‘เงินตรา’กับ‘เวลา’ อะไรนำพา ความสุข...กว่ากัน

‘เงินตรา’กับ‘เวลา’  อะไรนำพา ความสุข...กว่ากัน

อัลแบร์ กามู นักเขียนรางวัลโนเบลและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้พูดเกี่ยวกับ “กฎ 4 ข้อแห่งความสุข” ไว้นานมากแล้ว...

และยังคงมีผู้คนนำกลับมาเอ่ยถึงอยู่เสมอๆ อยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง พ้นจากความทะเยอทะยาน ทำงานสร้างสรรค์ และรักใครสักคน” แสดงให้เห็นว่า ชีวิตนี้ ความสุข” มีค่ามากกว่า “เงิน”

แต่เราอยู่ในโลกที่สรรพสิ่ง (ส่วนใหญ่) กำหนดได้ด้วยเงิน แม้ว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่าง! ถ้ามีคนมาถามเราว่า เวลากับเงินเลือกอะไร? คำตอบหล่อๆ ก็น่าจะเป็นเวลา ดูเป็นคนอบอุ่น ไม่เห็นแก่เงิน แต่จากงานวิจัย พบว่า คนที่เลือก เวลา” นั้นมักจะมีความสุขโดยเฉลี่ยมากกว่าคนที่เลือก “เงิน” นี่อาจเป็นเพราะว่าคนที่เลือกเวลานั้นมีเงินมากพออยู่แล้วล่ะสิ จึงเลือกเวลา เมื่อมีเงินมากพอจึงทำให้พวกเขามีความสุขมากกว่า  แล้ว เงินตรา กับ เวลา อะไรนำพา ความสุข...มากกว่ากัน

เงิน กับ ความสุข คุณเลือกอะไร

คนส่วนใหญ่ถ้าจะให้เลือกแบบไม่ต้องคิดมาก ก็คงต้องเลือกเงินอย่างแน่นอน เงินนั้นสามารถซื้ออาหารอร่อยๆ ทานได้ เงินก็สามารถพาเราไปท่องเที่ยวได้ มีเงินก็ซื้อบ้านซื้อรถได้ แม้กระทั่งการทำศัลยกรรมเพื่อให้ตัวเองออกมาหน้าตาดีก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งความสุขไม่สามารถทำแบบนี้ได้ ดูเหมือนว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างจริงๆ เพราะเงินมี หน่วยวัดค่าได้ ความสุขไม่มีหน่วย วัดค่าไม่ได้

งานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า “ทำไมมีเงินมากขึ้นจึงไม่ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น?” คนเราจะมีความสุขก็ต้องมีเงินหรือทรัพย์สมบัติ แต่เมื่อมีเงินหรือทรัพย์สมบัติถึงระดับหนึ่งแล้ว แม้จะมีเงินมากขึ้นก็ไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นเลย เหตุผลข้อหนึ่งก็คือ เราชินชากับความร่ำรวยหรือสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นได้รวดเร็วมาก วันแรกที่คุณได้รถคันใหม่ที่ขับนิ่มกว่าเดิมหรูหรากว่าเดิม แน่นอนคุณย่อมมีความสุข แต่เมื่อผ่านไปสัก 3 เดือนหรือครึ่งปี คุณก็จะรู้สึกเฉยๆ กับรถคันนั้นแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่ง ความสุขที่เคยเพิ่มขึ้นได้ลดมาสู่ระดับเดิมก่อนที่จะได้รถคันนั้น ดังนั้น ความร่ำรวยจึงมิใช่ปัจจัยหลักของความสุข แท้จริง

คำพูดที่ว่า เงินซื้อความสุขได้” จึงมีส่วนถูกเพียงครึ่งเดียว ถ้าให้ถูกจริง ๆ น่าจะพูดว่า เงินเช่าความสุขได้” อะไรที่เราเช่าหรือยืมมา เรามีสิทธิครอบครองได้เพียงชั่วคราว ไม่ช้าไม่นานก็ต้องคืนเขาไป ความสุขที่ได้จากเงินก็เช่นกัน มันมาอยู่กับเราเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

เงินกับเวลา อะไรสำคัญกว่ากัน

ถ้าถามคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ก็มักจะตอบว่า “เงิน” สำคัญกว่า “เวลา” เพราะ ค่านิยมของสังคมก็มักจะใช้เงินเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดความสำเร็จ เพราะเงินเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าเวลา เช่น การมีเงินเพิ่มขึ้น 100,000 บาทย่อมวัดและจับต้องได้ชัดเจนกว่าการมีเวลาว่างเพิ่มขึ้น 3 ชั่วโมง อีกทั้งมักจะมีทัศนคติว่าการทำงานหนักเพื่อหาเงินให้ได้เยอะๆ ก็เพื่อที่จะได้มีเวลาว่างและมีความสุขในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยของ Ashley Whillans จาก Harvard Business School ผู้เขียนหนังสือ Time Smart กลับให้ผลกลับกัน เขาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่ให้ความสำคัญกับเวลา กับคนที่ให้ความสำคัญกับเงิน จะพบว่า ในระยะเวลาการทำงานที่เท่าๆ กัน คนที่ให้ความสำคัญกับเวลา สามารถสร้างรายได้จากการทำงานมากกว่า เพราะ คนที่ให้ความสำคัญกับเวลา มีแนวโน้มที่จะทำงานที่ตัวเองรัก มีความเครียดน้อยลง มีประสิทธิภาพการทำงานสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีอัตราการลาออกน้อยกว่าคนที่ให้ความสนใจกับเรื่องเงิน

ขณะเดียวกัน ถ้าอ่านหนังสือแนวพัฒนาตนเอง เขาก็จะบอกว่า คน “รวย” ส่วนใหญ่ จะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ “เวลา” มากกว่า “เงิน” เพราะเวลามีจำกัด หมดแล้ว หมดเลย ส่วนเงิน ถ้าหายไป ก็หากลับคืนขึ้นมาใหม่ได้ไม่จำกัด

ดังนั้น ยิ่งมีเงินมาก ยิ่งมีความสุข อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป

แล้วทำอย่างไรถึงมี “เวลา” เพื่อเพิ่ม “ความสุข”

จากงานเขียนเรื่อง Counting Happiness (ตรวจนับความสุข) ของ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Sapiens ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งได้พยายามตีความหมายของคำว่า “ความสุข” ออกมาเป็นตัวเลข เพื่อที่จะสามารถวัดว่าบุคคลผู้นั้นมีความสุขหรือไม่ โดยทำการทดลองขนาดใหญ่ขึ้นมา  ผลปรากฏที่น่าแปลกใจมาก! ที่เงินทองคือสิ่งที่คนตามหามากที่สุด แต่กลับมีความสำคัญเป็นอันดับที่สาม? สิ่งที่จะส่งผลต่อความสุขประกอบไปด้วย 3 อย่าง เรียงตามความสำคัญมากสุด คือ 1.ครอบครัว 2. สภาพร่างกาย และ 3.เงินทอง

การจะทำให้มีเวลาเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่ความสุขที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ยากแต่จะต้องมีวินัยและจิตใจที่เข้มแข็งพอสมควร เริ่มจากการปิดกั้นตนเองจากการถูกรบกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ทำงานที่สำคัญ เพราะเมื่อถูกรบกวนแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นจากไลน์ อีเมล หรือการเข้ามาชวนพูดคุยจากคนรอบข้าง) จะทำให้สมาธิหลุดจากสิ่งที่สำคัญและจากงานวิจัยพบแล้วว่าจะต้องใช้เวลาถึง 19 นาที ในการทำให้มีสมาธิและกลับมามุ่งเน้นในงานที่สำคัญดังกล่าวได้ใหม่

การมีสมาธิและสามารถทำงานที่สำคัญ (งานที่สำคัญไม่ได้หมายถึงงานที่ด่วน) ให้สำเร็จได้นั้น จะช่วยประหยัดเวลาในชีวิตไปได้ และทำให้แต่ละคนมีเวลาเพิ่มขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้การรู้จักที่จะปฏิเสธผู้อื่น โดยเฉพาะกับสิ่งที่มาโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า คำขอร้องจากผู้อื่น หรือมาแบบกระทันหัน และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้เพิ่มเวลาในแต่ละวันได้โดยไม่รู้ตัว

สรุปคือ ถ้าเอาใจใส่กับเรื่องเวลาอย่างดี จะทำให้มีเวลาในชีวิตมากขึ้นและมีความสุขเพิ่มขึ้น “Time is more valuable than Money. You can get more Money, but you cannot get more Time.”