กรณีศึกษา ความสำเร็จ ‘กระจายวัคซีน’ ในสหรัฐ

กรณีศึกษา ความสำเร็จ  ‘กระจายวัคซีน’ ในสหรัฐ

ความสำเร็จในการกระจายวัคซีนของสหรัฐ น่าจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศที่กำลังเริ่มกระจายวัคซีนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในไทย

ปัญหาและชุดคำถามที่สังคมไทยกำลังถกเถียง อาทิ ควรฉีดวัคซีนดีไหม วัคซีนที่จะฉีดนั้นดีไหม มีผลข้างเคียงอย่างไร ควรจะเตรียมตัวก่อนฉีดอย่างไร ถ้าไม่ฉีดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คำถามพวกนี้ไม่ใช่ชุดคำถามที่เกิดขึ้นแค่ในสังคมไทยในตอนนี้เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกสังคม ทุกประเทศในช่วงก่อนการกระจายวัคซีนแล้วทั้งสิ้น

กรณีศึกษาที่ไทยสามารถเรียนรู้ถึงข้อดีข้อเสียคือ สหรัฐ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มภาคภูมิ สหรัฐที่มีประชากรกว่า 328 ล้านคนนี้ได้เคลื่อนเข้าใกล้สู่การมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) แล้ว เพราะได้กระจายวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 157,827,208 ล้านโดสซึ่งคิดเป็น 48% ของประชากรทั้งหมด และได้ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้วกว่า 123,828,224 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 37.7% ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูล ณ 19 พ.ค. 2564)

หัวใจของความสำเร็จในการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วนี้คือ การสร้างความมั่นใจในวัคซีนที่จะฉีดให้แก่ประชาชน การประชาสัมพันธ์ด้วยข้อเท็จจริงและความเข้าใจในจิตวิทยามวลชน

สามารถกล่าวได้ว่า สังคมสหรัฐในขณะนี้เป็นสังคมที่แตกแยกทางความคิดอย่างสุดโต่งรุนแรง อันนำมาซึ่งเหตุการณ์การบุกยึดรัฐสภา การบริหารประเทศที่แตกแยกภายหลังจากการชนะเลือกตั้งของประธานาธิบดีโจ ไบเดนนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐก็ทราบดีและได้ใช้กลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีและผลข้างเคียงของการได้รับวัคซีนด้วยข้อเท็จจริง และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับวัคซีนหรือไม่

คุณภาพของวัคซีนที่รัฐบาลสหรัฐเสนอให้ประชาชนนั้นก็ถูกผลิตโดยบริษัทยาที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีชื่อเสียง ซึ่งก็ช่วยให้ประชาชนอุ่นใจส่วนหนึ่ง ประกอบกับข้อเท็จจริงจากการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างจนได้ผลที่น่าพึงพอใจอันถือเป็นหัวใจที่ทำให้ประชาชนมั่นใจในวัคซีน

นอกจากข้อเท็จจริงที่วัคซีนมีคุณภาพดีจริงแล้ว รัฐบาลยังใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านดอลลาร์ ในการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ทั้งในส่วนของการให้ข้อเท็จจริง และในเชิงจิตวิทยาที่พยายามทำความเข้าใจและเล่นกับความรู้สึกของประชาชน อาทิ แคมเปญโฆษณาที่เน้นความสัมพันธ์ในครอบครัว การกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในช่วงก่อนการระบาดของไวรัส เพราะทั้งนักการเมือง นักการตลาดและนักโฆษณาต่างรู้กันดีว่า การตัดสินใจนั้นประกอบไปด้วยเหตุผลและอารมณ์ การเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกจึงมีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าเหตุผลและข้อเท็จจริง

งบประมาณในการโฆษณาวัคซีนนี้ ได้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันผ่านทางโทรทัศน์ทางโลกออนไลน์ ทั้งดารา ผู้มีชื่อเสียง ประชาชนคนทั่วไป จนเรียกได้ว่าเป็นกระแสให้สังคมตื่นตัวอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับสังคมไทยในปัจจุบัน สหรัฐเองก็มีกระแสการต่อต้านวัคซีนซึ่งก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กับกระแสหนุนให้มีการฉีดวัคซีน รัฐบาลสหรัฐที่บริหารประเทศประชาธิปไตยเต็มใบแท้ๆ ทราบถึงข้อดีของการมีฝ่ายค้านที่จะคอยตักเตือนและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และโครงสร้างอำนาจของสหรัฐก็ไม่เปิดโอกาสให้รัฐบาลครอบงำสื่อได้อย่างชัดเจน ดังนั้นทางเลือกในการบริหารคือ เอาข้อเท็จจริงเข้าต่อสู่ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จดี

เมื่อกระดุมเม็ดแรก คือ วัคซีนที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง จึงทำให้การติดกระดุมเม็ดต่อๆ ไปนั้นง่ายและไม่หลงทิศ กระดุมเม็ดต่อมา อาทิ การประชาสัมพันธ์ที่ให้ข้อเท็จจริง เทคนิคจิตวิทยาในการโฆษณาที่เล่นกับความรู้สึก การวาดภาพชวนฝันชีวิตที่ปกติสุขและสังคมหลังการมีภูมิคุ้มกันหมู่

ตลอดจนการเตรียมพร้อมรองรับการกระจายด้วยจำนวนวัคซีน ทางเลือกวัคซีน บุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็ประกอบหลอมรวมให้เกิดเป็นความสำเร็จในการกระจายวัคซีนในสหรัฐที่ในปัจจุบันได้ฉีดไปแล้วกว่า 157 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้สหรัฐก้าวเข้าสู่ภาวะการมีภูมิคุ้มกันหมู่ในอีกไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้