ถึงคราวฟองสบู่แตกในตลาดคริปโตหรือยัง

ถึงคราวฟองสบู่แตกในตลาดคริปโตหรือยัง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ผมออกบทความชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า 'บิทคอยน์ การกลับมาอีกครั้ง' บทความนั้นมีคนสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

              นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ราคาของบิทคอยน์จากวันนั้นจนถึงวันนี้เพิ่มขึ้นมามากกว่า 3 เท่า จากราคาเพียง 17,000 เหรียญสหรัฐ มาจนถึงจุดสูงสุดที่ 61,000 กว่าๆ นอกจากนั้นทำให้ทั้งตลาดสกุลเหรียญดิจิตัลต่างปรับตัวขึ้นมาอย่างมากในช่วงระยะเวลาเดียวกันที่ผ่านมา จากระดับ 5.5 แสนล้านเหรียญในวันที่ 1 ธันวาคม มาเป็น 2 ล้านๆเหรียญสหรัฐในวันที่ 18 พฤษภาคม

 

จากการรายงานตัวเลขของ CoinMarketCap การขึ้นมาอย่างเฉียบพลันของบิทคอยน์และสกุลเหรียญดิจิตัลทำให้หลายคนเริ่มพูดถึงเรื่องฟองสบู่ในตลาดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปี 2560 ที่ครั้งนั้นบิทคอยน์ขึ้นไปถึง 17,000 เหรียญสหรัฐก่อนที่จะร่วงลงมาถึง 3,000 เหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายๆคนในประเทศไทย ออกมายอมรับตั้งแต่ตอนนั้นว่าตัวเองได้ขายบิทคอยน์ของตัวเองทิ้งไปแล้วเพราะกลัวว่ามันจะร่วงลงมา แต่ในเดือนพฤษภาคมนี้เองที่ผมคิดว่าฟองสบู่ของบิทคอยน์จะแตกจริงๆแล้วครับ ด้วย 3 ประการดังต่อไปนี้ครับ

 

ประการแรก จากการทวีตในทวิตเตอร์ของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่าง อีลอน มัสค์ เมื่อตอนสิ้นปีที่ผ่านมาอีลอน มัสค์ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องบิทคอยน์กับ CEO ของบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Microstrategy อย่าง ไมเคิล เซย์เลอร์ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัทเทสล่า ก็ได้ทำการเข้าซื้อบิทคอยน์มูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาของบิทคอยน์เด้งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว สิ่งที่หลายๆคนไม่ทราบคือ เทสล่า ซื้อบิทคอยน์นี้นอกตลาดทำให้ราคาของบิทคอยน์ไม่ขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น แต่อย่างไรก็ตามราคาของบิทคอยน์ก็พุ่งทะยานสู่จุด 46,000 ดอลลาร์ในที่สุด

หลังจากนั้นเป็นต้นมาความผันผวนของตลาดสกุลเหรียญดิจิตัลก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการที่อีลอน ได้พยายามส่งเสริมให้คนซื้อ Dogecoin (ดอดจ์คอยน์) เหรียญสกุลหมาพันธุ์ชิบะแทนที่จะเป็น บิทคอยน์ ในทวีตของเขา ซึ่งสาวกจำนวนไม่น้อยก็ได้ทำตามสิ่งที่อีลอนพูด จนทำให้ market cap ของเหรียญ Dogecoin พุ่งทะยานสู่อันดับในมูลค่าเหรียญที่สูงที่สุดในสกุลเหรียญดิจิตัล และจู่ๆในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อีลอน ได้โพสถึงเรื่องการที่บิทคอยน์ใช้พลังงานในการขุดทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น จึงออกมาประณามว่าเขาจะไม่รับบิทคอยน์ในการซื้อขายรถเทสล่าอีกต่อไป ทำให้ตอนนั้นราคาของบิทคอยน์ได้ร่วงลงไปสู่จุด 45,000 เหรียญจาก 52,000 เหรียญทันที

แต่เมื่อมีคนมาถามเขาว่าแล้วเทสล่ายังเก็บบิทคอยน์อยู่ไหม อีลอนก็ยังตอบอยู่ว่าเก็บ เพิ่มความสับสนให้กับสาวกของเขามากไปกว่าเดิม ด้วยการที่ราคาของบิทคอยน์ร่วงลงมากขนาดนั้นทำให้คนที่ถือบิทคอยน์ทั้งหลายออกมาต่อว่าอีลอนเป็นจำนวนมาก สร้างความร้าวฉานระหว่างอีลอนและคนในชุมชนบิทคอยน์ ทำให้อีลอนออกมาต่อว่าบิทคอยน์ต่อ และ ขู่ว่าจะให้เทสล่าสร้างเหรียญขึ้นมาเองเพื่อสู้กับบิทคอยน์ จากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ราคาของบิทคอยน์ร่วงลงมาถึง 20% เลยทีเดียว

 

ประการที่สอง ในตลาดสกุลเหรียญดิจิตัลจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าค่า Bitcoin Dominance หรือค่าอิทธิพลของบิทคอยน์ต่อตลาดนี้ สมัยก่อนเวลาผมจะทำนายว่าตลาดวันนี้ขึ้นหรือลง จะสังเกตุง่ายๆจากราคาของบิทคอยน์ครับ ถ้าราคาของบิทคอยน์ขึ้น ราคาของเหรียญอื่นๆก็จะขึ้นตาม เพราะว่าค่าอิทธิพลของบิทคอยน์นั้นสูงมากเมื่อเทียบกับสกุลเหรียญอื่นๆ

โดยปกติแล้วค่านี้จะอยู่ที่ประมาณ 60% ขึ้นไป ปรากฏว่าเมื่อประมาณสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาค่าอิทธิพลของบิทคอยน์ตกลงมาต่ำกว่า 60% เป็นครั้งแรกในรอบหกเดือน โดยปกติแล้วก็จะกลับมาสู่จุดสูงกว่า 60% ได้อีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่ใช่ เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ค่าอิทธิพลของบิทคอยน์ร่วงลงมาต่ำกว่า 50% ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 ที่ร่วงลงมามากถึงขนาดนี้

ทำให้นักลงทุนที่อยู่ในตลาดนี้มานานเริ่มวิตกกังวลว่าราคาของตลาดสกุลเหรียญดิจิตัลจะตกในที่สุด เพราะกลไกในตลาดไม่สมดุลเหมือนสมัยก่อน ในวันนี้ที่ 18 พฤษภาคมค่าอิทธิพลของบิทคอยน์ร่วงลงมาถึงจุดต่ำกว่า 40% แล้วที่ 39.97% สะท้อนรอยเดิมในปี 2559 มากขึ้นไปกว่าเดิมซึ่งตอนนั้นได้ร่วงลงถึงจุดที่ 32.81%

 

ประการที่สาม สิ่งที่กระทบไม่เฉพาะในตลาดคริปโตแต่ถึงตลาดหุ้นทั่วโลกด้วย คือการลดการทำ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ และ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเมื่อตอนสิ้นเดือนที่แล้วที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ออกมาพูดถึงเรื่องความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เพราะตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจาก 3.4% ตอนวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา กลับเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% อย่างรวดเร็วในวันที่ 14 พฤษภาคม

ยิ่งไปกว่านั้นมีการให้ข่าวจากสื่อว่านางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ อยากที่จะลดการทำ QE ลง หรือลดการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เมื่อช่วงวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมไปถึงหุ้นเทคโนโลยีที่ทำราคาสูงสุดเมื่อช่วงที่ผ่านมาต่างพากันตกระนาว ซึ่งสุดท้ายแล้วถึงนางเยลเลนจะออกมาให้ข่าวว่าข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม แต่มันแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นว่าทุกๆคนทั้งนักลงทุน สถาบันการเงิน และ บริษัทมหาชนต่างๆ ไม่อยากให้ตลาดหุ้นตกแม้แต่นิดเดียวเลย

                สุดท้ายนี้ผมอยากจะเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่มีฟองสบู่มาทั้งในตลาดหุ้นเอง หรือ ในตลาดสกุลเหรียญดิจิตัล ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์โลกที่เศรษฐกิจจะเฟื่องฟูได้นานขนาดนี้ และยิ่งค่า P/E ทั้งในตลาดหุ้นบ้านเรา และ ในตลาดหุ้นสหรัฐก็ยังทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ก็ยิ่งเป็นที่น่ากังวลอีกด้วยว่า ครั้งนี้ถ้าฟองสบู่แตกจริงๆ ความเสียหายจะรุนแรงมากขนาดไหน และ สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยผิดพลาดคือ ทุกครั้งที่มีฟองสบู่ มันก็ย่อมแตกเสมอครับ.