมโลก  การใช้แบบนี้มีผลทำให้ระบบนิเวศขาดสมดุลขั้นรุนแรงและการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างเข้มข้นจนถึงขั้นเข้าห้ำหั่นกันด้วยการใช้อาวุธที่สร้างจากเทคโนโลยีร่วมสมัย 

         น้ำดูจะมีอยู่ทั่วไป แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ของโลกส่วนใหญ่มีน้ำจืดไม่เพียงพอก่อให้เกิดภาวะความไม่เป็นธรรมและการชิงน้ำกันถึงขั้นใช้ความรุนแรงจากระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ  เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ควรจะมีในโลกปัจจุบัน  แต่มันเกิดขึ้นเพราะชาวโลกส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจในบทเรียนจากประวัติศาสตร์.